"โรคซึม-เศร้า"

          การฆ่าตัวตายที่เราพบเห็นเป็นข่าวในปัจจุบันนี้  หากอ่านข้อมูลและเนื้อหาของข่าวแล้วพบว่า  สาเหตุส่วนใหญ่ของการฆ่าตัวตายนั้นมาจากป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า”  โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่คุกคามคนทั่วโลก จากผลการทำวิจัยของธนาคารโลกร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  คาดการณ์ว่าในปี 2020 โรคซึมเศร้าจะกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกอันดับที่ 2 รองลงมาจากโรคหัวใจหลอดเลือด เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่กดดันการใช้ชีวิตของผู้คนมากขึ้น  โดยจากข้อมูลในปี 2559 ของการศึกษาสถานการณ์โรคซึมเศร้าของกรมสุขภาพจิตพบว่ามีคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 12 ล้านคน และเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้พบแพทย์มากกว่า 1 ล้านคน จึงถือว่าโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแล 
 
         โรคซึมเศร้า คือ โรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ที่ป่วยโรคนี้ไม่ได้เป็นบ้าและไม่ได้เป็นคนไม่ดี  แต่เป็นคนที่มีอาการป่วยทางอารมณ์อย่างหนึ่ง  ทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข มีแต่ความวิตกกังวล ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็วด้วยการปรึกษาจิตแพทย์  เพราะหากปล่อยไว้ ผู้ป่วยอาจถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตายได้จากสถิติที่ระบุว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า
       
          สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองชื่อ เซโรโทนิน Serotonin มีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยรู้สึกท้อแท้ หงอยเหงา เบื่อหน่าย ไม่สนุกสนานกับชีวิต นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก ฝันร้ายบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบให้ความสามารถในการทำงานลดลง   สาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้ามาจากหลายปัจจัย ทั้งจากด้านกรรมพันธุ์  พัฒนาการของจิตใจ  และสิ่งแวดล้อมที่เผชิญ รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางตัว ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน  อย่างไรก็ดี ผู้หญิงมักประสบกับภาวะนี้มากกว่าผู้ชายถึง 70% และมักเริ่มต้นเมื่อราวอายุ 32 ปี
 
       โรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ด้วยหลายวิธี ดังนี้
          (1)  รักษาโรคซึมเศร้าด้วยยา  คือ การให้ยาแก้โรคซึมเศร้า antidepressant drugs ซึ่งมีอยู่หลายชนิด มีทั้งชนิดที่ทำให้ง่วงและที่ไม่ง่วง ยาแก้โรคซึมเศร้าจะไม่ทำให้เกิดการเสพติด และผู้ป่วยสามารถหยุดยาได้เมื่อหมดความจำเป็น  ยาแก้โรคซึมเศร้าไม่ได้ออกฤทธิ์เพียงแค่ลดความกังวล แต่จะออกฤทธิ์ทำให้อารมณ์หายซึมเศร้าจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า ต้องรับประทานยาต่อเนื่องนานอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ จึงเริ่มเห็นว่าอารมณ์แจ่มใสขึ้น และมักต้องใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ยาจึงจะออกฤทธิ์เต็มที่ เมื่อหายแล้วผู้ป่วยจะกลับเป็นคนเดิม และแพทย์จะให้ยาต่ออีกอย่างน้อย 6 เดือน แต่ในรายที่เป็นบ่อยแพทย์อาจพิจารณาให้ยานานกว่านั้น 
          (2)  รักษาโรคซึมเศร้าโดยไม่ใช้ยา 
          –  เปลี่ยนความคิดพิชิตความเศร้า  คนที่กำลังเศร้าจะมองโลกในแง่ร้าย และคนที่มองโลกในแง่ร้ายก็จะซึมเศร้าได้ง่าย เป็นวัฏจักรที่ทำให้ภาวะซึมเศร้าเป็นอยู่นาน ดังนั้นเมื่อเกิดอารณ์ซึมเศร้าขึ้นมา ให้ผู้ป่วยลองหยุดเศร้าแล้วมองย้อนกลับไปว่าเกิดอะไรขึ้น  มีความคิดอะไรแวบขึ้นมาในสมอง แล้วลองพิจารณาว่าความคิดนั้นถูกต้องแค่ไหน  หากคิดได้ว่ามันไม่ค่อยสมเหตุผลเท่าไรอารมณ์จะดีขึ้นทันที อย่างน้อยก็จนกว่าจะเผลอไปคิดอะไรในแง่ร้ายอีก แต่ถ้าคิดแล้วรู้สึกว่ามันก็สมเหตุผลดีก็ค่อยคิดต่อว่าแล้วจะทำอย่างไรกับเรื่องนั้นดี
          –  เปลี่ยนพฤติกรรม  ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้ามักไม่อยากทำอะไร หมดเรี่ยวแรง  แต่ในสมองจะคิดไปเรื่อยและมักคิดแต่เรื่องร้ายๆ  ให้แก้ด้วยการหาอะไรทำที่ได้ลงไม้ลงมือ  ไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่สำคัญขอให้ได้ลงมือทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ  และความคิดฟุ้งซ่านจะลดลงทำให้อารมณ์ดีขึ้น
          (3)  รักษาโรคซึมเศร้าด้วยไฟฟ้า   ในรายที่เป็นมากหรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมาก ๆ แพทย์จะให้การรักษาด้วยไฟฟ้า เครื่องจะปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านสมองทำให้ผู้ป่วยเกิดการชัก convulsion  ภาวะซึมเศร้าจะหายได้อย่างรวดเร็ว  ในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ การรักษาด้วยไฟฟ้าในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูงมาก แต่เนื่องจากสังคมได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดจากสื่อต่าง ๆ ทำให้การรักษาแบบนี้ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับ  แพทย์จึงจะใช้การรักษาแบบนี้ในรายที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
 
          เหตุผลดีๆ ที่ควรรักษาโรคซึมเศร้า
          –  ช่วยให้หลับสบายขึ้น โรคซึมเศร้าอาจทำให้นอนไม่หลับหรือตื่นเร็วกว่าปกติ ทำให้ยิ่งอ่อนเพลีย และโรคซึมเศร้าก็จะรุนแรงขึ้นเพราะผลจากการอดนอน
          –  ชีวิตรักดีขึ้น เนื่องจากยาต้านโรคซึมเศร้าบางตัวอาจทำให้ความรู้สึกทางเพศลดลง  และบ่อยครั้งที่โรคซึมเศร้าเป็นตัวการบ่อนทำลายชีวิตรัก  จากผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยกว่า 70% หมดความสนใจทางเพศหากไม่ได้รับยา ทั้งนี้การรักษาจะช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้นด้วย
          –  บรรเทาปวด การรักษาโรคซึมเศร้านอกจากจะทำให้รู้สึกดีขึ้นแล้วยังช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ซึ่งการศึกษามากมายชี้ว่าคนที่มีอาการ เช่น ปวดข้อหรือไมเกรน จะรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้นหากมีอาการซึมเศร้า
          –  ทำงานได้ดีขึ้น เพราะภาวะโรคซึมเศร้า อาจทำให้ไม่มีสมาธิในการทำงาน  และทำผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง
          –  สมองเฉียบแหลม ความจำดีขึ้น  เพราะโรคซึมเศร้าอาจจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสมองบริเวณที่เกี่ยวข้องกับความจำและการตัดสินใจ
 
          หากสงสัยว่าเราอยู่ในภาวะ “เครียด” หรือเสี่ยงเป็น โรคซึมเศร้า”  สามารถลองทำแบบทดสอบเพื่อประเมินตนเองเบื้องต้นได้ที่  https://med.mahidol.ac.th/depression_risk  ซึ่งทางคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้เปิดแบบทดสอบสภาวะโรคซึมเศร้าทางออนไลน์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  และไม่ต้องลงทะเบียน  และนำผลคะแนนที่ได้มาอ่านค่าจากตารางด้านล่างนี้

ผลการทำแบบทดสอบและการประเมินนี้เป็นการประเมินระดับภาวะซึมเศร้าในขั้นต้น  เป็นการเตือนว่าเราเข้าข่ายภาวะนี้แล้ว  เพื่อพยายามไม่พาตัวเองไปอยู่ในจุดเสี่ยง  ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งรักษาได้เร็ว 
 
 
ขอบคุณข้อมูลจาก  https://health.kapook.com/view3241.html
และ  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร