มาปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีกันเถอะ

สำหรับตัวดิฉันเองถือได้ว่าเป็นคนที่รักสุขภาพคนหนึ่ง แต่อาจจะเข้าทำนองปากก็บอกว่ารักสุขภาพนะจ๊ะแต่ขณะเดียวกันการดำเนินชีวิตกลับทำร้ายสุขภาพของตนเอง เช่น นอนดึกประจำ  เป็นต้น
หลังจากได้อ่านหนังสือ นาฬิกาชีวิต จึงได้รู้สึกว่าอาการปวดเมื่อยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เกิดจากการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้องนั่นเอง ดังนั้นจึงขอแนะนำการดำเนินชีวิตเพื่อให้มีสุขภาพดีและมีความสุข  จากหนังสือเรื่อง นาฬิกาชีวิต : เพื่อสุขภาพดีและมีความสุข  ของ คงคา หิมาลัย  เลขเรียก RA776.95 ค22

หลักใหญ่ๆ คือการดำเนินชีวิตประจำวันตามวงจรนาฬิกาชีวิต ใน 1 วัน เพื่อให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานสม่ำเสมอเป็นปกติเริ่มตั้งแต่ตื่นนอน ออกกำลังกาย ขับถ่าย กินอาหาร ทำงาน พักผ่อน นอนหลับ ทุกอย่างต้องทำให้เป็นเวลาแน่นอนหรืออาจยืดหยุ่นได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง  ภายในร่างกาย ประกอบไปด้วยอวัยวะตัน (หัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด ม้าม ตับ ไต) และอวัยวะกลวง (กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ ระบบความร้อนของร่างกาย)
การทำงานของร่างกายเกี่ยวเนื่องกับเวลาในแต่ละวัน ดังนี้
             เวลา 05.00-07.00 น. ช่วงเวลาของลำไส้ใหญ่ หน้าที่หลักคือ ขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย  คนเราควร จะขับถ่าย อุจจาระให้เป็นปกติวิสัยทุกเช้าไม่เช่นนั้นร่างกายจะดูดซึมของเสีย, สารพิษต่างๆ กลับเข้าสู่ระบบเลือดเพื่อไป เลี้ยงร่างกาย  ทำให้เกิดริ้วรอยย่นบนใบหน้า ความแก่ชรา และเกิดไขมันชนิดเลว ถ้าท้องผูก มากๆ จะเป็น เริมและงูสวัดเนื่องจากคุณภาพของเลือดไม่ดี
             เวลา 07.00-09.00 น. ช่วงเวลาของกระเพาะอาหาร หน้าที่หลักคือ ย่อยอาหาร  ช่วงนี้กระเพาะอาหาร มี ประสิทธิภาพในการย่อยสูงสุด มื้อเช้าจึงเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดถ้ากินอาหารในช่วงนี้ทุกวันกระเพาะอาหารจะแข็งแรง ถ้าปล่อยให้กระเพาะ อาหารอ่อนแอจะส่งผลให้เป็นคนตัดสินใจช้า, ชอบวิตกกังวล, ขาไม่ค่อยมีแรง, ปวดเข่า, หน้าแก่เร็วกว่าวัย, หัวใจทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย จึงทำให้มีโอกาสเป็นโรคกระเพาะและโรคหัวใจ
              เวลา 09.00-11.00 น. ช่วงเวลาของม้าม หน้าที่หลักคือ กรองเชื้อโรคทุกชนิด, สร้างเม็ดเลือดขาว, กรองเม็ด เลือดเสีย, ควบคุมเม็ดเลือด, สร้างน้ำเหลือง-น้ำดี, ควบคุมไขมัน ม้ามจะอยู่ตรงบริเวณชายโครงด้านซ้าย คนที่ปวดศีรษะ บ่อยมักมาจากความผิดปกติของม้าม อาการเจ็บชายโครงมักมีสาเหตุมาจากม้ามกับตับ  ส่วนอาการม้ามโตเกิดจากม้ามไปเบียดปอด ทำให้เหนื่อยง่าย ผอมเหลือง ตาเหลือง คนที่ชอบนอนในช่วงนี้ม้ามจะอ่อนแอ  และความวิตกกังวลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งบ่อยเกินไปทำให้กระเพาะอาหารดูดซึมไม่ดี และม้ามไม่อาจขจัดเซลล์เม็ดเลือดที่ตายออกไปได้ทำให้ เลือดเป็นกรดส่งผลให้มดลูกบวมหรือหย่อนในสตรีหรือส่งผลต่อต่อมลูกหมากในบุรุษ  อาหารบำรุงม้ามได้แก่ พืชผักที่มีสีเหลือง มีรสเปรี้ยวๆ หวานๆ จึงจะช่วยฟื้นฟูม้ามให้แข็งแรง เช่น น้ำเสาวรส น้ำบ๊วย น้ำมะนาว
              เวลา 11.00-13.00 น. ช่วงเวลาของหัวใจ  หน้าที่คือ สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกาย หัวใจจะทำงานหนักในช่วงนี้จึงควรหลีกเลี่ยงความเครียด และเป็นเวลาอาหารมื้อกลางวันถ้าร่างกายไม่ได้รับสารอาหารหัวใจจะทำงานลำบาก คนที่หัวใจวายมักเกิดขึ้นก่อนเที่ยงหรือเกิดหลังจากกินอาหารมื้อเที่ยงไปแล้ว (เป็นผลมาจากไม่ได้กินอาหารเช้า) อย่านอนเกิน 3 ทุ่ม ยืดหยุ่นได้ 2 ชั่วโมง แล้วความดันหัวใจจะเป็นปกติ
              เวลา 13.00-15.00 น. ช่วงเวลาของลำไส้เล็ก หน้าที่คือ ดูดซึมสารอาหารที่เป็นน้ำทุกชนิด เช่น วิตามินบี, ซี, โปรตีน เพื่อสร้างกรดอะมิโน, สร้างเซลล์สมอง, ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ, สร้างไข่สำหรับผู้หญิง ถ้ากรดอะมิโนมีน้อยไข่จะมาไม่ครบทุกเดือน ช่วงนี้ควรงดการกินอาหารทุกประเภทเพื่อให้ลำไส้เล็กทำงาน
              เวลา 15.00-17.00 น. ช่วงเวลาของกระเพาะปัสสาวะ หน้าที่คือ ขับกรดและของเสียออกจากร่างกาย เป็นช่วงที่พลังงานจะเคลื่อนมาที่กระเพาะปัสสาวะช่วงนี้จึงควรทำให้เหงื่อออก อาจจะออกกำลังกายหรืออบตัว  การอั้นปัสสาวะนานส่งผลกระทบต่อกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ทำให้ตาพร่าและมัวถ้าทำบ่อยมากและนานๆ อาจทำให้ตาบอดได้ หากนอนดึกเกิน 3 ทุ่ม เซลล์เม็ดเลือดแดงจะแตกและตกค้างในกระแสเลือดแล้วถูกลำเลียงไปที่กระเพาะปัสสาวะจำนวนมากจะเกิดอาการปวดร้าวที่เส้นคู่ขนานระหว่างกลางหลังถึงก้นกบ ถ้าเป็นไม่มากอาการจะเหมือนสะบักจมและปวดบริเวณ สะโพก ขาพับ และน่อง ไม่ควรดื่มน้ำมากช่วงนี้เพราะจะทำให้กระเพาะปัสสาวะและไตทำงานหนัก
              เวลา 17.00-19.00 น. ช่วงเวลาของไต  หน้าที่คือ ไตซ้ายควบคุมสมองด้านขวา เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ อารมย์สุนทรีย์ รักสวยรักงาม ไตขวาควบคุมสมองด้านซ้ายเกี่ยวกับความจำ ถ้าไตขวามีปัญหา ความจำจะเสื่อมและเป็นคนขี้หนาว ช่วงนี้พลังงานเคลื่อนมาที่ไตควรหยุดทำงานหนักเพื่อไม่เป็นการเพิ่มกรดในร่างกาย คนที่ทำงานหนักมาทั้งวันแล้วไม่หยุดพักเลยถ้าทำเป็นประจำไตจะอ่อนแอเกิดอาการปวดหลัง ปวดข้อ ปวดเข่า
              เวลา 19.00-21.00 น. ช่วงเวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ หน้าที่คือ ชำระล้างตัวมันเอง ช่วงนี้ต้องผ่อนคลายร่างกาย และจิตใจ สวดมนต์ ทำสมาธิ เตรียมตัวพักผ่อนนอนหลับ ถ้าไม่พักเลือดจะข้นกล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนักมีผลทำให้หัวใจโต เสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตมากกว่าคนปกติถึง 5 เท่า
              เวลา 21.00-23.00 น. ช่วงเวลาของพลังงานรวม (A.T.P.) (จำนวนเม็ดเลือด) ในช่วง 2 ชั่วโมงนี้ ร่างกายจะ สร้างพลังงานรวมเพื่อนำไปล้างถุงน้ำดีทำให้ถุงน้ำดีแข็งแรง ช่วงนี้อย่าไปนั่งตากลมเพราะลมเป็นพิษ  ห้ามอาบน้ำเย็น
               เวลา 23.00-01.00 น. ช่วงเวลาของถุงน้ำดี หน้าที่ของถุงน้ำดีคือ ย่อยสลายไขมันเพื่อเปลี่ยนรูปเป็นฮอร์โมน กล้ามเนื้อ กระดูก ไขข้อ เส้นเอ็น ไขสมอง ดวงตา และน้ำหล่อเลี้ยงในร่างกายทั้งหมด ถุงน้ำดีเป็นถุงสำรองเก็บน้ำย่อยที่ออกมา จากตับ อวัยวะใดในร่างกายเมื่อขาดน้ำจะมาดึงน้ำจากถุงน้ำดีทำให้ถุงน้ำดีข้นเป็นผลให้อารมณ์ฉุนเฉียว สายตาเสื่อม เหงือกบวม ปวดฟัน นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก ตอนเช้าจะจาม ปวดศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ
              เวลา 01.00-03.00 น. ช่วงเวลาของตับ หน้าที่หลักคือ ขจัดสารพิษในร่างกาย, ย่อยละลายไขมัน หน้าที่รองคือ ช่วยไตในการดูแลเส้นผม ขน เล็บ, ช่วยกระเพาะย่อยอาหาร หากกินบ่อยมากเกินไปตับจะทำงานหนัก หลั่งน้ำย่อย ออกมามากเป็นเหตุให้สารพิษตกค้างในร่างกาย  ถ้าใครนอนหลับสนิทช่วงนี้ตับจะหลั่งสาร meratonine เพื่อฆ่าเชื้อโรค ทำให้ใบหน้าอ่อนกว่าวัย หากไม่หลับจะส่งผลกระทบถึงตับอ่อนส่งผลให้การผลิตฮอร์โมนอินซูลินลดลง ภูมิต้านทานในร่างกายลดลงเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย ตับจะสะสมอาหารสำรองไว้ให้ร่างกาย โดยตับจะเก็บเลือดไว้ 50 กรัม เพื่อใช้ในการขับสารเคมีออกจากร่างกายและผลิตน้ำดีส่งไปเก็บไว้ที่ถุงน้ำดีเพื่อย่อยสลายไขมัน หากช่วงนี้ยังไม่ยอมนอนร่างกายจะสูญเสียพลังงานส่วนที่สะสมไป ตับจะอ่อนแอลง ถ้ามีปัญหาที่ถุงน้ำดีและตับต้องกินพืชผัก ผลไม้ ที่มีสีเขียวนำ
             เวลา 03.00-05.00 น. ช่วงเวลาของปอด หน้าที่หลักคือนำออกซิเจนไปฟื้นฟูเซลล์และขับสารพิษออกจาก ร่างกายควรตื่นนอนขึ้นมาสูดอากาศบริสุทธิ์ปอดจะแข็งแรง  ทางวัดจึงจัดให้มีการสวดมนต์ทำสมาธิตอนเช้า ถ้านอนมากเกินไปเซลล์ได้รับออกซิเจนน้อยลงทำให้เซลล์เสื่อม
หนังสือเล่มนี้มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวันให้ถูกสุขลักษณะจะได้มีร่างกายแข็งแรง พร้อมทั้งแนะนำการออกกำลังกาย,  ประโยชน์ของการออกกำลังกาย, วิธีการออกกำลังกาย ออกกำลังกายตอนไหนให้ประโยชน์อะไรพร้อมเหตุผลประกอบ,  เรื่องกำเนิดโยคะ และต่อมาว่าด้วยศาสตร์การแพทย์ทางเลือก, หลักการกินอาหารที่ดี มีประโยชน์ เช่น สารอาหารที่บำรุงสายตา  วิตามินชนิดต่างๆ , การดูแลสุขภาพในที่ทำงาน, การดูแลสุขภาพใจ การสวดมนต์ การทำบุญ  14 วิธีพลิกดวงชะตาสู่ความรุ่งโรจน์แบบเห็นผลทันใจ   การสร้างภาพนิมิตเชิงบวกในสิ่งที่เราปรารถนา,  รวมข้อคิดพ่อสอนลูก สุดท้ายเป็นข้อคิดปราชญ์ของเมืองไทย เช่น โอวาทธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ฯลฯ

One thought on “มาปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีกันเถอะ

  • ทำได้คือตื่นนอนก่อน ตี 5 อาบน้ำอุ่น ถ่าย ทานอาหารเช้า ทานอาหารกลางวัน หลับสนิท ต่อไปจะเลิกกินช่วง บ่ายโมงถึง สามโมง เด๋วเผลอลืมง่ะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร