การพัฒนาความสามารถของบุคลากรด้วยการมอบหมายโครงการ

“องค์กร” ทั้งภาครัฐและเอกชน จะเป็นที่รวมของ “คน” หรือ “บุคลากร” ที่ต้องทำงานเพื่อขับเคลื่อนองค์กร โดยแต่ละคนจะมีบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ และความรู้ความสามารถที่แตกต่างกันไป
ในสังคมแห่งการแข่งขันเช่นปัจจุบัน องค์กรจำเป็นต้องหาวิธีที่จะทำให้คนในองค์กรใช้ศักยภาพหรือความรู้ความสามารถที่มี มาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร ถือเป็นการสร้าง “ทุนมนุษย์” ให้มีความพร้อมที่จะแข่งขันกับคู่แข่งและสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขันได้ตลอดเวลาและทุกสถานการณ์ เพื่อทำให้องค์กรอยู่รอดในสังคมแห่งการแข่งขันเช่นนี้
การพัฒนาบุคลากรจึงเป็นวิธีที่จะเพิ่มศักยภาพ ความรู้ความสามารถของคน การพัฒนาจำเป็นต้องสร้างความรู้ความสามารถไปในแนวทางที่องค์กรต้องการ ให้เป็นไปตามภารกิจขององค์กร เหมาะสมกับงานที่บุคลากรทำ และส่งเสริมให้บุคลากรเติบโตในสายอาชีพหรือตาม Career Path ของตนเอง ดังนั้น องค์กรจึงต้องจัดทำ Training  Roadmap หรือเส้นทางการฝึกอบรม เพื่อวางแผนในการพัฒนาและฝึกอบรมในระยะยาวให้กับบุคลากรตามความสามารถ เพื่อรองรับความก้าวหน้าไปกับองค์กรในอนาคต
นอกจากนี้องค์กรต้องจัดทำแผนพัฒนารายบุคคล หรือ Individual Development Plan หรือ IDP เพื่อเป็นกรอบหรือแนวทางที่จะช่วยให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานได้บรรลุตามเป้าหมายในสายอาชีพของตน
เครื่องมือในการพัฒนาบุคลากรมีหลายประเภท เช่น การฝึกอบรมที่องค์กรจัดขึ้นเอง การส่งบุคลากรไปฝึกอบรมยังหน่วยงานภายนอก การฝึกอบรมในขณะทำงาน การสอนงาน โปรแกรมพี่เลี้ยง การเพิ่มปริมาณงาน การหมุนเวียนงาน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเป็นวิทยากรภายใน การฝึกงานกับผู้เชี่ยวชาญ การดูงานนอกสถานที่ การให้ทุนการศึกษา การมอบหมายโครงการ เป็นต้น
การพัฒนาบุคลากรด้วยการมอบหมายโครงการ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ โดยอาจมอบหมายโครงการเล็ก ๆ ให้ทำเป็นรายบุคคล หรือเป็นโครงการใหญ่ซึ่งต้องทำเป็นกลุ่ม โครงการที่มอบหมายต้องไม่เป็นงานประจำ แต่เป็นงานที่จำเป็นต้องทำนอกเหนือจากงานประจำเพื่อทำสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น หรือพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น หรือแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ให้หมดไป
เมื่อได้รับมอบหมายให้จัดทำโครงการ บุคลากรที่ได้รับมอบหมายจะต้องมีการวางแผน โดยศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึง กลยุทธ์ วิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมาย นโยบายขององค์กร เพื่อนำเสนอโครงการให้เป็นไปตามแนวทางที่องค์กรต้องการ คุ้มค่ากับการลงทุนทั้งด้านงบประมาณ กำลังคน เวลา และก่อประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร
การเขียนโครงการเพื่อนำเสนอขออนุมัติจากองค์กรนั้น จะต้องมีรายละเอียด เนื้อหาสาระครบถ้วน ชัดเจน และจำเพาะเจาะจง โดยโครงการที่ดีจะต้องสามารถตอบคำถามตามรายละเอียดพื้นฐานที่มีในโครงการดังนี้ (อธิปัตย์ คลี่สุนทร : 2556)
1.  ชื่อโครงการ =  โครงการอะไร
2.  หลักการและเหตุผล =  ทำไมต้องริเริ่มโครงการ
3.  วัตถุประสงค์ =  ทำเพื่ออะไร
4.  เป้าหมาย =  ปริมาณที่จะทำเท่าไร
5.  วิธีดำเนินการหรือกิจกรรม =  ทำอย่างไร
6.  ระยะเวลาดำเนินการ =  จะทำเมื่อไร นานเท่าใด
7.  งบประมาณ แหล่งที่มา =  ใช้ทรัพยากรเท่าไรและได้มาจากไหน
8.  ผู้รับผิดชอบโครงการ =  ใครทำ
9.  สถานที่ดำเนินการ =  ทำที่ไหน
10. หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน = ต้องประสานงานกับใคร
11. การประเมินผล =  บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่
12. ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ = เมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้วจะได้อะไร
เมื่อได้รับอนุมัติให้จัดทำโครงการแล้ว บุคลากรที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำโครงการจะต้องดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จตามเวลาที่กำหนด และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า
การมอบหมายโครงการจึงเป็นเครื่องมือในการฝึกทักษะในการทำงานสายอาชีพของตนเอง และพัฒนาทักษะทางการบริหารจัดการ เนื่องจากในการจัดทำโครงการให้ประสบผลสำเร็จนั้น ผู้จัดทำโครงการจะต้องมีการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้รอบด้าน มีการวางแผนในการดำเนินงานทั้งก่อนเริ่มโครงการ ระหว่างจัดทำโครงการ จนถึงการตรวจสอบ ติดตามและรายงานผลโครงการ ต้องบริหารงบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ ให้คุ้มค่ากับการลงทุนในโครงการ ต้องมีการสร้างทีมงานที่ต้องทำงานร่วมกัน มีการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น มีการตัดสินใจในด้านต่าง ๆ หากเกิดความขัดแย้งขึ้นก็จะต้องแก้ไขให้ผ่านไปด้วยดี และมีการแสดงความเป็นผู้นำ ดังนั้นการมอบหมายโครงการจึงมักนำมาใช้ในการค้นหาบุคลากรดาวเด่น การเลื่อนตำแหน่ง หรือการหาผู้สืบทอดทายาทตำแหน่งงาน

บรรณานุกรม

ชัชวาล  อรวงศ์ศุภทัต.  (2552).  การพัฒนาบุคลากรด้วย Project Assignment.  [ออนไลน์].  จาก  http://www.tpa.or.th/writer/read_this_book_topic.php?bookID=1434&read=true&count=true.  วันที่ค้นข้อมูล 28 มกราคม 2560.
ธำรงศักดิ์  คงคาสวัสดิ์.  (2551).  Training Roadmap ตาม Competency…เขาทำกันอย่างไร.  กรุงเทพฯ : สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น).
อธิปัตย์  คลี่สุนทร.  (2556).  การเขียนโครงการ : จากแนวคิดไปสู่การปฏิบัติ = Project Writing : From idea into Practice.  [ออนไลน์].  จาก http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32184&Key=news_research.  วันที่ค้นข้อมูล 28 มกราคม 2560.
อาภรณ์  ภู่วิทยพันธุ์.  (2552). การจัดการแผนพัฒนาบุคลากรรายบุคคล = Individual development Plan.  กรุงเทพฯ : เอช อาร์ เซ็นเตอร์.

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร