การดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ และการรักษาอาการป่วยโดยไม่ใช้ยา

 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากรได้จัดโครงการสัมมนาบุคลากร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เรื่อง การพัฒนาจิตจากภายในสู่ภายนอก : สุขภาพดีจุดเริ่มต้นสู่การทำงานที่เป็นเลิศ ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม และได้เชิญ รศ. ดร.สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี มาบรรยายและฝึกปฏิบัติการทำสมาธิด้วยวิธี SKT
 
                                   
 
สมาธิบำบัดแบบ SKT คิดค้นโดย รศ. ดร.สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี ซึ่งได้ผ่านการศึกษาทดลองเกี่ยวกับกลไกการทำงานของร่างกายด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น การสัมผัส และการเคลื่อนไหว ตามหลักวิทยาศาสตร์ ผสมผสานกับหลักพุทธศาสนาในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา โดยใช้หลักกำหนดจิตรับรู้และการเคลื่อนไหวด้วยลมหายใจเข้าออกเป็นตัวขับเคลื่อน เป็นการฝึกปฏิบัติเพื่อปรับการทำงานของร่างกายทั้งระบบให้อยู่ในสภาวะปกติ หรือสร้างความสมดุลของร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงและบำบัดโรค
การฝึกสมาธิบำบัดแบบ SKT มีด้วยกัน 7 ท่า การฝึกไม่จำเป็นต้องปฏิบัติครบทุกท่า เพราะแต่ละท่าเหมาะกับสภาพร่างกายหรืออาการเจ็บป่วยของแต่ละคน โดยแต่ละท่าจะบำบัดโรคต่างกัน ท่าฝึกต่าง ๆ มีดังนี้
          ท่าฝึกที่ 1 (SKT 1) นั่งผ่อนคลาย ประสานกาย ประสานจิต
          ท่าฝึกที่ 2 (SKT 2) ยืนผ่อนคลาย ประสานกาย ประสานจิต
          ท่าฝึกที่ 3 (SKT 3) นั่งยืด-เหยียดผ่อนคลาย ประสานกาย ประสานจิต
          ท่าฝึกที่ 4 (SKT 4) ก้าวย่างอย่างไทย เยียวยากาย ประสานจิต
          ท่าฝึกที่ 5 (SKT 5) ยืดเหยียดอย่างไทย เยียวยากาย ประสานจิต
          ท่าฝึกที่ 6 (SKT 6) เทคนิคการฝึกสมาธิการเยียวยาไทยจินตภาพ
          ท่าฝึกที่ 7 (SKT 7) เทคนิคสมาธิเคลื่อนไหวไทยชี่กง
 
การทำให้สุขภาพกาย สุขภาพใจแข็งแรงและบำบัดรักษาโรคโดยไม่ใช้ยา นอกจากจะใช้วิธีฝึกสมาธิบำบัดแบบ SKT แล้ว ยังมีการใช้วิธีอื่น ๆ อีกทั้งที่ใช้สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และวิธีที่คิดค้นขึ้นใหม่ ๆ เช่น
 
มณีเวช เป็นศาสตร์ในการจัดโครงสร้างกระดูก ค้นพบและเผยแพร่โดยอาจารย์ประสิทธิ์ มณีจิระประการ เป็นวิชาที่สอนเรื่องสมดุลของโครงสร้างร่างกายทั้งระบบ ฝึกการใช้ชีวิตอย่างสมดุลเพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดโรคทั้งในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง นอน ยืน เดินให้ถูกต้อง การบริหารในท่าต่าง ๆ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย และการจัดกระดูกเพื่อการรักษา
 
ภูษาบำบัด เป็นการรักษาโรคที่เกี่ยวกับต่อมน้ำเหลืองโดยใช้ผ้าพันแบบการขันชะเนาะ คิดค้นโดย นพ. ดร.วิชัย เอกทักษิณ ซึ่งถือเป็นบุคคลแรกของโลกที่คิดค้นวิธีรักษาผู้ป่วยบวมน้ำเหลืองได้สำเร็จ โดยโรคบวมน้ำเหลือง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคต่าง ๆ เช่น เป็นผลจากการผ่าตัด โรคมะเร็ง โรคข้อ หลอดเลือดขอด โรคเก๊าต์ เบาหวาน ฯลฯ เกิดจากน้ำเหลืองซึ่งอยู่ตามแขน ขา ไหลไม่สะดวก และคั่งอยู่ภายใน  ทำให้เนื้อเยื่อพองออก จนตัวมีลักษณะบวมมาก ทำให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักมาก ร่างกายบวม โต จนไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้
 
การนวด เป็นการจัดระเบียบร่างกายรูปแบบหนึ่ง เพื่อการบำบัดและทำให้ร่างการผ่อนคลาย โดยใช้ทักษะทางร่างกายและอุปกรณ์เสริมด้วยการบีบ จับ คลึง รีดเส้น เหยียบ ยัน กดจุด ดัด หรือกระตุ้นด้วยการสั่น เพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อและต่อมต่าง ๆ ในบริเวณนั้น ๆ ทำงานดีขึ้น
 
หลักการฝึกจิตของพุทธศาสนาเพื่อทำให้เกิดสมาธิ เป็นการฝึกฝนพัฒนาจิตที่เรียกว่า “ภาวนา” โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ สมถภาวนา เป็นการฝึกจิตให้เกิดความสงบ มีสมาธิ หรือสามารถควบคุมจิตให้สงบนิ่งได้ตามต้องการ และ ปัญญาภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา เป็นการฝึกจิตให้รู้ เข้าใจในโลกและชีวิตตามความเป็นจริง หรือรู้ เข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป
 
วจีบำบัด เป็นการนำเสียงไปใช้ในการรักษาโรคและช่วยปรับสภาวะของร่างกายให้สมดุล เช่น เสียงจากการพูดคุย เสียงดนตรี เสียงธรรมชาติ เสียงจากบทสวดมนต์ เสียงจากการร้องเพลง
 
ศิลปะบำบัด เป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะหรือการพูดคุยเกี่ยวกับศิลปะเพื่อก่อให้เกิดการกระตุ้นปฏิกิริยาจากภายใน ซึ่งช่วยปรับสภาวะร่างกาย อารมณ์และจิตวิญญาณ
 
การสะกดจิต ซึ่งจิตมีอำนาจและอิทธิพลในการควบคุมระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย รวมไปถึงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และการทำงานของสมอง การสะกดจิตทำได้ 2 ลักษณะ คือ การสะกดจิตตนเอง และการสะกดจิตจากผู้อื่น เป็นการทำให้ร่างกายอยู่ในสภาวะของความไม่รู้สึกตัวหรือตกอยู่ในภวังค์ซึ่งไม่ใช่การหลับ เพื่อกระตุ้นให้พลังจิตใต้สำนึกทำงานอย่างเต็มที่เพื่อทำให้ร่างกายต่อสู้กับโรคร้ายและปัญหาต่าง ๆ ที่รบกวนอยู่ในชีวิตประจำวัน และทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
 
การหัวเราะ จะทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และเมื่อคนหัวเราะ ร่างกายจะหลั่งสารอินโดฟินส์ ซึ่งเป็นสารความสุข มีผลให้เส้นประสาทและเลือดในร่างกายหมุนเวียนดี
 
การทำสวน ปลูกต้นไม้ นอกจากจะเป็นการผลิตอาหารด้วยตนเองแล้ว ยังทำให้ร่างกายได้ขยับ และเป็นการเชื่อมคนกับธรรมชาติ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
 
การออกกำลังกายและเล่นกีฬา เช่น เดิน วิ่ง โยคะ ลีลาศ ขี่จักรยาน ฟุตบอล
 
การไปท่องเที่ยว รับประทานอาหารนอกบ้าน หรือพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือบุคคลในครอบครัว
 
วิธีการต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น จะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ร่างกายได้ขยับเขยื้อน ทำให้โลหิตไหลเวียนได้ดี ทำให้เกิดการเผาผลาญและขับของเสียออกจากร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดความสมดุล ลดอาการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ทำให้สุขภายกาย สุขภาพใจแข็งแรง ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการเจ็บป่วย ทั้งเงินของตนเองและประมาณของประเทศอีกด้วย
 

บรรณานุกรม

การนวด.  (ม.ป.ป.).  จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  https://th.wikipedia.org/wiki/การนวด.  วันที่ค้นข้อมูล 1 กุมภาพันธ์ 2562.
 
ชูฤทธิ์ เต็งไตรสรณ์.  (2551).  สมาธิบำบัด กำจัดโรคได้ทุกโรค.  กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.
 
นภดล นิงสานนท์.  “มณีเวช…เพื่อชีวิตง่าย ๆ สบาย ๆ”.  วารสารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี).  3, 5 (มกราคม-มิถุนายน 2554) : 1-13.
 
นาถศิริ โกมลพันธุ์.  (2558).  เติบโตด้วยกัน สวน + ผัก + คน + เมือง.  นนทบุรี : มูลนิธิเกษตรกรรมกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย).
 
วิชัย เอกทักษิณ ผู้รักษา โรคบวมน้ำเหลือง สำเร็จคนแรกของโรค.  (ม.ป.ป.).  จาก Kapook  https://health.kapook.com/view9005.html.  วันที่ค้นข้อมูล 1 กุมภาพันธ์ 2562.
 
สุชาวดี มัชฌิมา.  (2548).  ธรรมชาติบำบัดเพื่อชีวิตยั่งยืน.  กรุงเทพฯ : แสงดาว.
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร