อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ในวันนี้

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่มีผู้เขียนได้มีโอกาสไปเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลสิงห์ อำเภอไทยโยค จังหวัดกาญจนบุรี
 
         
 
ข้อมูลจากแผ่นพับที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แจกให้กับนักท่องเที่ยว ทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ว่า ปราสาทเมืองสิงห์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เรียกว่า อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 มีพื้นที่ประมาณ 641 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา ในปี 2517 กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะ แล้วเสร็จและทำพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2530
 
          
 
ปราสาทเมืองสิงห์ตั้งอยู่ในเมืองโบราณที่เรียกว่า “เมืองสิงห์” มีคูเมือง คันดิน และกำแพงเมืองศิลาแลงล้อมรอบ สร้างขึ้นตามลักษณะขอมแบบบายน ราวพุทธศตวรรษที่ 18 หรือตรงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชของอาณาจักรขอม ประเทศกัมพูชา มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีกำแพงล้อมรอบ 8 ชั้น เป็นกำแพงดิน 7 ชั้น ส่วนกำแพงชั้นที่ 8 หรือกำแพงชั้นในก่อด้วยศิลาแลง ภายในเมืองปรากฏซากโบราณสถานหลายแห่งที่สำคัญ คือ ปราสาทประธานก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ภายในระเบียงคดและมีโคปุระ (ซุ้มประตู) ทั้ง 4 ทิศ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมได้มาจากอิทธิพลศิลปะขอมแบบบายน ภายในปราสาทได้ขุดพบรูปเคารพหินทราย รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี นางปรัชญาปารมิตา พระพุทธนาคปรก อันเป็นรูปเคารพในคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และพบหลุมฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ทางทิศใต้ติดกับลำน้ำแควน้อย ซึ่งในหลุมศพจะพบภาชนะสำริด เครื่องมือเหล็ก ภาชนะดินเผา เครื่องประดับจากเปลือกหอย ลุกปัดหินอาเกตและคาร์เนเลี่ยน และลูกปัดแก้วฝังรวมอยู่ด้วย
 
           
 
ศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบขอมที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นต้น แต่ปราสาทเมืองสิงห์เป็นโบราณสถานเพียงแห่งเดียวที่มีสถาปัตยกรรมแบบขอมที่ตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในภาคตะวันตกของประเทศไทย ภายในปราสาทจะพบว่ามีช่องประตูทั้งสี่ทิศซึ่งสามารถมองผ่านถึงกันได้ โดยมีรูปเคารพตั้งอยู่ตรงกลาง 
 
          
 
        
                  
ในส่วนที่เป็นห้องจัดแสดงจะมีการแสดงรูปจำลองของเทวรูปต่าง ๆ ชิ้นส่วนเครื่องมือเครื่องใช้ที่ขุดพบ  ส่วนของจริงจะเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร
 
     
 
ภายในระยะเวลาประมาณ 30 ปีมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์หลายครั้ง ได้เห็นพัฒนาการของการดูแลรักษาอุทยานฯ ซึ่งปราสาทก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อย ๆ คือ การดูแลรักษาสถานที่ให้ดูร่มรื่น สวยงาม สะอาดตา มีต้นไม้เขียวชะอุ่ม ร่มรื่น มีสถานที่จอดรถสะดวกสบาย มีห้องน้ำสะอาด มีร้านอาหารและเครื่องดื่มไว้คอยบริการ มีถังขยะที่แยกชนิดของขยะ และมีป้าย QR Code ที่แนะนำประวัติศาสตร์และสถานที่ต่าง ๆ ในอุทยานแห่งนี้ ซึ่งมีหลายภาษาทั้งภาษาไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และญี่ปุ่น ทำให้เสมือนมีไกด์ประจำตัวให้กับนักท่องเที่ยว 
 
        
 
อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไป-กลับได้ภายในวันเดียว หรือจะพักค้างคืนที่จังหวัดกาญจนบุรีเพื่อท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้เคียงกันอีกหลายแห่ง

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร