KM สู่ LO

องค์กรแห่งการเรียนรู้
เป็นคำที่ เราได้ยินมาระยะหนึ่งแล้ว
แต่การที่จะนำองค์กรเข้าสู่สภาวะเช่นนั้น
หาใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง
หากแต่บุคลากรในองค์กรต้องเป็นนักรับรู้อย่างลึกซึ้งและละเอียดละออ
โดยต้องเรียนรู้ รับรู้จากเรื่องราวทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร
และนำไปปรับใช้ในองค์กร ที่สำคัญคือเมื่อลงมือปฏิบัติ
แล้วก็ต้องมีการรับรู้เรียนรู้จากกระบวนการที่ปฏิบัติ
ผลของการปฏิบัติ พร้อมที่จะนำมาพัฒนา ปรับปรุง
ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและแวดล้อมที่เกิดขึ้นให้มีความทันยุคสมัยอยู่เสมอ
ผู้ที่ลงมือปฏิบัตินั้น มักจะมีทักษะความชำนาญ ด้านใดด้านหนึ่ง
จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น “ช่าง” องค์กรเรียนรู้ย่อมประกอบไปด้วยสารพัด “ช่าง”
ที่จะมาร่วมมือกันในการสร้างสรร
ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีสมาชิกที่มีความเป็นอัจฉริยะทั้งหมด
หรือ แม้ว่าไม่มีบุคคลอัจฉริยะเพียงสักคน
ก็สามารถที่จะสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้
แต่ทั้งนี้ต้องมีการสร้างช่างที่มีทักษะใน 25 ด้านมาทำงานร่วมกัน
และควรเป็นผู้ที่มีความรู้มีทักษะในสัดส่วน
“ความรู้ฝังลึก” (Tacit Knowledge) ร้อยละ 80
และมี “ความรู้ชัดแจ้ง” ร้อยละ 20
ซึ่งจะทำให้สามารถถ่ายทอดองค์รู้ในตัวตนออกมาได้อย่างชัดแจ้ง
ช่าง 25 ด้าน
1. ช่างฝัน คน “ช่างฝัน” ในแง่ดี หมายถึงฝันที่มีพลัง นำไปสู่อะไรบางอย่าง อย่างมีจินตนาการ ซึ่งแรงบันดาลใจ ฝันลักษณะนี้ ต้องอาศัยการฝึกฝน และมีความกล้าที่จะฝันโดยไม่ติดข้อจำกัด ไม่มีอะไรปิดกั้น หรืออาจเรียกได้ว่า ติดกับดักของตนเอง  ที่สำคัญคือฝันนั้นทำให้ผู้อื่นคล้อยตามได้โดยไม่จำต้องใช้ความพยายามมากนัก หรือ เรียกว่า “ขายฝัน” ซึ่งฝันลักษณะนี้ ย่อมหมายถึงฝันที่ร่วมกันสร้าง หรือ “วิสัยทัศน์ร่วม”  (Shared Vision) ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบลำดับต้นๆ ที่สำคัญ สำหรับองค์กรแห่งการเรียนรู้
2. ช่างจุด (ประกาย) การจุดประกาย ความคิดคนนั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยการควบคุมสั่งการ “ปัญญาญาน” จะเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่ผ่อนคลาย สบาย ไม่เร่งรีบ ซึ่งจะเป็นบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และต่อยอดทางความคิด การจุดประกายความคิดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจนั้น ต้องใช้ศิลปะมากกว่าใช้ศาสตร์ เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยใจมากกว่าใช้สมอง เป็นเรื่องที่ต้อง “ลองทำ” มากกว่าการ “วางแผน” เพียงอย่างเดียว ผู้ที่จะเป็นช่างจุดได้นั้น จะต้องเป็นผู้ทีสื่อสารได้เหมาะสมถูกที่ ถูกเวลา ถูกกาละเทศะ และสอดคล้องกับบริบท ทำอย่างไร ให้ฝันใน (ใจ) ของเรา เข้าไปอยู่ในใจคนที่จะมาเป็นแนวร่วมกับเรา
3. ช่างก่อ บุคคลจำพวกนี้ มักจะมองเห็นในอีกด้านของปัญหาในเชิงพลังบวกที่สร้างสรรค์ หรือ เป็นบุคคลที่มีสายตาที่จะมองในภาพรวมที่สวยงาม โดยไม่เอาใจไปจดจ่อ หรือ มองข้ามในจุดบกพร่องเพียงเล็กน้อยหากเทียบกับสิ่งดีๆ ที่คงมีอยู่ องค์กรของเรา มีการร่วมกัน “ก่อสร้าง” สิ่งที่ดีๆ ร่วมกัน หรือไม่
4. ช่างหนุน (สนุบสนุน) การดำเนินสิ่งใดๆ ในองค์กรเรามักได้ยินเสมอว่า เป็นความต้องการของผู้บริหาร แต่เรากลับไม่คิดว่าสิ่งที่ผู้บริหารต้องการนี้ คือภาพขององค์กรที่ยั่งยืนและประสบความสำเร็จ โดยผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถขับเคลือ่นองค์กรไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจริงใจและมีกลยุทธ์ที่ดีจากผู้บริหาร ซึ่งจะต้องเป็นผู้มีเทคนิควิธีในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงานร่วมกัน และต้องมีความพยายามในการทำให้คนในองค์กรมีฝันและร่วมกันสานฝันขององค์กรให้เกิดขึ้นจริง ที่สำคัญผู้บริหารต้องเป็น “ช่างหนุน” ให้สมาชิกเกิด “ภาวะผู้นำ” เพราะจะเป็นการหนุนให้ทุกคนแสดงความสามารถและศักยภาพของตนเองออกมาให้มากที่สุด โดยผู้บริหารทำหน้าที่บริหารอยู่เบื้องหลัง
5. ช่างคิด (นอกกรอบ) การอยู่รอดขององค์กรในปัจจุบันไม่ได้หมายเพียงการแข่งขันให้รอด และไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ผลกำไร หรือความมั่งคั่งทางการเงิน หากแต่หมายรวมถึง “ทุนมนุษย์” เป็นสำคัญ เพราะการที่องค์กรจะอยู่รอดได้นั้น ต้องไม่ละเลยการพัฒนา หรือ การนำศักยภาพที่มีอยู่ของคนมาใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมให้มากที่สุด  และมนุษย์ที่จะช่วยให้องค์กรอยู่รอดได้อย่างดีเ และเป็นมิตรต่อองค์กร สังคมและโลกได้คือพวกนอกกรอบ แต่การที่จะนอกกรอบได้นั้น ต้องเปิดหู เปิดตา เปิดใจ นำสิ่งที่ได้รับรู้ สัมผัสมาใคร่ครวญ ขบคิดจนตกผลึก เพื่อหาช่องทางและโอกาสในการ  “ปิ๊งแว๊บ” อะไรดีๆ หรือทางออกใหม่ อย่างสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อจนเองและองค์กร
6. ช่างเจาะ (ลึกถึงแก่น) การจะรับรู้ หรือ เรียนรู้อะไรก็ตาม จำเป็นต้องเจาะให้ลึกถึงแก่น โดยปรับประยุกต์วิธีการปฏิบัติให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กร โดยอาจเริ่มเรียนรู้จากแนวคิดของการจัดการความรู้  หรือ KM (Knowledge Management)
7. ช่างสร้าง  (สรรค์) การสร้างสรรค์ของนัก KM คือ คุณสมบัติทางความคิดที่รวมความเป็นผู้คิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นวัตกรรม และมีมุมมองแบบสร้างสรรค์ โดยอาจต่อยอดจากกระบวนการทำงานเดิมด้วยวิธีการใหม่อยู่เสมอ
8. ช่างเชื่อม (ประสาน) จะต้องเป็นบุคคลที่เอาตัวเองไปเชื่อมกับทีมต่างๆ ก่อน โดยอาจนำเรื่องราวของแต่ละฝ่าย งาน มาบันทึกและเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ให้เจ้าของเรื่อเข้าไปอ่านบ้าง ซึ่งผู้ที่ถูกกล่าวถึงนั้นน่าจะดีใจที่เห็นเรื่องราวของตน การเชื่อมสัมพันธ์ที่ดีของบุคคล นอกจากจะทำให้เขารู้จักกัน ต้องทำให้เขาเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการทำงานระหว่างกันด้วย
9. ช่างชื่นชม (เชิงบวก) อาจทำได้ไม่ยากนัก เช่น นำเรื่องดีๆ ที่คนทำงานแล้วประสบความสำเร็จมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งเจ้าตัวเมื่อเล่าก็จะมีพลังใจที่ดี ที่จะถ่ายทอดสู่ผู้อื่นเพราะเป็นเรื่องที่ภาคภูมิของตนเอง ช่วยให้เกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
10. ช่างเปลี่ยน (แปลง) โดยผู้ที่มีคุณสมบัตินี้อาจเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงเรื่องเล็กๆ ของตนเองก่อน เช่น เปลี่ยนวิธี หรือ เทคนิคการทำงานของตนเอง  เพื่อให้ผลงานดีขึ้น หรือ ทำง่ายขึ้น หรือใช้เวลาน้องลง เปลี่ยนกระบวนทัศน์ เปลี่ยนวิธีคิด วิธีมอง มองในเชิงบวกมากขึ้น  โดยแทนที่การเห็นแต่ปัญหา อุปสรรค ก็เปลี่ยนมามองหาเรื่องดีๆ หรือ ของดีๆ ที่มีอยู่ในองค์กรให้มากขึ้น และนำมาต่อยอด หรือ ขยายผล นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ๆ ในองค์กรให้ดีขึ้น  การจัดการความรู้ยังคงเป็น เครื่องมือที่ใช้ฝึกคนจนเกิดนิสัยเป็น “ช่างเปลี่ยน” เปลี่ยนไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อหาสิ่งที่ดีกว่า ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง รักที่จะทดลองเปลี่ยนสิ่งเล็กๆ ไปจนถึงกล้าที่จะเปลี่ยนเรื่องใหญ่ๆ
11. ช่างตีความ มีหลายคุณลักษณะ คือ

  • ช่างตีความ…เพื่อสร้างบรรยากาศอิสระ  ช่วยให้ผู้น้อยกล้าแสดงความคิดตนเอง การฝึกเป็นผู้ตีความจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมการเปิดใจอย่างค่อยเป็นค่อยไปในองค์กร เพราะการตีความไม่มีถูกผิด ต่างคนต่างความคิด จึงไม่จำเป็นต้องมองเหมือนกัน เมื่อองค์กรเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เป็นช่างตีความ จะเกิดมุมมองและความคิดที่แตกต่างหลากหลาย เกิดมุมมองในเรื่องต่างๆ เพื่อนำมาต่อยอดได้
  • ช่างตีความ…เพื่อสร้างคุณค่า หัวหน้างาน ควรเป็น “คุณอำนวย” ที่เป็นช่างตีความไปในเชิงบวก เพื่อชี้ให้เห็นคุณค่าของงานที่ “คุณกิจ” ปฏิบัติอยู่ว่ามีประโยชน์ มีคุณค่าต่อองค์กร ต่อสังคม ต่อประเทศชาติอย่างไร
  • ช่างตีความ…เพื่อหาโอกาส “คุณอำนวย” ควรตีความหาโอกาส ตามเหตุการณ์ หรือ สิ่งที่เกิดในปัจจุบัน เพื่อชี้ให้เห็นโอกาส หรือ แนวทางการทำงานใหม่ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน หรือ องค์กรมากขึ้น
  • ช่างตีความ…แต่ไม่ตัดสิน “คุณอำนวย” เป็นผู้ใช้เครื่องมือจัดการความรู้  จึงต้องฝึกเป็นช่างตีความ…แต่ไม่ตัดสิน คือ ฝึกตีโจทย์ เป้าหมาย เหตุการณ์ กระบวนการ บรรยากาศ พฤติกรรมต่างๆ ของคนในอง์กร เพื่อนำมาปรับวิธี ปรับกระบวนการ ใช้การจัดการความรู้ในองค์กรให้มีพลังมากขึ้น

12. ช่างสำรวจ ความคิดและความเชื่อของตนเอง  เป็นสิ่งที่เราควรสำรวจทั้งตัวเราเอง และทีมงาน ตลอดจนแกนนำขององค์กรทุกคน ว่าภายในองค์กรเรามีความสำเร็จ หรือ สิ่งที่เราต้องการอยู่แล้ว ซึ่งอาจมีเพียงส่วนน้อยในอง์กร หรือ อาจไม่ใช่ทั้งหมด การสำรวจตนเอง เพื่อให้เชื่อมั่นว่า เราและองค์กรมีของดีที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้
13. ช่างเปิด (ใจ) คนทำงานทุกคนล้วนมีความรู้ติดตัวมากมาย แต่ไม่มีโอกาสส่งต่อให้คนอื่นมากนัก จึงควรเปิดใจในการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการยอมรับผู้อื่นได้อย่างที่เขาเป็น ทั้งด้านดีและไม่ดี ควรกล้าที่จะเปิดตา หู และใจ มองโลกในแง่มุมใหม่ ทั้งร้ายและดี
14. ช่างออกแบบ (การเรียนรู้) การจัดการความรู้ มักจะไม่เคยมีงานซ้ำกัน โดยเฉพาะการออกแบบ ซึ่งแม้จะได้ข้อมูลเดิมๆ แต่การนำไปใช้ต่างกลุ่มก็ต้องออกแบบใหม่ โดยการออกแบบมีทั้งการออกแบบเพื่อผู้เข้าร่วมกลุ่มใหม่ในหัวข้อเดิม หรือผู้เข้าร่วมกลุ่มเดิม ในหัวข้อใหม่ โดยจำเป็นต้องรู้ความต้องการที่แท้จริง ของผู้เข้าร่วม ความต้องการแฝง ตลอดจนเส้นทางของผู้มาร่วม เช่น เชิญมา สั่งมา อยากมา เป็นต้น  การออกแบบการเรียนรู้ ต้องเกิดสมดุลทั้งวิชาการและบรรยากาศของกัลยาณมิตร
15. ช่างปรับ (ประยุกต์) การออกแบบหลักสูตรแม้เราจะเตรียมมาอย่างดี แต่ก็มักเจอสถานการณ์จริงที่คาดไม่ถึง ดังนั้นผู้ที่จะทำหน้าที่ปรับต้องยืดหยุ่น แต่รักษา Concept หลักๆ ของงานไว้
16. ช่างทดลอง (ปฏิบัติ) การเรียนรู้ที่ดีเกิดจากการปฏิบัติ แม้จะสำเร็จหรือล้มเหลวผู้ที่ได้ทดลองจะจำแบบฝังลึก เกิดการเรียนรู้ได้มากกว่าการอ่าน ฟัง จำคนอื่น ซึ่งการรู้โดยเช่นนี้ เป็นความรู้มือสอง สาม สี่ … แต่หากได้ลงมือทดลองปฏิบัติซ้ำไปมา จะเกิดเป็นความรู้ใหม่ วิธีใหม่ๆ ของเราเองโดยอาจเป็นบทเรียนของตนเอง เป็นความรู้มือหนึ่ง ซึ่งจะมีทั้งเทคนิค วิธีการ และการปฏิบัติที่เป็นของตนเอง
17. ช่างทำ (งานเป็นทีม) การทำงานจริงมักเจอโจทย์ใหม่  ซึ่งมักมาพร้อมความโกลาหล ไม่ชัดเจน ซึ่งมีผลต่อการทำงานเป็นทีมที่จะมีแรงกดดัน  การร่วมสร้าง “ความเข้าใจ” จึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่กระบวนการคิด กระบวนการแก้แบบเดิมๆ ที่คุ้นเคย ก็อาจไม่ตอบโจทย์ จึงต้องหมั่นตั้งข้อสังเกต ทบทวนวิธีการ และพยายามหาวิธีใหม่ หาโอกาสทดลองวิธีใหม่ การลงมือทำ จะช่วยให้เราคิดอะไรได้มากขึ้นโดยผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
18. ช่างแลกเปลี่ยน (เรียนรู้) เรื่องที่แลกเปลี่ยนนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่มีแก่นสาร มีความสำเร็จเสมอไป แต่ควรเป็นเรื่องสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดจากตัวเรา เป็นความรู้มือหนึ่ง ที่มาจากฝีมือและการปฏิบัติของเราเอง  เพราะเราจะลึกซึ้งและพูดได้อย่างดีมีพลัง เพราะเป็นสิ่งที่ออกมาจากใจ ซึ่งอาจเป็นเรื่องของความผิดพลาดก็ได้ แต่เป็นการแชร์เพื่อให้เห็นแนวทางเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก
19. ช่างขยาย (ความสำเร็จ) การจัดการความรู้นั้น ผู้ที่ประสบผลสำเร็จ ไม่ได้ตัดสินจากการรับรู้เรียนรู้ แต่อยู่ที่ได้นำสิ่งที่เรียนรู้รับรู้ หรือ หลักการ KM ไปลงมือทำ เมื่อสำเร็จแล้วได้ “ขยายความสำเร็จ” แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็สามารถจุดประกายไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ขององค์กรได้
20. ช่างเล่า (เรื่องดี) การจะเข้าสู่องค์กรการเรียนรู้นั้น ภายในองค์กรต้องมีบรรยากาศของการชื่นชมยินดี เห็นคุณค่าของกันและกัน และต้องมีความรู้ของคนปฏิบัติไหลวนในองค์กรทั่วทั้งองค์กรตลอดเวลา การจะเป็นเช่นนี้ บุคลากรต้อง “ช่างเล่า” โดยเฉพาะ “เรื่องดี” การเล่าทำให้ผู้อื่นได้รู้เรื่องจริง เหตุการณ์จริง โดยเข้าใจในรายละเอียดและเทคนิควิธีปฏิบัติ ตลอดจนบริบทแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ผู้ฟังจึงเห็นภาพชัดเจน ถึงผลลัพธ์ที่ได้
21. ช่างฟัง (อย่างลึกซึ้ง) นั่นหมายถึงความตั้งใจเอาใจใส่ต่อการฟัง เมื่อฟังจบสามารถคิด จินตนาการสิ่งที่ได้ฟังเป็นแกๆ มีภาพในหัว ชนิดที่เรียกว่า in ไปกับเรื่องที่ได้ฟัง ซึ่งจะทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในหน่วยงาน เกิดความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจกันยิ่งขึ้น
22. ช่างซัก (ถาม) การถามเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ การตั้งคำถามเพื่อสืบค้นเรื่องราว จะกลายเป็นความรู้ฝังลึก ที่อยู่ในตัวคน และสามารถดึงสิ่งเหล่านั้นออกมาต่อยอดได้ แต่ไม่ควรถามด้วยคำว่า “ทำไม” แต่ควรเป็น “อะไร” “สิ่งใด” แทน เพราะผุ้ตอบจะสบายใจกว่า
23. ช่างเขียน (บันทึก) การเขียนนอกจากจะช่วยจำแล้ว ยังทำให้เรียบเรียงความคิดได้เป็นระบบ ทำให้คิดทบทวน ไตร่ตรอง มากขึ้น เกิดความลุ่มลึก ลึกซึ้งมากขึ้น
24. ช่างเก็บ (บทเรียน) เก็บในที่นี้หมายถึงเก็บสั่งสมประสบการณ์ไว้  เพราะเราสามารถศึกษาจากสิ่งที่สั่งสมมานั้นแล้สต่อยอดทางความคิดได้ โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์
25. ช่างทบทวน (ตนเอง) โดยทุกคนควรให้เวลาตนเองในการทบทวนเรียนรู้ กรทำงานสม่ำเสมอ ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก โดยอาจ ใช้เพียงคำถามสั้นๆ Feelings/Findings การเริ่มที่ “รู้สึกอย่างไร” จะคิดได้ง่ายตอบได้ง่าย และเมื่อถาม Findings จะเป็นการยกระดับควมคิดได้เรียนรู้ในตัวตนของแต่ละคน โดยคำถามทบทวนนี้ ควรทบทวนเป้าหมาย อะไรที่ได้มากเกินเป้าหมาย เพราะอะไร อะไรที่ได้น้อยเพราอะไร หากมีกิจกรรมลักษณะนี้อีก จะปรับปรุงหรือเพิ่งเติมอะไรบ้าง
 
เป็นอย่างไรบ้างคะเพื่อนๆ อ่านมาครบ 25 ข้อแล้ว
ในฐานะที่ห้องสมุด เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ประเภทหนึ่ง
หากเรามีช่างที่มีทักษะ 25 ด้านมาทำงานร่วมกัน
หากเราเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สำรวจตัวเอง
ว่ามีทักษะใดบ้างที่จะสนับสนุนการทำงานขององค์กร
คิดว่าทุกๆ คนจะต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 1 ด้าน
ที่สามารถนำมาร่วมกันสร้าง “วิสัยทัศน์ร่วม”
นำพาองค์กรเข้าสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ไม่ยากนัก
ทั้งนี้ ทุกคนล้วนมีส่วนสำคัญในการรับรู้เรื่องราวต่างๆ
ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร
โดยจำเป็นต้องมีสัดส่วนความรู้ฝังลึกและความรู้ชัดแจ้งร้อยละ 80/20
อันจะทำให้สามารถถ่ายทอดองค์รู้ในตัวตนออกมาได้อย่างชัดแจ้ง
และต้องนำการเรียนรู้ไปปรับใช้ในองค์กร
โดยเมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว ต้องเรียนรู้จากกระบวนการที่ปฏิบัติ
ผลของการปฏิบัติ และพร้อมที่จะนำมาพัฒนา ปรับปรุง
ปรับเปลี่ยนองค์กรไปตามยุคสมัยให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร