การสร้างทีม…สู่การสร้างพิพิธภัณฑ์ ณ สมุทรสงคราม

ไม่ได้เล่นหวยเรียงเบอร์สักนิด  แต่ก็ถูกรางวัลได้เหมือนกัน เพราะได้รับมอบให้เป็นหัวหน้าทัวร์ พาคนหอสมุด ๔๐ ชีวิต ไปทัศนศึกษาดูงานวิถีชีวิตคนริมทะเลที่จังหวัดสมุทรสงคราม
เมื่อไปกันหลายชีวิต การดูงานที่เดียวย่อมทำให้เกิดความเบื่อหน่ายได้ง่าย จึงต้องเปลี่ยนโปรแกรมซึ่งเดิมกำหนดไปที่พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สารที่เดียว เป็นการเดินจงกรมหลายที่หลายแห่ง  พวกเราคงเหนื่อย เพราะต้องเดิน…เดิน…และก็เดิน แต่ไม่มีใครท้อ
กำหนดให้รถเคลื่อนออกจากหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์เวลา ๗.๐๐ น. ชองวันอังคารที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ เมื่อถึงวันจริง เจ็ดนาฬิกาคือเวลาที่รถเพิ่งถอยออกจากท่า เราเลยไปล่ากว่าที่กำหนดประมาณสิบห้านาที แต่ก็มีโอกาสได้เก็บตกสมาชิกที่มาช้ากว่า ๗.๐๐ น.
ผ่านเส้นทางดำเนินสะดวก ไปแวะที่ตลาดน้ำท่าคา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อชมบรรยากาศยามเช้าของคนพื้นถิ่นที่พายเรือขายของ ปกติตลาดจะเปิดเฉพาะวันเสาร์วันอาทิตย์ ถ้าเป็นวันธรรมดาจะเปิดเฉพาะวันขึ้นหรือแรม ๒ ค่ำ ๗ ค่ำ ๑๒ ค่ำ วันนี้ตลาดเปิดขายของตอนแปดโมงเช้า  มีคนพายเรือมาขายของไม่กี่จ้าว ตลาดจึงไม่คึกคักเท่าที่ควร แต่ก็สงบดีไปอีกแบบ
ตลาดน้ำท่าคาแห่งนี้เคยเป็นตลาดนัดทางน้ำสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อบรรทุกของที่ปลูกกันเองในสวนมาขาย ตอนหลังเมื่อมีตลาดบก ตลาดน้ำก็ค่อยๆ หายไป จนเพิ่งมารื้อฟื้นใหม่ได้ไม่นาน และใกล้ๆ ตลาดน้ำท่าคา กำลังมีตลาดน้ำแห่งใหม่เกิด คือ ตลาดน้ำบางน้อย
ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก็รีบขึ้นรถเพื่อไปให้ถึงพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สารได้ทันในเวลา ๑๐.๐๐ น. วันนี้อากาศร้อนมากสักหน่อย แต่บนเรือนที่เรานั่งฟังบรรยาย อากาศเย็นสบาย และวิทยากรพิเศษของเราคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริอาภา รัชตะหิรัญ ท่านเล่าได้สนุก ลึกซึ้งมากๆ
จากพื้นที่ที่เป็นเกาะเล็กๆ  ของอำเภออัมพวาที่มิมีผู้สนใจดูแล ทำให้ชุมชนที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น กลายเป็นหมู่บ้านที่ยังสามารถรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมความเป็นชุมชนยี่สารได้อย่างชัดเจน ทั้งความเชื่อ วิถีความเป็นอยู่ ที่สงบร่มเย็น  เมื่อกลุ่มคนที่อาศัยสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่าความเจริญของสภาพโดยรอบชุมชนยี่สารเริ่มเข้ามาทำลายบทบาทวิถีชีวิตเดิม ขณะที่ข้าวของเครื่องใช้โบราณชนิดต่างๆ ที่จัดเก็บตามวิธีธรรมชาติ ยังมีหลงเหลืออีกมาก ใจที่คิดแบบเดียวกันกลายเป็นการร่วมใจ ความร่วมใจนำไปสู่การร่วมมือ ทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่สร้างโดยคนท้องถิ่น และอนุรักษ์ไว้เพื่อคนท้องถิ่น แต่สิ่งที่ยากกว่าการทำเป็นพิพิธภัณฑ์คือการบำรุงรักษาให้พิพิธภัณฑ์ที่ถือกำเนิดขึ้นแล้วให้มีชีวิตอยู่บนโลกได้ยาวนานมากสุดเท่าที่ทำได้
พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ บนพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดยี่สาร จัดแสดงวิถีชีวิตชุมชนป่าชายเลน ที่มีอุปกรณ์หาปลาแบบต่างๆ การหุงข้าวหม้อดินเผา การมีรางบดยาและเข็มฉีดยาแบบโบราณ เพราะสภาพพื้นที่ที่มียุงชุม งูชุกชุม การนับถือพ่อปู่ศรีราชา หรือที่ชาวบ้านยี่สารเรียกกันว่า คุณปู่ ซึ่งตอนที่เป็นคน เข้าใจว่าท่านเป็นคนจีนที่ล่องเรือลำเภามาค้าขาย และเรือแตก จึงสร้างหมู่บ้านขึ้น คุณปู่อยู่ที่นี่และคอยปกป้องคุ้มครองหมู่บ้านให้แคล้วคลาดจากภัยอันตรายต่างๆ ซึ่งเดิมยี่สารเป็นแหล่งหลบซ่อนของพวกชุมโจรดังๆ หลายก๊ก เดิมการบูชาพ่อปู่จะใช้ไม้เจว็ดที่ทำจากไม้ตะเคียน ต่อมามีผู้สร้างเป็นพระพุทธรูปนั่ง แต่ชาวบ้านยังไปกราบไหว้เหมือนปกติ
ยี่สารเป็นชุมชนที่ขาดแคลนน้ำ น้ำจืดซึ่งจำเป็นต่อชีวิตชาวบ้าน จึงต้องใช้วิธี “การล่มน้ำ” คือชาวบ้านจะนำเรือจากหมู่บ้านไปตามคลองไปจนถึงแม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลมาลงอ่าวบางตะบูน พอเรือไปถึงบริเวณน้ำที่ตื้นและใสสะอาดก็จะกดแคมเรือข้างหนึ่งลงให้น้ำเข้าเรือ ได้น้ำจนพอแล้วก็บรรทุกน้ำกลับมาขายให้ชาวบ้าน ปัจจุบันยังมีผู้ทำอาชีพนี้อยู่
บ้านเขายี่สารตั้งอยู่เชิงเขายี่สารซึ่งเป็นเขาหินปูนขนาดย่อม มีป่าชายเลนโดยรอบ พื้นที่ติดฝั่งทะเลห่างจากทะเลไปทางตะวันตกราว ๕ กิโลเมตร มีคลองสายต่างๆ ทั้งคลองธรรมชาติ และคลองขุดเชื่อมเส้นทางสู่ชุมชนภายนอก พื้นที่โดยรอบเป็นดินอุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นหนาแน่น เช่น ต้นจันที่คาดว่าอายุถึง ๘๐๐ ปี  ต้นไม้อื่นๆ ที่อาจารย์สิริอาภาบอกและพอจำชื่อได้ เช่น มะซาง มะขาม มะคราม มะกรับ
อาชีพสำคัญของชาวบ้านเขายี่สาร นอกจากเป็นชาวประมงแล้ว อาชีพที่ทำสืบต่อมานานคือการทำถ่านไม้โกงกาง มีการสร้างเตาเผาขนาดใหญ่ด้วยอิฐดินเผาเพื่อเผาถ่านจากไม้โกงกาง ที่เมื่อมีการตัด ก็มีการปลูกขึ้นใหม่แทนที่
วัดเขายี่สาร ซึ่งตั้งอยู่บนเขา เข้าใจว่าสร้างโดยผู้มีบารมี เพราะมีการวางแปลนไว้อย่างเป็นระบบ เช่น ที่ตั้งหอระฆัง ลักษณะโบสถ์ที่สร้างเสมาคู่ติดกับผนังโบสถ์
มีเวลาอีกหน่อย ขอแวะไหว้หลวงพ่อวัดบ้านแหลม พระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ปางอุ้มบาตร ปัจุบันวัดบ้านแหลมคือวัดเพชรสมุทรวิหาร
สุขใจกันถ้วนทั่วแล้ว ก็ขอใช้เวลาอีกสักครึ่งชั่วโมงแวะไปเที่ยวอุทยานพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือที่รู้จักกันในนาม อุทยาน ร.๒ ที่นี่ร่มรื่นมาก กว้างขวางมาก เรือนไทยแต่ละหลังก็กว้างและสวยงามมากๆ  แม้จะมีเวลาเพียงเล็กน้อย ก็ขอเดินรอบอุทยาน ผ่านหุ่นปั้นไกรทองกับชาละวัน บัวชนิดต่างๆ  แต่เพื่อนๆ ขึ้นรถเป็นส่วนใหญ่แล้ว เลยไม่มีโอกาสไปแวะไปที่วัดอัมพวันเจติยาราม ซึ่งอยู่ตรงข้ามอุทยาน ร.๒ ได้ยินแต่ว่า ไม่แวะที่ไหนแล้ว คิดถึงบ้านแล้ว
เรากลับถึงหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์โดยสวัสดิภาพในเวลา ๑๘.๐๐ น.
รายละเอียดอื่นๆ รวมทั้งความประทับใจที่ได้รับ สิ่งที่คิดว่าสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดในงานที่ทำอยู่ คงต้องฝากให้เพื่อนๆ อีก ๔๐ ชีวิต ช่วยกันต่อช่วยกันเติม

10 thoughts on “การสร้างทีม…สู่การสร้างพิพิธภัณฑ์ ณ สมุทรสงคราม

  • เข้ามาช้าหน่อยนะคะ
    ทัวร์นี้เป็นอีกทัวร์ที่ได้รับความสุขและความรู้กลับมาอย่างอิ่มหนำสำราญ สถานที่ๆประทับใจที่สุดคงหนีไม่พ้นตลาดน้ำท่าคา ที่ดูเหมือนบ้านๆแต่เป็นธรรมชาติที่สุด ของที่นำมาขายกันก็เป็นของใช้ในครัวเรือนทั่วไป ไม่ใช่จะนิยมขายแต่ของฝากอย่างเดียว แต่นั่นก็เป็นแค่ความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้นนะค๊ะ
    สำหรับสถานที่อื่นๆก็ชอบนะคะแต่ให้คะแนนรองลงมาค่ะ เนื่องจากน่าจะมีคนที่นิยม และชอบมากมายแล้วเนอะ สำหรับสิ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานห้องสมุดคิดว่าเราน่าจะให้ความสำคัญกับสิ่งของที่ที่เรามีอยู่ก่อนที่จะคิดต้องการสิ่งอื่นที่ต้องหาเข้ามา ดังเช่นที่พิพิธภัณฑ์เขายี่สานเขาให้ความสำคัญกับข้อมูลในท้องถิ่นของเขา แล้วร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์ไว้เป็นมรดก ให้รุ่นต่อๆไปได้ศึกษากัน
    เอาไว้เที่ยวหน้าพี่จัดไปไหนหนูขอไปด้วยเน้อ

  • น้องหยี่ เสี่ยงเซียมซี เสียงรัก ไม่สำเร็จ ละซี??? ต้องลงทุนไปเผา ขำ ขำ ว่ะ ทำไม่ดวงไม่ดีต้องหาหลวงพ่อรดน้ำมนต์เสียแล้ว การไปเที่ยวครั้งนี้มีแต่ของเก่าๆ ทั้งนั้นเลย ทำไมไม่ไปที่เจริญๆ หน่อยน่ะ ร้อนมากๆ ยิ่งไปเตาเผาถ่านล่ะ ร้อนๆๆ จริงๆๆ แต่ก็มีความสุขที่ได้เสี่ยงเซียมซี มีแต่ความสุข ความเจริญ ทุกอย่างเลย ถ้าทุกคนภาวนานะ แค่นี้ละ….

  • เคยไปเที่ยว จ.สมุทรสงคราม ทีดอนหอยหลอด และนั่งเรื่อชมหิ่งห้อยที่ตลาดน้ำอัมพวา แต่ความรู้ สาระต่างๆที่ได้สู้เดินทางไปกับทัวร์พี่หน่อยครั้งนี้ไม่ได้เลย บอกตรงๆว่า ประทับใจทั้งวิทยากรและผู้นำทัวร์ครั้งนี้จริงๆ ที่ได้บรรยายให้พวกเราได้รับความรู้มากมายสิ่งที่ประทับใจมากที่สุดในการเดินทางคือ การได้เยี่ยมชมเตาเผาถ่านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นแห่งแรกของ จ. สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นของผศ.สิริอาภา ซึ่งเป็นวิทยากรของพวกเรา อาจารย์ได้ให้ความรู้เรื่องการปลูกป่า การตัดไม้โกงกางมาเผาถ่าน วิธีการลำเลียงไม้จากแม่น้ำโดยทางเรือ การปลูกป่าทดแทน ขั้นตอนการเผาถ่าน ถึงการจัดจำหน่าย นับว่าเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ ของชาวจ.สมุทรสงคราม ที่ถ่านไม้โกงกางเป็นที่ต้องการของตลาดไม่สามารถผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดโลกได้ ปัจจุบันได้ผลิตส่งประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันอาจารย์มีเตาเผา 7 เตา แต่ละเตาจะใช้ไม้โกงกางประมาณ 10-20 ตัน และจะได้เนื้อถ่านที่สุกประมาณ ครึ่งหนึ่งของจำนวนไม้ที่เผา ใช้เวลาในการเผา 10-15 วัน ต่อ 1 เตา และตอนนี้กำลังก่อสร้างเพิ่มอีก จำนวน 2 เตา ซึ่งอาจารย์บอกว่าผู้ที่สร้างเป็นผู้หญิงและจะสร้างให้ 2 เตาสุดท้าย การก่อสร้างนั้นต้องใช้เวลา ความรู้ และภูมิปัญญาชาวบ้านด้วย
    ประโยชน์และประสบการณ์ตรง จากการทัศนศึกษาครั้งนี้ สมามารถนำมาในการบริการตอบคำถามผูใช้ ในงานศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตกค่ะ

  • เสียดายไม่ได้ไปแต่เห็นรูปแล้วอยากไปแต่ติดพารกิจเลยทำให้อดเป็นทีมด้วยเลยคราวหน้ารับรองไม่มีพราดนานๆจะได้ไปพักผ่อนแบบไม่ต้องค้างคืนกัน

  • น้องษร มีคนฝากชมว่าเก็บความได้ดีและให้บรรยากากาศของคนทำงานในศูนย์ข้อมูลค่ะ รับไปนะคะ

  • สุดยอดมากครับ คราวหน้าอยากให้จัดอีก ไปแบบพี่แบบน้องอบอุ๊น อบอุ่น

  • รอข้อมูลจากเจ้าแม่ตัวจริง (พี่บุญตา)ยังไม่นำขึ้นสักที พี่เขาจดไว้เยอะ เมื่อยังไม่นำเสนอขอแซงคิวก่อนนะ ข้อมูลจาก ผศ.สิริอาภา มีมากมาย เรียกว่าบรรยายพร้อมนำชมทั้งวันคงไม่พอ ขอพูดถึงโบสถ์เขายี่สาร ที่ได้รับฟัง เป็นโบสถ์เก่าแก่ มีศาลาการเปรียญ และที่ถวายของสังฆทาน สภาพแบบเดิมๆ ที่ชาวอัมพวาพยายามอนุรักษ์ไว้ ในโบสถ์มีรอยพระพุทธบาท ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนฯ ได้ทรงปิดทองไว้ด้วย จะมีชามแก้วครอบไว้ พอประชาชนบางคนรู้ก็พยายามจะไปปิดทองใกล้ๆ ท่าน บริเวณรอบโบสถ์มีพืชพรรณไม้มากมาย มีต้นหนึ่งสูงมากชื่อ “ต้นมะซาง” อาจารย์บอกว่าเมื่อมองมาเห็นต้นไม้นี้แสดงว่าถึงบ้านเราแล้ว หมายถึงเข้าเขตยี่สารแล้ว และที่จำได้มีต้นมะเกลือ เป็นไม้ยืนต้น สมัยก่อนนิยมนำยางผลมะเกลือไปย้อมผ้า มะเกลือดิบมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิด้วย

  • ดีนะที่ตัดสินใจร่วมขบวนไปด้วยไม่งั้นเสียดายมากๆเลยเพราะเวลานั่งรถไกลๆแล้วเกิดอาการเมารถ ดีนะที่น้องปูแบ่งยาแก้เมารถมาให้ไม่งั้นมีหวังอ๊วกบนรถแน่ๆ ในการไปครั้งนี้ได้รับทั้งความรู้และสนุกสนานแถมได้ทานก๋วยจั๊บฟรีอีก (ของฟรีชอบจริงๆ) ขอให้เจ้าภาพจงเจริญใครรู้ตัวเป็นเจ้าภาพก็รับไป งวดหน้าเอารางวัลที่ 1 เลยนะ(พวกเราจะได้อิ่มกันมากๆกว่านี้)
    ก่อนอื่นต้องขอชื่นชม ผศ.สิริอาภา รัชตะหิรัญ (อาจารย์ต้นตำหรับของน้องจุ๋ม) อาจารย์ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจให้กับพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร+ชุมชนเขายี่สาร อย่างเต็มร้อยเลย (อาจารย์รักถิ่นกำเนิดที่เกิดมาเป็นชาวยี่สาร) +อาจารย์ยืนตากแดดอธิบายให้พวกเราฟังแต่พวกเราอยู่ในร่มกัน พวกเราเอาเปรียบอาจารย์ไหมเนี๊ยะ เสร็จงานนี้แล้วอาจารย์ต้องหาซื้อยาแก้ฝ้าเสียแล้ว ถ้าไม่รู้มาก่อนว่าอาจารย์สอนอยู่คณะศึกษาศาสตร์คงคิดว่าอาจารย์สอนอยู่คณะโบราณคดีเสียอีก ท่านรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับชุมชนนี้ตั้งแต่พื้นดินจนถึงท้องฟ้า ไม่ว่าพวกเราจะถามอะไรท่านให้ข้อมูลได้ละเอียดมาก อาจารย์มีความตั้งใจอธิบาย+รู้รายละเอียดความเป็นมาวัตถุโบราณ+ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ (พวกเราตอนแรกก็กลุ่มใหญ่ตั้งใจฟังกัน พอตอนหลังจากกลุ่มใหญ่ก็เหลือกลุ่มเล็ก ขอชื่นชมพวกเราที่ตั้งหน้าตั้งตาทั้งฟังทั้งจด+จำได้บางไม่ได้บ้างเพราะข้อมูลของอาจารย์เกินร้อย โดยเฉพาะป้าตาจดจนสมุดหมดเล่มเนื้อหาของป้าแน่นหนามาก กะเขียนตำราขายได้เลยละซิ)
    ไม่คิดเลยว่าจะได้พบได้เห็นวัตถุโบราณสมัยพุทธศตวรรษที่ 19-20 (ราวๆสมัยกรุงศรีอยุธยา)และที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมวัตถุโบราณที่หาดูได้ยากมากๆ ขอชื่นชมชุมชนบ้านเขายี่สารที่ท่านได้ให้ความร่วมมือ+รักษา วัตถุโบราณและประเพณีดั้งเดิมไว้ให้ลูกหลานได้ชื่นชมและเป็นสมบัติของชาติต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน ขนาดเดินขึ้นเขาไปทำบุญพวกเราอายุครึ่งร้อยยังเดินลิ้นห้อยเลยแล้วคุณตา+คุณยายแถวนั้นท่านยังบ่อั้นเลย ประทับใจทุกๆที่ที่ป้าหน่อยพาเราไป โดยเฉพาะเตาเผาท่านสุดยอดเลย หาดูไม่ได้อีอแล้ว คนต่างชาตินิยมของดำๆจากไทย (หญิงไทยดำๆ+ถ่านดำๆ ) งานหน้าไม่พลาดแน่แต่ต้องซื้อยาแก้เมาไว้เป็นแผงเลย

  • อ่าน comment พี่ดวงที สะดุ้งเฮือกเลยนะเนี่ย หนูถูกพาดพิงอ่ะ เพราะหนูเนี่ยหญิงไทยดำๆ คนต่างชาตินิยม ดีนะเนี่ยแฮร์มอนยังเอาถ่าน 555 ถ้าไม่เอาถ่านสงสัยหนูจะแย่
    เดี๋ยวหนูให้พระราหูเสกมนต์ดำเข้าท้องพี่ดวงซะหรอก ท่านก็ชอบของดำเสียด้วยนะพี่ ทำเป็นเล่นไป อิอิ เดี๋ยวหนูกลับไปคราวนี้หนูจะขาวให้ดูนะ 555

  • กลับมาจากทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์เขายี่สาร แล้วก็มีแต่งานด่วน ๆ ต้องรีบปิดงบจ้า ต้องให้ทันก่อน 18 ก.ย.52 นี้ เดี๋ยวปิดงบเสร็จแล้ว จะบรรยายความให้นะจ๊ะ มีข้อมูลเพียบเลย ต้นไม้บนเขายี่สารมีกี่ชนิดจดมาหมดจ้า

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร