Artists' Books = หนังสือศิลปิน : มุมของวัตถุศิลปะกับศิลปวัตถุ

วาระเรื่องพิจารณาของการประชุมคณะกรรมการประจำเดือนของสำนักหอสมุดกลาง ในวันที่ 20 เมษายน 2559 พี่อุ๊ย ดารารัตน์ จุฬาพันธุ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เสนอว่า หอสมุด สาขาวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง จะจัดกิจกรรม Artist’s Books โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง (ตำแหน่งทางวิชาการปัจจุบัน ศาสตราจารย์) เป็นที่ปรึกษา โดยให้ความเห็นเพิ่มว่าปัจจุบันประเทศไทยไม่มีหน่วยงานใดจัดกิจกรรมนี้ การจัดงานจะเชิญศิลปินที่เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมประมาณ 50 คน เสร็จสิ้นงานครั้งนี้ หอสมุดฯจะขอผลงานเก็บไว้เป็นคอลเลคชั่นพิเศษ
 
ดิฉันกระซิบถามว่า คืออะไร เพราะเป็นคำศัพท์ใหม่ของชีวิต เพราะรู้จักแต่สารพัดหนังสือทำมือ และ Scrapbook คำตอบที่ได้ฟัง สรุปได้ว่าเป็นเรื่องน่าสนุกๆ ที่แวดวงห้องสมุดจะได้มีอะไรใหม่ๆ เก๋ๆ เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลดีทั้งองค์กรและวงการ  เวลาผ่านไปๆๆ พร้อมๆ รายงานกับความก้าวหน้าของโครงการในที่ประชุมแต่ละเดือนๆ การเกิดใดๆ ในโลกนี้ที่เป็นความร่วมแรงและร่วมใจคือความงดงามและเป็นประสบการณ์ที่ดีของชีวิต แม้จะอยู่ห่างๆแต่ก็สัมผัสได้
 
สรุปเบ็ดเสร็จว่าการทำงานครั้งนี้เจ้าภาพคือ สำนักหอสมุดกลาง และหอศิลป์ โดยมีและกัลยาณมิตรคือ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และศิลปินทั้ง 39 ท่าน ที่ต่างเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของมหาวิทยาลัยศิลปากร เดิมตัวเลขคือ 40 ท่าน แต่เป็นเรื่องที่น่าใจหายคือศาสตราจารย์เมธีนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ ได้สิ้นไปเสียก่อน
 
ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมัตร ได้ให้คำจำกัดความและคำอธิบายในหนังสือสูจิบัตรนิทรรศการ หน้า 18-19 ไว้ว่า
 

 
หนังสือศิลปิน  เป็นงานสร้างสรรค์ของศิลปินร่วมสมัยโดยอาศัยสาระจากความเป็นหนังสือมาสร้างเป็นวัตถุศิลปะ โดยมิใช่มีจุดมุ่งหมายที่ใช้เพื่อการอ่าน แต่เป็นเพื่อการดู และการกระตุ้นความคิดบางอย่างจากหนังสือ แม้หนังสือศิลปิน เป็นการแสดงออกของผู้สร้างสรรค์ หากแต่อยู่ในกรอบความหมายและรูปแบบของหนังสือ ซึ่งอาจแยกลักษณะการแสดงออกได้ 4 หัวข้อคือ
1) แสดงออกด้วยแนวคิดที่เชื่อมโยงไปถึงงานวรรณกรรม งานตัวอักษร และสาระจากหนังสือ โดยใช้สิ่งเหล่านี้เป็นแนวคิดสร้างสรรค์โดยไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบของหนังสือก็ได้
2) การแสดงออกด้วยการใช้จินตนาการ อารมณ์และความรู้สึก หนังสือศิลปินบางแล่มจึงอาจให้ความรู้สึกที่อบอุ่น ความรู้สึกสงบ ความรู้สึกรุนแรงก้าวร้าว ซึ่งเป็นความรู้สึกผ่านการสัมผัสด้วยการมองเห็นเพียงรูปร่างของหนังสือที่เป็นศิลปวัตถุเท่านั้น แต่ไม่ใช่หนังสือที่เปิดอ่านได้
3) แสดงออกด้วยการแสดงออก หรือการกระทำ ศิลปินผู้สร้างผลงานอาจแสดงออกด้วยการกระทำใดๆ เพื่อให้เกิดผลลัพท์ในทางศิลปะ บางครั้งผ่านการกระทำอันนุ่มนวลด้วยการเย็บปักถักทอ ประดิดประดอย หรือบางครั้งอาจเป็นการทำลายด้วยการทุบ ฉีก ตัด หั่น เผา ด้วยลักษณะที่รุนแรง
4) การแสดงออกด้วยสุนทรียะและความงาม เป็นการนำเสนอด้วยการใช้บทบาทของศิลปะให้ทำงานอย่างเต็มที่ ด้วยการประกอบกันของวัสดุต่างๆ สมบูรณ์ด้วยความงาม ใช้การประสานกันของทัศนธาตุ หรือ visual elements หรือการใช้สื่อผสมอื่นๆ ผ่านการรับรู้ด้วยอายาตนะ เช่น เสียง เสียงคนตรี กลิ่น และองค์ประกอบของการจัดวาง 
 
นิทรรศการนี้แสดงไปแล้วตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม-10 กันยายน 2560 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ดิฉันมีโอกาสเข้าไปร่วมงานในพิธีเปิดคือ 30 สิงหาคม 2560 เวลา 18.00 น. โดยมีนายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านอธิการบดี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและศิลปินเจ้าของผลงาน ที่หลายท่านมาตั้งแต่บ่ายแก่ๆ และกลับเกือบถึงเวลาปิดคือสามทุ่ม
 

ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านอธิการบดี         ผู้บริหารและศิลปิน (ขอบคุณภาพจากสำนักหอสมุดกลาง)

มีศิลปินบางท่านที่รู้จักเป็นส่วนตัวจึงสนทนาปราศัย บอกว่าดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งของงาน เป็น 1 ใน 39 ที่เป็นประวัติศาสตร์ทางด้านศิลปะและประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร และก็ไม่รู้ว่าจะมีครั้งที่ 2 อีกเมื่อใด   🙂 ปรบมือรัวๆ
 
ศิลปินต่างยืนให้คำอธิบายถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานกับผู้ชมงานโดยไม่เหน็ดเหนื่อยหรืออ่อนแรง รวมถึงแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน ส่วนดิฉันจึงรู้สึกสนุกสนานกับการคุยกับที่อยู่ในต่างสาขา เพราะมีความเชื่อตลอดเวลาว่าบทสทนาจะช่วยเพิ่มพูนสติปัญญา และโอกาสแบบนี้ใช่ว่าหาได้ง่ายในชีวิต เพราะปรกติเวลาไปดูงานศิลปะ มักต้องยืนเงียบๆ เชียบๆ อยู่กับตัวเองแล้วอ่านเอกสารในมือ ที่บางครั้งแม้จะอ่านมากกว่า 10 ครั้ง ก็ยังต้องยอมแพ้และวางความไม่เข้าใจไว้ตรงนั้น

 
เนื่องจากงานนี้เป็นผลงานเกิดจากศิลปินจำนวน 39 ท่าน ที่ต่างมีความถนัดในการสร้างชิ้นงานต่างกัน มีแนวคิดของการสร้างสรรค์ที่ต่างกัน เมื่อกลับมาจึงต้องใช้เวลาทบทวน ดูรูปซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อคิดตามและทำความเข้าใจให้กับตัวเองอีกครั้ง นำไปเป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวเองในการคิดงานในภารกิจหลักที่รับผิดชอบ
 
ย้อนมาที่ห้องสมุด
ในวงการหนังสือหลายคนบอกว่าอีบุ๊คส์จะมาแทนที่หนังสือเล่ม แต่หลายคนบอกว่า “ไม่” โดยมีการมองว่าหนังสือโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีการผลิตแบบเก่าเป็น “ศิลปวัตถุ”
 
Gerhard Steidl เจ้าของสำนักพิมพ์ Steid บอกว่า อุตสาหกรรมการพิมพ์ในตอนนี้ขาดแรงกระตุ้นในการพัฒนา โรงพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ที่ไม่มีความรู้ด้านกรรมวิธีผลิตหนังสือที่มีรูปเล่ม สวยงามและเก็บรักษาได้นานควรจะเลิกตีพิมพ์และหันมาเผยแพร่ผลงานบนอินเทอร์เน็ตแทน เพราะถ้าจะผลิตแบบตีพิมพ์แล้ว หนังสือต้องมีคุณภาพที่ดีเป็นประกัน นอกเหนือจากตัวนักเขียนหรือศิลปินเองแล้ว นักออกแบบ คนปรับแต่งภาพ โรงพิมพ์และผู้เย็บเล่มจะต้องลงทุนลงแรงเพื่อที่จะผลิตหนังสือให้เก็บรักษา ได้นาน พูดง่าย ๆ ก็คือ ผู้ที่เลือกซื้อหนังสือแบบตีพิมพ์จะต้องได้รับศิลปวัตถุซึ่งสามารถเก็บอยู่ ในห้องสมุดแม้ในอีก 100 – 200 ปีข้างหน้าโดยไม่เสื่อมสภาพ หนังสือที่เราซื้อจะต้องสามารถเก็บรักษาและส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้เหมือนกับ นาฬิกาข้อมือหรู ๆ ในขณะที่หนังสือสำหรับอ่านเล่นตอนเดินทางผมสามารถดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ตได้ไม่จำเป็นที่จะต้องตีพิมพ์ (https://www.goethe.de/ins/th/th/kul/mag/20560098.html)
 
เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2560 มีงานเก๋ๆ ชื่อ The Art Book Makers : Examining the Current Local & International Art Book Landscape ที่ที่บางกอก ซิตี้ แกลเลอรี่ ทำให้มีโอกาสได้อ่านความเห็นที่จับใจของ โอ๊ต มณเฑียร ศิลปิน นักวาดภาพประกอบและนักเขียน ที่บอกว่า “หนังสือ คือ ศิลปะ ไม่ว่าจะมองในบริบทของ ตัวอักษรและวิธีการเล่าเรื่อง ภาพประกอบ ประวัติศาสตร์ ดีไซน์ประสบการณ์การอ่าน ไปจนถึงลักษณะกายภาพของตัวรูปเล่มเอง ทำให้เราสามารถสร้างงานศิลปะจากหนังสือได้ในหลายมิติ นี่แหละคือเสน่ห์และความสนุกในการทำงานสร้างสรรค์กับสิ่งมหัศจรรย์ที่เรียกว่าหนังสือ ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือการเติบโตของ Book Arts ที่กำลังกบฏสวนกระแสโลกดิจิตัลในปัจจุบัน” จาก https://th.eventbu.com/bangkok/the-art-book-makers-examining-the-current-local-international-art-book-landscape/1924324
 
ล่าสุดแบบสดๆร้อนๆ a day online ฉบับเมื่อวาน 31 สิงหาคม 2560 โดยสุวัลญา ศักดิ์สมบัติ ได้เล่าเรื่องหนังสือของสำนักพิมพ์ Tara books ที่พิมพ์หนังสือด้วยมือ “พวกเราละเอียดอ่อนกับทุกรายละเอียด เพราะเรามองมันไปไกลกว่าการเป็นแค่หนังสือไว้อ่าน แต่มันคืองานศิลปะในรูปแบบที่เปิดได้” (http://www.adaymagazine.com/articles/place-27) ดิฉันผู้มีบล็อกไม้จากอินเดียอยู่ในครอบครองเห็นแล้ว “อิน” จนอยากจะทำบ้าง แต่คงต้องเริ่มทำใจให้สงบแล้วไปเรียนเย็บเล่มกับลุงมานิตย์ก่อน และหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องไปให้ได้ บอกผู้เขียนที่บังเอิญเป็นเพื่อนออนไลน์ว่าจัดทัวร์เหอะน้อง!!! ดูผลงานของ Tara books ได้ที่นี่ค่ะ https://tarabooks.com/
 
สุดท้ายได้ฟังเสียงของ “คำผกา” จากรายการ inherview บอกว่า “ใครๆ ก็บอกว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย หนังสือและกระดาษจะหายไปในอนาคต? แท้จริงแล้วหนังสือไม่ได้หายไปไหน แต่กำลังจะกลายเป็น “ศิลปวัตถุ” ที่ควรค่าแก่การสะสม จัดทำขึ้นมาอย่างปราณีตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ได้มีไว้เพื่ออ่านอีกต่อไป มีไว้เพื่อดูเฉกเช่นศิลปะชิ้นหนึ่ง ในอนาคตอันใกล้ เราจะแสวงหาความรู้จากการอ่านผ่านระบบอินเทอร์เน็ต อ่านทุกสิ่งทุกอย่างผ่านอีบุ๊ค และเทคโนโลยีกำลังพัฒนาไปถึงขั้นที่ว่า ลักษณะการอ่านจะไม่ได้เกิดเพียงลำพัง เราสามารถพิมพ์ตอบโต้กับผู้คนในโลกออนไลน์ที่อ่านไปพร้อมๆกันได้ทันทีในแต่ละวรรค ตอนนี้อุตสาหกรรมการพิมพ์ขาดแรงกระตุ้นในการพัฒนา ตลาดการผลิตหนังสือจะไม่โตไปกว่านี้แล้ว หลายบริษัทเปลี่ยนไปเผยแพร่ในระบบอินเทอร์เน็ตแทน เพราะประหยัดต้นทุนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ต่อไปหนังสือจะกลายเป็นงานแฮนเมดที่มีมูลค่าในเชิงศิลปะ ผลิตขึ้นมาเพื่อสะสมจำนวนจำกัด ไม่ได้มีไว้เพื่ออ่านอีกต่อไป ”  ดูคลิปได้ที่นี่ค่ะ https://www.youtube.com/watch?v=GSFvUKepKnA
 
ดิฉันมองว่าที่สุดแล้วมนุษย์ชอบความละเมียดละไมและหวนหาอดีต สองสามปีก่อนเรารู้จักคำว่า Slow life นำกล้องฟิล์มมาขัดสีฉวีผ่อง เรียนรู้ใหม่อีกครั้ง และไปเรียนการล้างฟิล์มจากคนใน gen ก่อน
 
ขึ้นชื่อว่า “หนังสือ” ทั้งที่ศิลปินสร้างสรรค์เป็น “วัตถุศิลปะ” หรือ “ศิลปวัตถุ” ที่ผู้เกี่ยวข้องหลายคนฝ่ายเพียรพยายามสร้างขึ้น คนทำงานในห้องสมุดอยากเข้าไปทำความรู้จักเสมอ 🙂
 
ส่วนดิฉันเชื่อว่าสุนทรียะของ Artist’s Book ทั้ง 39 เล่ม อาจเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนสร้าง Art Book
 
ขอยิ้มกว้างๆ ให้กับผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศักดิพันธุ์ ตันวิมลรัตน์ ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง คณบดีคณะจิตรกรรมฯ  คุณดารารัตน์ จุฬาพันธุ์ อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และคุณจรินทร์ คิดหมาย หัวหน้าหอสมุดท่าพระ ที่เป็น “สาม” ประสานระหว่าง ศิลปิน-อำนวยการ-ดำเนินงาน ด้วยการสร้างงานดีๆให้เกิดขึ้นและจารึกเป็นอีกหนึ่งหน้าของประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ย้ำความเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์ และก้าวสู่การเป็นนัมเบอร์วันห้องสมุดศิลปะในประเทศไทย  😀
 
ส่วนดิฉันในฐานะท่านผู้ชมขอจบตอนที่หนึ่งด้วยผลงานของ รองศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ งามเชื้อชิต กับผลงานชื่อ Is Everything โดยใช้เทคนิคเป็น เครื่องเงิน กระดาษ ไม้แอช และอะคริลิก
Is Everything
                  “ความรู้คู่ชีวิต แต่งงานกับความรู้”
                (ขอบคุณภาพจากหอสมุดวังท่าพระ)

 
เป็นอะไรที่โรแมนติคมาก ด้วยอิทธิพลของความงามของศิลปะและการทำงานในห้องสมุด ทำให้ดิฉันรู้สึกเขินอาย ประหนึ่งมีหนุ่มมาขอมอบแหวาน 😉 คงจะดีไม่น้อยหากเราทำแหวนแบบนี้เป็นที่ระลึกจำหน่ายเป็นรายได้ของหน่วยงาน
 
สำหรับท่านผู้อ่านหาโอกาสไปชมกันนะคะเพราะหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เดินทางไม่ยาก อยู่กลางกรุงในย่านหรู และคาดว่าอีกไม่นานนิทรรศการนี้ก็จะแวะเวียนมาจัดที่หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์
 
ตอนต่อไปจะทยอยเขียนถึงหนังสือทั้ง 39 เล่มในมุมของตนเอง คาดว่าถ้าปีนี้ไม่เขียนเรื่องอื่น ดิฉันคงต้องเขียนอีก 39 เรื่อง
ไม่มีอะไรก็แค่อยากบอกต่อ  😉
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร