อ่านอะไร เป็นอะไร
เมื่อวันที่23 กันยายนนี้ ตรวจข่าวพบ “คอลัมภ์โลกสองวัย” ที่เขียนโดย บางกอกเกี้ยน ในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันจันทร์ที่ 21 กันยายน 2552 ชื่อเรื่อง “อ่านอะไร เป็นอะไร” เห็นว่าน่าสนใจดีและมีข้อความบางตอนที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดเลยนำมาลง blog ให้เพื่อเราๆ ท่านๆ ได้คิดต่อกัน ผู้เขียนคอลัมภ์ บอกเล่าว่า ช่วงเช้าวันอาทิตย์ตื่นขึ้นมาเปิดวิทยุช่วงหลังจากเคารพธงชาติ ได้ยินท่านพระราชวิจิตรปฏิภาณ (เจ้าคุณพิพิธ) วัดสุทัศน์ฯ เทศนาประจำเช้าวันอาทิตย์ ท่านเทศน์ถึง”วาระการอ่านแห่งชาติ ” ของรัฐบาล ซึ่งท่านบอกว่า ที่จริงน่าจะเป็น ” ภาระการอ่านแห่งชาติ” จะดีกว่า ท่านได้เทศนาถึงความสำคัญของการอ่าน ที่ท่านได้ให้แง่คิดว่า “อ่านอะไร เป็นอะไร” ดังนี้
” ไม่อ่านพระไตรปิฎก เป็นนักปกครองไม่ได้ ไม่อ่านนิทานชาดกในพระสูตร เป็นนักพูดที่ดีไม่ได้ ไม่อ่านพระอภิธรรม เป็นนักกรรมฐานไมได้ ไม่อ่านพระอภัยมณี เป็นกวีไม่ได้ ไม่อ่านพระมหาชนก ยกฐานะไม่ได้ ไม่อ่านมโหสถบัณฑิต เป็นนักคิดไม่ได้ ไม่อ่านศรีธนญชัย เป็นเสนาธิการให้ใครไม่ได้ ไม่อ่านสามก๊กให้จบ เป็นนักรบไม่ได้ ไม่อ่านคัมภีรไตรเภท เป็นผู้วิเศษไม่ได้ ไม่อ่านโมรา-กากี เป็นหญิงดีไม่ได้” 😯
” ไม่อ่านพงศาวดาร เป็นนักวิชาการไม่ได้ ไม่อ่านประวัติศาสตร์ สร้างชาติ-กู้ชาติไม่ได้ ไม่อ่านบทกวี เป็นนักคิดที่ดีไม่ได้ ไม่อ่านภาษาต่างประเทศ หากินข้ามเขตไม่ได้ ไม่อ่านนวนิยาย เขียนจดหมายเอาดีไม่ได้ ไม่อ่านและท่องหนังสือสวดมนต์ เป็นคนดีไม่ได้ ไม่อ่านพระคัมภีร์ เป็นศาสนิกที่ดีไม่ได้ ไม่อ่านราชาศัพท์ เป็นคนระดับสูงไม่ได้ ไม่อ่านข่าว ก้าวทันโลกไม่ได้ ไม่อ่านรามเกียรติ์ เป็นเซียนชั้นปกครองไม่ได้ ” 😯
” ไม่อ่านนิทานพื้นบ้าน สนิทสนมกับลูกหลานไม่ได้ ไม่อ่านบทวิเคราะห์ เจาะลึกข้อมูลของปัญหาไม่ได้ ไม่อ่านบุคคลสำคัญ คิดงานสร้างสรรค์ไม่ได้ ไม่อ่านพล นิกร กิมหงวน สร้างความเสสรวลไม่ได้ ไม่อ่านพระบรมราโชวาท เป็นนักปราชญ์และนักปกครองไม่ได้ ไม่อ่านหนังสือนานาชนิด เป็นบัณฑิตไม่ได้ ไม่อ่านหนังสือโต้ตอบทางราชการ ปฏิบัติงานไม่ได้” 😯
นอกจากนี้ท่านยังได้กล่าวถึงการสร้างวินัยกับใจรักการอ่านไว้ 10 ขั้นคือ
ขั้นที่ 1 ต้องฝึกการอ่าน 3 แบบ คือใจจดจ่อ ปากกา-ดินสอจดบันทึก ท่องและนึกทบทวน
ขั้นที่ 2 ถามตนเองเนืองๆ ว่า 1 วัน อ่านหนังสือดีมีสาระกี่หน้า 1สัปดาห์เข้าห้องสมุดค้นคว้ากี่ครั้ง1 เดือน จ่ายสตางค์ซื้อหนังสือดีๆ กี่เล่ม
ขั้นที่ 3 คือขั้นสำรวจว่า ตนเองอ่านหนังสือ (ดังที่กล่าวในย่อหน้าข้างต้น) หรือยัง
ขั้นที่ 4 ตั้งคำถามอ่านอย่างไร อ่านอะไร อ่านแล้วจะเอาไปทำอะไร และอ่านที่ไหน
ขั้นที่ 5 ต้องเขียนเตือนใจตนเองเสมอว่า ไม่รักการเรียนรู้ภาษาไทย เป็นอะไรไม่ได้ อ่านภาษาไทยไม่แตกฉานเป็นนักศึกษา-นักวิชาการไม่ได้
ขั้นที่ 6 ขอให้รู้ในใจตนเองเสมอว่า เขียนหนังสือหนึ่งตัว คือเงินหนึ่งตังค์ กระเป๋าหนังสือที่ถือหรือแบกไว้ข้างหลัง คือถังใส่เงินใสทอง
ขั้นที่ 7 จงรู้แก่ใจตนเองว่า ห้องสมุดคือ สุดยอดของที่พักผ่อนหย่อนใจ
ขั้นที่ 8 จงรู้ว่าคบคนที่ดี ต้องคบคนที่เข้าห้องสมุด หาคู่ครองที่ดี ให้หาที่ห้องสมุด หนีเพื่อนชั่ว จงพาตัวเข้าห้องสมุด
ขั้นที่9 จงเตือนใจตนเองว่า ถ้าไม่รักการเรียนรู้ จะมีชีวิตอยู่อย่างอับเฉา ถ้าอ่านหนังสือไม่ทันเขา จะต้องเศร้าเพราะอับจน
ขั้นที่ 10 จงเก็บหนังสือที่มีค่า เหมือนกับว่าเก็บเพชร ทอง เงินทองกองอยู่ข้า่งหน้า ถ้าเรามีความรู้วิชาเสียวันนี้
เป็นอย่างไรบ้างค่ะพอจะลุ้นกันได้บ้างไหมว่า เราอ่านอะไรไปบ้าง และไปอะไรกันบ้าง หรือหากยังไม่ได้อ่านก็ลองหาอ่านกันดูคะ แล้วอย่าลืมสร้างวินัยกับใจรักการอ่านอย่างที่ท่านเจ้าคุณพิพิธฯ ได้สอนไว้ด้วยล่ะ…..สวัสดี
ข้อมูลจาก : “อ่านอะไร เป็นอะไร” “คอลัมภ์โลกสองวัย” เขียนโดย บางกอกเกี้ยน หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันจันทร์ที่ 21 กันยายน 2552 หน้า 20
2 thoughts on “อ่านอะไร เป็นอะไร”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
สำรวจตัวเองแล้วครบ 10 ขั้น และไม่นึกตัวเองเลยว่าจะอ่านข้อเขียนแบบธรรมะได้ครบทุกตัวอักษร
แนะนำให้พวกเราไปดู http://www.arnarai.in.th/ คนทำเป็นนักศึกษาปีสอง ตอนหลังมหาวิทยาลัยเห็นก็เลยให้เข้าไปช่วยทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
อย่างที่คุยกับพี่แมวว่ากิจกรรมกับวิชาการไปด้วยกันได้ การส่งเสริมกิจกรรมนักศึกษาเป็นของทุกคนเท่าๆกับการส่งเสริมการเรียนการสอน
โฮ้โห คุณอ้อ ยอดนักอ่าน มาอีกแล้ว หนังสือดีเด่น ๖ เรื่องที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน ยังอ่านไม่ครบ มีหนังสือใหม่มาเสนออีกแล้ว ยังงี้ประเทศไทย เป็น “วาระแห่งชาติ” สมบูรณ์แบบ โดยมีคุณอ้อ เป็นประธาน ชอบ Blog นี้มากๆ ค่ะ ชอบท่านเจ้าคุณพิพิธ จะดูรายการ “ลีลาชีวิต” ออกอากาศ เวลา ประมาณ ๕.๓o น. ทุกวัน ชอบฟังท่านเทศน์ สนุกดี แต่บางวันก็ลืมดู จะรีบมาทำงาน ขออ่านนิทานพื้นบ้านดีกว่า ที่เหลือฟังเพื่อนเล่า