ชีปล่อยปลาแห้ง

เรื่องนี้แหละค่ะที่หายไป….
ช่วงสอบลูกๆ มักมีคำถามมาถามเสมอ วันก่อนถามเรื่องการแปลความหมายของคำสุภาษิตคำพังเพย ก็ตอบอธิบายความไป มาสะดุดกับความหมายของคำว่า “ชีปล่อยปลาแห้ง”
เพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรก บอกลูกว่า ชีก็ต้องปล่อยปลาเป็น จะปล่อยปลาแห้งได้อย่างไร ก็แสดงว่าหลอกกันนี่หว่า งั้นก็ต้องแปลว่าทำบุญแบบไม่จริงใจ
จากนั้นจึงบรรเลงด้วยเสียงต่อไปว่ามีการพูดอะไรกันแบบนี้ด้วยเรอะ คนไปทำงานที่วัดบ่อยๆ อย่างน้องเอ๋ กับคนที่ไปทำบุญที่วัดบ่อยๆ อย่างพี่ติ๋ว พูดเป็นเสียงเดียวกันมา มีสิ สรุปว่าเราห่างวัดเลยไม่เคยได้ยิน
ในฐานะที่เป็นชอบวิชาภาษาไทย มีความเห็นว่าสมัยนี้เรียนกันแบบลึกล้ำมาก สมัยก่อนมีแค่ไม่กี่คำ จำได้หมด ที่ฮาๆ กันมากคือ รำไม่ดีโทษปีโทษกลอง แต่มีคนช่างคิดที่ไปผูกกับวิชาการงานพื้นฐานอาชีพไปตอบว่า รำไม่ดีหมูไม่กิน  มุกนี้พูดไปหนูๆ สมัยนี้จะไม่เก็ท
อันว่า สุภาษิต ในความหมายของพจนานุกรม คือ ถ้อยคำหรือข้อความทีกล่าวสืบทอดกันมาช้านานแล้ว มีความหมายเป็นคติสอนใจ เช่น รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือขวาง
พังเพย หมายถึงถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบทอดกันมาช้านานแล้ว โดยกล่าวเป็นกลางๆ เพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง เช่น กระต่ายตื่นตูม
สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียง
โวหาร บางทีก็ใช้ว่าสำนวนโวหาร เช่น สารคดีเรื่องนี้สำนวนโวหารดี ความเรียนเรื่องนี้สำนวนโวหารลุ่มๆ ดอนๆ … มีความหมายไม่ตรงตามตัวหรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่ เช่น สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง …
อ่านความหมายแล้วค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก จึงขอสรุปตามความเข้าใจของตัวเองคือ สุภาษิต น่าจะหมายถึงคำกล่าวที่ดีควรฟัง มีไว้เพื่อการสั่งสอน เตือนสติให้คิด
ส่วนคำพังเพย เป็นถ้อยคำที่เป็นจริง มีการเสียดสีนิดๆ ต้องมีการตีความ และสำนวนไทยจะมีความหมายโดยนัยจะไม่แปลความหมายตรงตามตัวอักษร
เฮ้อก็ยังงงอยู่ดี….
ผู้บริหารท่านนึงมักบอกเสมอว่าเวลาทำงานให้นึกถึงสุภาษิตคำพังเพยไทยให้ บ่อยๆ จะทำให้เราทำงานได้ดีและมีความสุข โดยเฉพาะคำว่า  เอาใจเขามาใส่ใจเรา ฯลฯ
แต่เฮ้ออ…ลูกน้องอย่างอิชั้นตอบท่านแบบเสียงเบาๆ แบบป้องปากว่า งานบริการเป็นงานแบบเข็นครกขึ้นภูเขา…ที่ไม่เคยหยุดกลางทาง
อันนี้เก็บตกมาจากคุณนิ้วกลม ที่ได้เขียนเล่าเรื่องในหนังสือเรื่อง “อาจารย์ในร้านคุกกี้” ที่เล่าเรื่องของจี. คิงส์ลี่ย์ วอร์ด
โดย จี. คิงส์ลี่ย์ วอร์ด คือเจ้าของผลงานสอนลูกให้รวยอันลือลั่นเมื่อหลายปีก่อน ได้เขียนจดหมายถึงลูกในเรื่อง “สอนลูกให้ดี” ว่า
คงสังเกตได้แล้วว่า การเข็นรถขึ้นภูเขานั้นยากเพียงใด เมื่อจะเข็นก็ต้องเข็นให้ถึงยอดเนิน  เพราะถ้าปล่อยไว้กลางทางรถจะไหลเลื่อนลงเนินไปอีก ต้องเริ่มต้นกันใหม่ มัวหยุดพักรีรอไม่ได้
การทำงานและการเรียนก็เช่นกัน เปรียบเหมือนเข็นรถขึ้นเนินเขาไม่ว่าจะทุ่มเทมากขึ้นเพียงไร เมื่อวานนี้ วันนี้ และต่อๆไปก็ต้องทุ่มเทเช่นกัน มิฉะนั้นเท่ากับหยุด ‘แรงเหวี่ยง’ ที่กำลังเหวี่ยงได้จังหวะอยู่ ถ้าแรงเหวี่ยงล่าช้าและหยุดลงแล้ว ความเหน็ดเนือยจะเข้ามาแทนที่”
แม่จนๆ มีโอกาสได้อ่าน จึงขอเก็บความที่ได้ไปสอนลูกเผื่อลูกจะได้รวย (ปัญญา)

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร