บริการให้ประทับใจ

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปจับจ่ายสินค้า ซึ่งผู้ขายสินค้าอุปโภคและบริโภคทางภาคใต้นำมาเสนอขายให้กับชาวนครปฐม ณ บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ ตอนแรกก็คิดว่าจะไม่ซื้ออะไร แต่ก็ได้ของติดมือกลับมาหลายอย่าง ทั้งอาหารและของใช้
และบ่อยครั้งที่ผู้เขียนเข้าไปในร้านอาหาร เช่น ร้าน KFC และภัตตาคารบางแห่ง แล้วไม่รู้ว่าจะสั่งอาหารอะไรดี เพราะรายการอาหารมีมากมาย แต่ร้านค้าประเภทนี้มักจะอำนวยการความสะดวกให้ลูกค้าด้วยการจัดรายการอาหารเป็นชุดไว้ เช่น ชุดอิ่มอร่อย ชุดสุดคุ้ม โดยมีรูปอาหาร จำนวนชิ้น และราคา กำกับไว้ ทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ผู้ขายก็สะดวกในการขาย
สิ่งเหล่านี้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ขายสินค้า ผู้เขียนเคยค้นคว้าเรื่อง ส่วนประสมทางการตลาด โดยฟิลิป คอตเลอร์และแกรี่ อาร์มสตรอง ( Kotler and Armstrong)ได้กำหนดส่วนประสมทางการตลาด (Marketing mix) ของสินค้าว่าประกอบด้วย 4Ps ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทางการจำหน่าย และการส่งเสริมการตลาด ต่อมา เซียเท็มล์ บิทเนอร์ และเกร็มเลอร์ (Zeithaml, Bitner and Gremler) ได้พัฒนาส่วนประสมทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ขึ้นเป็นส่วนประสมทางการตลาดบริการ (Service marketing mix) ประกอบด้วย 7Ps โดยเพิ่ม พนักงาน กระบวนการให้บริการ และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ โดยมีองค์ประกอบดังนี้

  1. ผลิตภัณฑ์ (Product ; P1) เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของเรา เช่น คุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ ระดับคุณภาพ ใบรับประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ สายผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์เสริม ตรายี่ห้อ หีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ ถ้าพูดถึงเรื่องบริการก็จะเกี่ยวข้องกับบริการหลัก หมายถึง กิจกรรมหรือกระบวนการที่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงของหน่วยงาน บริการเสริมที่ทำให้บริการหลักสมบูรณ์ หมายถึง กิจกรรมหรือกระบวนการ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพที่ผู้รับบริการคาดหวังว่าจะได้รับนอกเหนือจากการบริการหลัก บริการพิเศษ หมายถึง กระบวนการ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพที่ผู้รับบริการไม่ได้คาดหวังมาก่อนว่าจะได้รับ และเมื่อได้รับแล้วก็เกิดความประทับใจ บริการพิเศษถูกออกแบบมาเพื่อทำให้ผู้รับบริการรู้สึกว่ามีคุณค่าสูงคุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่าย
  2. ราคา (Price ; P2) จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระดับราคา ส่วนลด ความยืดหยุ่น เงื่อนไข การเปลี่ยนแปลงระดับราคา ต้นทุนที่เป็นตัวเงิน ต้นทุนที่ไม่เป็นตัวเงิน ได้แก่ ต้นทุนด้านเวลา ต้นทุนด้านแรงกาย ต้นทุนด้านจิตใจ และต้นทุนด้านความรู้สึก ซึ่งเป็นต้นทุนในรูปของความพยายาม ความไม่สะดวกสบายของผู้ซื้อหรือผู้รับบริการอันเนื่องมาจากการแสวงหา การจัดซื้อและการใช้บริการ
  3. ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place ; P3) เช่น รูปแบบของช่องทางการเข้าถึงสินค้าหรือบริการที่ง่ายและสะดวก ทำเลที่ตั้ง พื้นที่ครอบคลุม การขนส่ง การจัดเก็บผลิตภัณฑ์(คลังสินค้า) ที่อยู่ใกล้กับแหล่งที่อยู่ของผู้ซื้อ หรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการได้โดยสะดวก รวดเร็ว
  4. การส่งเสริมการตลาด (Promotion ; P4) เช่น การสื่อสารโดยใช้บุคคล (Personal communications)การโฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นการติดต่อสื่อสารกับผู้รับบริการโดยไม่ใช้บุคคล โดยใช้สื่อต่าง ๆ เช่น ทางอินเทอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ สื่อกลางแจ้ง สื่อ Electronic display เป็นต้น การออกแบบภาพลักษณ์องค์กร การขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เป็นชุด
  5. พนักงาน (People ; P5) ได้แก่ พนักงานที่ให้บริการลูกค้าโดยตรง(พนักงานส่วนหน้า) และพนักงานที่ทำหน้าที่สนับสนุน (พนักงานส่วนหลัง) พนักงานทั้งสองกลุ่มต้องทำงานประสานกันเป็นอย่างดีและส่งต่องานกันได้อย่างราบรื่น
  6. กระบวนการให้บริการ (Process ; P6) เช่น ขั้นตอนการให้บริการที่กระชับ ไม่ยุ่งยาก มีความยืดหยุ่นของขั้นตอน ออกแบบขั้นตอนการใช้บริการให้ผู้รับบริการมีส่วนร่วมในการใช้บริการบางอย่างได้ด้วยตนเอง เป็นต้น
  7. สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical evidence ; P7) เช่น สถานที่ในการให้บริการ ป้ายต่าง ๆ ลานจอดรถ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ นามบัตร เครื่องเขียน แบบฟอร์มต่าง ๆ  ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงิน รายงานต่าง ๆ เว็บเพจ (Webpage) เครื่องแบบและการแต่งกายของพนักงาน บรรยากาศ ที่เอื้อต่อการมาใช้บริการ

หันกลับมาที่หน่วยงานของเรา “หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์” เราเป็นห้องสมุด สินค้าของเราคือทรัพยากรสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ วารสาร โสตทัศนวัสดุ ทั้งในรูปตัวเล่มและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และบริการอื่น ๆ เราจะนำส่วนประสมทางการตลาดบริการข้างต้นมาปรับใช้ได้อย่างไรให้ทุกองค์ประกอบผสมผสานกันได้อย่างลงตัว เพื่อนำสิ่งที่มีอยู่นั้นมาเสนอขายหรือให้บริการลูกค้าหรือผู้รับบริการของเรา ให้เขารู้ว่าเรามีอะไรไว้ให้เขามาใช้บริการได้บ้าง มีสิ่งที่เขาต้องการมากน้อยแค่ไหน และเมื่อเขาเข้ามารับบริการแล้วไม่ว่าจะเดินเข้ามาหรือ Access ทาง Online สิ่งที่ผู้รับบริการได้ไปนั้นต้องได้รับครบถ้วน สมบูรณ์ ถูกต้อง และรวดเร็ว
อีกทั้งเราต้อง “คาดการณ์” ความต้องการของลูกค้าได้ เพื่อจะได้จัดหา จัดเตรียมทรัพยากรสารสนเทศไว้รอบริการ รวมถึงการจัดบรรยากาศสถานที่สำหรับให้บริการที่สะอาด เรียบร้อย บรรยากาศร่มเย็น มีสถานที่พักผ่อนหรือพักรอ มีป้ายบอกสถานที่ มีป้ายบอกขั้นตอนการติดต่องานที่ชัดเจน ผู้รับบริการสามารถอ่าน หรือติดต่อด้วยตนเองได้ไม่ต้องถามใครตั้งแต่เส้นทางเข้าจนถึงตัวบุคลากรผู้ให้บริการ และควรจัดจุดการให้บริการแบบ “ไปแห่งเดียวงานสำเร็จ” (One stop service)
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้ผู้รับบริการสนใจเข้ามาใช้บริการเรามากขึ้น การมีผู้รับบริการมากขึ้นเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้เราอยู่รอดได้ อย่าคิดว่าเป็นการเพิ่มภาระให้เรามากขึ้น ให้คิดแบบท่านมหาตมะ คานธี (อ้างถึงใน จิตตินันท์ นันทไพบูลย์ 2551 :35) ที่ได้ให้คำนิยามของ “ลูกค้า” ไว้ว่า
😆  ลูกค้า คือ คนสำคัญที่สุดที่มาเยือนเราในสถานที่นี้ เขามิได้มาพึ่งเรา เราต่างหากที่ต้องพึ่งเขา การรับใช้เขา นั่นคือวัตถุประสงค์ในงานของเรา เขามิใช่บุคคลภายนอก เขาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจนี้ ในการรับใช้เขา เรามิได้ช่วยเหลืออะไรเขาเลย เขาต่างหากเป็นฝ่ายช่วยเหลือเรา โดยให้โอกาสแก่เราที่รับใช้เข  😀

บรรณานุกรม

1.  จิตตินันท์ นันทไพบูลย์.  จิตวิทยาการบริการ.  กรุงเทพมหานคร : ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2551.
2.  วีระรัตน์ กิจเลิศไพโรจน์.  การตลาดธุกิจบริการ.  กรุงเทพมหานคร : ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2547.
3.  ระวีวรรณ โปรยรุ่งโรจน์.  จิตวิทยาการบริการ.  กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2551.
4.  สมวงศ์ พงศ์สถาพร.  เคล็ดลับการตลาดบริการ.  กรุงเทพมหานคร : ยูบีซีแอล บุ๊คส์, 2550.
5.  Kotler, Philip, and Gary Armstrong.  Principles of Marketing.  7th ed.  New Jersey : Pearson Education, Inc., 2006.
6.  Zeithaml, Valarie A., Mary Jo Bitner, and Dwayne D. Gremler.  Service Marketing : Integrating Customer Focus Across the Firm.  4th ed.  New York : McGraw-Hill Companies, Inc., 2006.
 
 

2 thoughts on “บริการให้ประทับใจ

  • ก็นั่นนะซิ ลูกค้าของหอสมุดคือ ผู้ใช้/ผู้มาใช้หอสมุด ดังนั้นที่พวกเราทำทุกวันๆๆ อย่างไม่หยุดยั้งก็เพื่อการบริการแบบประทับใจ ฟังอย่างนี้แล้ว ระดับหัวหน้าต้องคอยช่วยเสริมเติมเต็มเพิ่มขึ้นอีกด้วยยิ่งดี

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร