สิ่งที่ได้กลับมาจากการไปศึกษาดูงาน

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการศึกษาดูงานในประเทศ เรื่อง ตามรอยพ่อ : แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาตนเองสู่การพัฒนาองค์กร ซึ่งจัดโดยสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม พ.ศ. 2559 ณ จังหวัดชุมพร
วันแรกของการเดินทางได้เข้าศึกษาดูงานที่โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จากการชมวิดิทัศน์และข้อมูลจากวิทยากรนำชม ได้ทราบว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัยในเขตจังหวัดชุมพร ในช่วงฤดูมรสุม อุทกภัยจะสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินให้กับชาวชุมพรอยู่เสมอ โดยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2540 ได้เกิดพายุไต้ฝุ่นซีต้า สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้กับชาวชุมพรเป็นจำนวนมาก และกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศแจ้งเตือนว่าในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ก็จะเกิดพายุลินดาอีก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยความเดือดร้อนของชาวชุมพร จึงมีพระราชดำริให้เร่งขุดคลองหัววัง-พนังตักเพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำท่าตะเภาออกสู่ทะเล
20160316_150123  20160316_133301
การขุดคลองหัววัง-พนังตักนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้วหลายปี เพื่อต้องการระบายน้ำจากแม่น้ำตะเภาลงสู่อ่าวพนังตัก โดยคลองที่ขุดมีความยาว 8,100 เมตร กำลังดำเนินการอยู่เหลืออีก 1,460 เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเร่งให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนพายุลินดาจะเข้าชุมพรหรือให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้สนับสนุนเงินจากมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 18 ล้านบาทเพื่อการนี้ด้วย จากความร่วมมือกันหลายหน่วยงานทำให้การขุดคลองหัววัง-พนังตัก ระยะทางที่เหลือ 1,460 เมตร แล้วเสร็จในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ก่อนพายุลินดาเข้าเพียง 1 วัน ทำให้ชาวชุมพรรอดพ้นจากอุทกภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ไปได้ และต่อมาจนถึงปัจจุบันก็ไม่เกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ที่ชุมพรอีกเลย
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาประกอบพิธีเปิดโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ และทรงมีพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาอุทกภัยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีก เช่น การทำแก้มลิงหนองใหญ่เพื่อเก็บกักน้ำและเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับการเกษตรของราษฎร การขุดคลองให้เชื่อมต่อกันเพื่อให้น้ำไหลลงทะเลให้เร็วขึ้น การติดตั้งประตูระบายน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้จังหวัดชุมพรยังได้ขยายผลโครงการโดยการนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อให้ราษฎรในจังหวัดชุมพรอยู่ดีมีสุขอีกด้วย
สถานที่ดูงานแห่งที่สองคือ ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ต ตั้งอยู่ที่หาดทุ่งวัวแล่น อำเภอประทิว
20160316_171814  20160316_171409
ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ต เปิดกิจการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้มีหนี้สินมากมายจนคิดจะเลิกกิจการ
ในช่วงเวลานั้น คณะทำงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดชุมพรได้เข้ามาพักที่ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ต ผู้บริหารของชุมพรคาบาน่า รีสอร์ตได้เห็นการทำงานของคณะทำงานเหล่านั้น จึงมีแนวคิดที่จะนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารจัดการรีสอร์ตเพื่อเป็นการพึ่งพาตนเอง และได้ดำเนินการตามทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การปลูกพืชผัก ไม้ยืนต้น การทำปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหาร การผลิตสบู่เหลว ยาสระผม ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาเช็ดกระจก น้ำมันไบโอดีเซล และอื่น ๆ สำหรับใช้ในกิจการต่าง ๆ ของรีสอร์ต โดยให้พนักงานช่วยกันทำ ซึ่งสามารถลดต้นทุนลงได้มาก ทำให้รีสอร์ตสามารถดำเนินกิจการอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้
20160317_091801  20160317_091559  20160317_092233
ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ต ยังได้ฝึกฝนให้พนักงานเป็นวิทยากรในการเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้สนใจที่เข้ามาศึกษาดูงานด้านเกษตรกรรมธรรมชาติ และการพึ่งพาตนเองอื่น ๆ อีกด้วย
20160317_093901  20160317_093917  20160317_094037  20160317_094046 20160317_095132  20160317_094947 20160317_095439
จากการพึ่งตนเองจนประสบความสำเร็จของชุมพรคาบาน่า รีสอร์ต จึงเป็นแรงบันดาลใจให้พนักงานและคนในชุมชนใกล้เคียงนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในครัวเรือนเพื่อเป็นการประหยัดรายจ่ายและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกด้วย
สถานที่สุดท้ายที่ไปศึกษาดูงานคือ เกาะพิทักษ์ ตั้งอยู่อ่าวท้องครก อำเภอหลังสวน อยู่ฝั่งทะเลอ่าวไทย ห่างจากฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร การเดินทางไปยังเกาะจะโดยสารเรือขนาดเล็ก บรรจุคนได้ประมาณ 10 คน
20160318_063412  20160318_090103
บนเกาะมีคนอาศัยอยู่ประมาณ 40 ครัวเรือน ผู้คนบนเกาะยังใช้ชีวิตแบบพอเพียง มีอาชีพประมง ทำสวน ขายของที่ระลึก ของฝากแก่นักท่องเที่ยว และทำบ้านพักโฮมสเตย์
ชาวบ้านได้ประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับดักจับปู โดยใช้ใบไม้ที่หาได้บนเกาะพลางไว้ แล้วนำไปไว้ในทะเลเพื่อดักจับปู
20160317_170123  20160317_164310  20160318_074019  20160318_065131
ชุมชนได้จัดทำทางเดินรอบเกาะเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสบรรยากาศได้อย่างทั่วถึงและเรียนรู้วิถีของคนบนเกาะได้อย่างสะดวก
20160317_172932
สวนผลไม้ส่วนใหญ่จะเป็นมะพร้าว แต่ก็มีการปลูกพืชสำหรับเป็นอาหารอื่น ๆ อีก เช่น มะม่วงหิมพานต์ มันสำปะหลัง สับปะรด เป็นต้น
20160317_171002  20160317_170340  20160317_170523  20160317_170515
นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชอื่น ๆ อีก เช่น โกงกาง ปอทะเล เป็นต้น
20160318_075934  20160318_075913  20160318_082905
บ้านพักโฮมสเตย์ ที่ชาวบ้านสร้างไว้รับรองนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน จะเป็นบ้านชั้นเดียวมีชานยื่นออกไปในทะเล มีไฟฟ้าและน้ำประปาที่ต่อมาจากบนฝั่งแผ่นดินใหญ่เข้ามาใช้บนเกาะ และนักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น ตกปลา ตกปลาหมึก พายเรือ ว่ายน้ำ เป็นต้น
20160318_065302  20160318_063450  20160318_063958
และในช่วงกลางวันจะมีปรากฏการณ์ทะเลแหวกให้นักท่องเที่ยวได้เดินเล่น บางครั้งนักท่องเที่ยวสามารถเดินข้ามไปถึงฝั่งแผ่นดินใหญ่ได้
20160318_090339
ชาวบ้านจะนำของที่ระลึก ของฝาก มาวางขายบริเวณที่พักของชาวบ้าน เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อได้ตลอดเวลา พร้อมกับชาวบ้านได้ทำงานประจำของตนเองด้วย เช่น ตากปลาหมึก ตากปลา บางบ้านติดป้ายไว้ว่าหากต้องการซื้อของแล้วคนขายไม่อยู่ให้เรียกได้ หรือให้ไปตามที่สะพานปลา
20160318_083807  20160318_082531  20160318_080057  20160318_074733
ในการไปศึกษาดูงานครั้งนี้ ผู้เขียนได้อะไรกลับมาหลายอย่าง เช่น ได้เห็นความร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมแรงกาย ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ทำให้การขุดคลองหัววัง-พนังตักสำเร็จลงได้ด้วยระยะเวลาอันสั้น ได้เห็นการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงและการน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จนประสบผลสำเร็จ ซึ่งสามารถนำมาเป็นแบบอย่างให้ปฏิบัติตาม ไม่ฟุ้งเฟื้อ ไม่ติดหรู ไม่ใช้ของฟุ่มเฟือย ไม่ติดความสะดวกสบายจนเกินไป ให้ใช้ชีวิตแบบสายกลาง มีความพอดีตามวิถีของตนเองก็สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ การไปท่องเที่ยวตามที่ต่าง ๆ การไปพักค้างแรมตามโฮมสเตย์ การซื้อของกิน ของใช้ ของฝากที่ชาวบ้านนำมาขาย ยังเป็นการสนับสนุนให้คนในชุมชนมีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกรูปแบบหนึ่ง และทำให้คนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนของตนเองได้โดยไม่ต้องออกไปหางานทำที่อื่นอีกด้วย

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร