ประโยชน์มหัศจรรย์ ขิง

ขิง
ศาสตร์การดูแลสุขภาพของคนสมัยก่อนต่างสืบทอดกันมาว่า หากกินขิงทุกวันแล้ว ร่างกายจะแข็งแรง ไม่มีโรคภัย เพราะขิงช่วยปรับสมดุลธาตุได้อย่างดี การแพทย์แผนปัจจุบันในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศเมืองหนาว ใช้ขิงเป็นยาฟื้นฟูร่างกาย เช่น ในประเทศญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ในทุกวันนี้เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า “ขิง” เป็นสมุนไพรครอบจักรวาล
ทำความรู้จักกับพืชชื่อ “ขิง”
ขิงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber officinale Rosc. จัดอยู่ในวงศ์ ZINGIBERACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นพืชล้มลุก มีลักษณะเป็นกอสูงประมาณ 90 cm ก้านใบเป็นกาบหุ้มซ้อนกัน จัดเป็นพืชตระกูลเดียวกับข่า ขมิ้น กระวาน เร่ว มีลำต้นใต้ดินซึ่งมีลักษณะคล้ายฝ่ามือ เรียกว่า “เหง้า” เปลือกเหง้ามีสีน้ำตาลอ่อนแกมเหลือง เนื้อมีสีเหลืองอมเขียว มีรสเผ็ดและกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
สรรพคุณทางยา
ราก รสหวาน ขม เผ็ดร้อน ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ลม แก้บิด และช่วยเจริญอาหาร
เหง้า รสหวาน เผ็ดร้อน ใช้ขับลม แก้ท้องอืด จุดเสียดแน่นเฟ้อ บรรเทาอาการคลื่นไส้
ต้น รสเผ็ดร้อน แก้จุกเสียด ขับลม แก้ท้องเสียและท้องร่วง
ใบ รสเผ็ดร้อน แก้นิ่ว แก้ขัดปัสสาวะ และใช้ฆ่าพยาธิได้
ดอก รสเผ็ดร้อน แก้ขัดปัสสาวะ ช่วยย่อยอาหาร
ผล มีสรรพคุณบำรุงน้ำนม แก้คอแห้ง แก้อาการระคายคอ เจ็บคอ แก้ไข้   ขิงแก้ปัญหาระบบย่อยอาหาร ความอุ่นของขิงช่วยกระตุ้นการเกิดพลังต่าง ๆ ที่สำคัญของร่างกาย จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้คนสมัยนี้ที่ใช้ชีวิตอยู่แต่ในห้องปรับอากาศ ไม่ค่อยได้เดินเหินไปไหน และไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมากนัก จึงทำให้ระบบย่อยอาหารหรือท้องไส้ไม่ได้รับการเคลื่อนไหว น้ำมันหอมระเหยในขิงมีคุณสมบัติแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย นอกจากนี้ขิงยังมีฤทธิ์ยับยั้งกรดในกระเพาะอาหาร เสริมสร้างความแข็งแรงและรักษาแผลในกระเพาะอาหารบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นได้
ขิงดูแลหัวใจและหลอดเลือด
ผลต่อการทำงานของหัวใจ เนื่องจากการกินขิงช่วยเผาผลาญคอเลสตอรอล จึงส่งผลดีต่อการทำงานของหัวใจ เพราะเมื่อคอเลสตอรอลลดลง หัวใจจะบีบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ขิงยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันตัวร้ายหรือแอลดีแอล (LDL) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดแข็ง
ขิงต้านไมเกรน
ในอังกฤษใช้ขิงรักษาอาการปวดศีรษะทั้งชนิดสองข้างและข้างเดียว เพราะสารที่อยู่ในขิงจะสามารถปรับระดับสารกึ่งฮอร์โมนที่เรียกกันว่า ไอโคซานอยด์ (Eicosanoid) ทำให้อาการปวดศีรษะบรรเทาลง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยหนึ่งที่รายงานว่าขิงสามารถช่วยลดอาการไมเกรนได้ เพราะขิงมีสารที่ต้านการอักเสบของหลอดเลือด ต้านการหลั่งสารโพรสตาแกลนดินที่ทำให้เกิดอาการปวด ทั้งยังช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
ถ้าอย่างนั้นการรับประทาน “ขิงอ่อน” หรือ “ขิงแก่” แบบไหนดีกว่ากัน
ขิงอ่อน มีสรรพคุณในการเจริญธาตุ แก้ไข้ บรรเทาปวด แก้คลื่นไส้ อาเจียน แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย แก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย
ขิงแก่ จะมีปริมาณของสารโอลีโอเรซิน (Oleoresin) ในปริมาณที่สูง ซึ่งเป็นสารที่ช่วยเพิ่มรสเผ็ดร้อนในขิง ทั้งยังมีกลิ่นหอมมากกว่าขิงอ่อน ขิงแก่นอกจากจะมีสรรพคุณแก้อาการพะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย ช่วยขับลมในกระเพาะอาหารแล้ว ยังมีฤทธิ์บรรเทาปวดกล้ามเนื้อและยับยั้งการอักเสบของข้อต่อได้เป็นอย่างดี
นอกจากขิงจะมีประโยชน์ในด้านสุขภาพแล้ว ยังใช้เกี่ยวกับเรื่องความสวยความงาม และการลดน้ำหนักได้อีกด้วย เนื่องจากขิงเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน การดื่มน้ำขิงจะทำให้ร่างกายได้รับความร้อน ช่วยให้การเผาผลาญพลังงานของร่างกายดีขึ้น ส่งผลให้การเผาผลาญไขมันส่วนเกินทำงานได้ดีด้วย โดยควรดื่มน้ำขิงช่วงเช้า เวลาตี 5 ถึง 6 โมงเช้า เพราะเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสำหรับการดื่มน้ำขิงที่สุด หลังจากดื่มร่างกายก็จะเตรียมเผาผลาญไขมันต่อไป ดังนั้นการดื่มน้ำขิงจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร