ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเราเอง

หากจะมองดูผู้คนรอบตัวเรา เราจะพบว่าบางคนประสบความเร็จในชีวิตทุกด้าน ทั้งหน้าที่การงาน มีฐานะที่เป็นปึกแผ่น มีครอบครัวที่อบอุ่น มีหน้ามีตาเป็นที่นับถือในสังคม แต่บางคนไม่เป็นเช่นนั้น แล้วความสำเร็จเกิดจากอะไร… มีนักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวว่า ความสำเร็จของคนเราไม่ได้เกิดจากการรอโอกาส หรือฉวยโอกาสของคนอื่น แต่ความสำเร็จของเราจะต้องเกิดจากการแสวงหาโอกาส และพยายามเติมเต็มในจุดบกพร่องของตนเอง”
ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้เราประสบผลสำเร็จได้จึงขึ้นอยู่กับตัวเราหรืออุปนิสัยของเรานั่นเอง ซึ่ง Stephen R. Covey ได้กล่าวไว้ในหนังสือ The 7 Habits of Highly Effective People ว่า “อุปนิสัย” เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างความรู้ ทักษะ และความปรารถนา (ความต้องการ) เข้าด้วยกัน โดย 7 อุปนิสัยที่จะพัฒนาสู่ผู้มีประสิทธิผลสูง ประกอบด้วย

  1. Be Proactive ต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อน เป็นผู้มีความคิดริเริ่ม ทำตามหลักการและคุณค่า มากกว่าจะทำตามอารมณ์และเงื่อนไขข้อแม้ต่าง ๆ
  2. Begin with the End in Mind เริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ ด้วยการสร้างภาพโครงการในใจ ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหญ่หรือเล็ก ทำโดยลำพังหรือทำร่วมกับคนอื่น เพื่อให้ทราบจุดหมายที่จะไปให้ถึง และสามารถกำหนดทิศทางชีวิตได้
  3. Put First Things First ทำตามลำดับความสำคัญ โดยจัดระเบียบและปฏิบัติตามลำดับความสำคัญ ไม่ทำตามความเร่งด่วนและแรงผลักดันโดยรอบตัว
  4. Think Win-Win คิดแบบชนะ/ชนะ เป็นความรู้สึกที่มุ่งประโยชน์ร่วมกันและเคารพซึ่งกันและกัน
  5. Seek First to Understand, Then to be Understood เข้าใจคนอื่น ก่อนจะให้คนอื่นเข้าใจเรา เมื่อเราตั้งใจฟังเพื่อเข้าใจผู้อื่น มากกว่าฟังเพื่อจะตอบ จะทำให้เราได้เริ่มการสื่อสารที่แท้จริง ทำให้เข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น
  6. Synergize ประสานพลัง เป็นการผนึกพลังกันทำงาน ให้ความเคารพนับถือและเห็นคุณค่า ซึ่งกันและกัน เป็นการร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ รวมกันเป็นทีม เพื่อข้อดีเด่นของบางคนจะชดเชยข้ออ่อนด้อยของบางคน วิธีนี้จะทำให้ได้รับประโยชน์สูงสุด มีแต่ข้อดีเด่น และทำให้ข้ออ่อนด้อยของคนแต่ละคนหมดความหมาย
  7. Sharpen the Saw ลับเลื่อยให้คม เป็นการปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ ทั้งด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ สติปัญญา และจิตวิญญาณ เป็นอุปนิสัยที่เพิ่มขีดความสามารถของอุปนิสัยตั้งแต่ 1-6 ข้างต้นโดยสม่ำเสมอ

นอกจากอุปนิสัยทั้งเจ็ดประการข้างต้นแล้ว Stephen R. Covey ได้กล่าวถึงอุปนิสัยที่ 8 ไว้ในหนังสือ The 8th Habit : From Effectiveness to Greatness ซึ่งเป็นอุปนิสัยที่จะทำประสิทธิผลไปสู่ความยิ่งใหญ่ เป็นการกระตุ้นให้คนเราค้นหาศักยภาพที่แฝงอยู่ในตัวเรา โดย Stephen R. Covey เรียกว่า “เสียง” คือ คุณสมบัติเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเปิดเผยให้เป็นที่ประจักษ์ในขณะที่เราเผชิญปัญหาท้าทายอันยิ่งใหญ่ ทำให้เรารับมือกับปัญหาได้ “เสียง” เกิดขึ้น ณ ใจกลางส่วนตัดของวงกลม 4 วง ประกอบด้วย ความสามารถพิเศษ (พรสวรรค์และคุณสมบัติเด่นของตัวเรา) ไฟในการทำงาน (สิ่งที่ให้พลัง กระตุ้นเร้า จูงใจและดลบันดาลใจเรา) ความต้องการ (รวมถึงสิ่งที่โลกต้องการมากพอจะยอมจ่ายเงินให้เรา) และมโนธรรม (เสียงภายในใจที่บอกว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องและกระตุ้นให้เราลงมือกระทำสิ่งที่ถูกต้องดังกล่าว) อีกทั้งยังให้เราบันดาลใจให้ผู้อื่นค้นพบ “เสียง” ภายในตัวเขา ทำให้สามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้ในการบริหารตนเอง รวมทั้งชีวิตครอบครัว และการทำงานเพื่อส่วนรวม
จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของคนเราไม่ได้หามาได้ง่าย ๆ เราต้องมีความเพียรพยายาม ปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ซึ่ง ดร.ชัยเสฏฐ์ พรหมศรี ได้กล่าวไว้ว่า “คนที่อยากประสบความสำเร็จ แต่นอนตื่นสาย ไม่ขยันหาความรู้ ไม่ไปแลกเปลี่ยนความรู้กับบุคคลอื่น ไม่รู้จักสร้างเครือข่ายและสายสัมพันธ์ ไม่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนอื่น ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงตนเอง ก็ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จได้”

บรรณานุกรม

โควีย์, สตีเฟ่น อาร์.  (2548).  อุปนิสัยที่ 8 : จากประสิทธิผลสู่ความยิ่งใหญ่.  แปลจาก The 8th Habit : From Effectiveness to Greatness โดย ดนัย จันทร์เจ้าฉาย.  กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี.
                    .  (2542).  7 อุปนิสัย พัฒนาสู่ผู้มีประสิทธผลสูง.  แปลจาก The 7 Habits of Highly Effective People โดย สงกรานต์ จิตสุทธิภากร และนิรันดร์ เกชาคุปต์.  กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.
ชัยเสฏฐ์ พรหมศรี.  (2551).  Unlock the Secrets of Success ไขความลับ สู่ความสำเร็จ.  กรุงเทพฯ : บิสซี่เดย์.
 

6 thoughts on “ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเราเอง

  • สำหรับที่เป็นจริง พี่ว่าใช่เพียง1 ใน 3 เท่านั้น ยังมีโอกาสที่ได้รับจากผู้เป็นหัวหน้า เพื่อนพ้องน้องพี่. หอสมุดเราชี้ตัวได้เลยว่า ตัวเองส่วนเดียวของสามส่วน นับตั้งแต่ ตัวพี่แมวเอง น้องๆยังบอกว่า… แต่พี่สำนึก ตระหนักตลอดมาว่า พี่มีได้มาจนทุกวันนี้เพราะใคร อะไร อย่างไร อยากให้กลับไปอ่านblock เรื่องโอกาสที่พี่เขียนก่อนเกษียณ ขณะนั้นยังมีอำนาจเต็ม มีสิทธิสั่งการทั้งวาจา และลายลักษณ์อักษร งานหลายอย่างแม้จะพูดด้วยวาจาน้องๆก็ยังทำต่อมาจนทุกวันนี้. เฉพาะอย่างยิ่งงานที่สนับสนุนความก้าวหน้าของบุคลากร พี่ก็ได้ช่วยเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งกับรักษาการหัวหน้าหอสมุด เพื่อได้ช่วยดูแลต่อไป ซึ่งต้องขอบคุณแทนพี่วิรุฬห์ด้วย. ความกัาวหน้าของพี่วิรุฬห์เพื่อขยายฐานเงินเดือนให้สูงขึ้น ไม่ตันเร็ว อีกอย่างก็ทำงานมานานไม่แน่ใจว่า ยี่สิบปีขึ้นไปไหม

  • อยากอ่านเกี่ยวกับอุปนิสัยที่ 8 มานานแล้ว วันนี้ได้รู้โดยไม่ต้องอ่านเอง, THK นะ
    ส่วนอุปนิสัยที่ 8 ที่เรียกว่า ‘เสียง’ ในตัวเราที่ใหญ่ว่า ทำให้นึกถึงเรื่องที่เคยอ่านมาก่อนหน้านี้เรื่องหนึ่ง คือ Salmon สอนคน ที่เจ้าสีเงินใช้เสียงในตัวของมันเป็นแรงผลักดันให้ทำในสิ่งต่าง ๆ ที่มันคิดว่าถูกต้อง และสมควรทำ และเราคิดว่า’เสียง’ ที่ออกคำสั่ง ผลักดันให้คิดทำอะไรนั้นคงจะมีและได้อิทธิพลย้อนกลับไปมากับ DNA ของเจ้าตัวและสิ่งแวดล้อมที่อยู่..ถ้าดูจากพฤติกรรมที่เจ้าสีเงินทำกับฝูงนะ
    และเห็นด้วยกับข้อความสีม่วงในย่อหน้าสุดท้ายว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เครือข่าย สายสัมพันธ์ และน้ำใจ มีผลต่อความสำเร็จที่สวยงาม ตรงกับที่เคยได้ยินอาจารย์ที่นับถือท่านหนึ่งกล่าวในที่ประชุมของอาจารย์ที่มีผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูลต่างประเทศ และนักศึกษาที่คาดหวังว่าจะมีผลงาน ว่า เราจะต้องเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมที่เป็นระดับชาติ ระดับนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยน สั่งสมความรู้ และสร้างเครือข่าย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนา และสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้นในแวดวง

  • เคยมีคนบอกว่าเราต้องสัมมนาบ่อยๆ คนที่บอกเป็นชาวต่างชาติและเป็นคนที่ใช้ชีวิตในเมืองนอกมานานๆๆ
    ฟังไปก็ไม่เข้าใจหรอกว่า “สัมมนา” แบบที่เค้าหมายถึงคืออะไร เพราะ “สัมมนา” แบบที่เราคุ้นเคยกันคือต้องเตรียมการมากมายทั้งสถานที่และอาหาร ซึ่งเผลอๆ กลายเป็นประเด็นหลัก
    แต่พอไปอยู่ที่โน่นจึงเข้าใจว่า “สัมมนา” เช่น สมมุติว่าคนจะทำงานสักชิ้น
    เบื้องแรกคือต้องบอกว่าเราทำอะไรเพื่อประกาศให้เพื่อนรับรู้ เพราะเพื่อนอาจแนะนำแหล่งข้อมูล หรือเพื่อนอาจมีงานที่คล้ายกันจะได้โยงใยสร้างเครือข่ายเสริมเพิ่มเติมให้กันได้ (5 นาที)
    กลางๆหรือท้ายๆ รายงานความก้าวหน้าเพื่อให้คนที่สนใจในเรื่องที่เราทำ บางทีอาจเป็นคนที่เกี่ยวข้อง เข้ามาฟัง วิพากษ์หรือเสนอความคิดเห็น แล้วเราก็นำไปปรับแก้เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์ (1 ชม.)ตรงนี้เป็นอะไรที่คล้ายกับ “สัมมนา”
    สุดท้ายคือรายงานผลและชิ้นงานที่สมบูรณ์ (อันนี้ขึ้นกับตัวเราเอง)

  • อ่านข้อคอมเมนท์ของพี่พัชกับพี่ปองแล้ว ตรงกับความรู้สึกที่ได้รับจากการไป PULINET วิชาการที่เพิ่งจะกลับมาสดๆร้อน เลย การแลกเปลี่ยน เรียนรู้ สายสัมพันธ์และน้ำใจที่ได้จากพี่ๆเพื่อนที่ไปร่วมในงานนี้จากสถาบันต่างที่ให้คำแนะนำ ช่วยเติมเต็มในสิ่งที่เราคิดไว้ บรรยากาศที่พูดคุยกันมีแต่ความเป็นเพื่อน มีการวิพากษ์และเสนอความคิดเห็นแบบพี่ปองว่า แต่ทุกคนก็รับฟังด้วยกัลยาณมิตร เพื่อนำคำวิจารณ์นั้นไปปรับแก้ และพัฒนาในปีหน้า และตรงกับที่พี่ใหญ่ว่า “ความสำเร็จของคนเราไม่ได้หามาได้ง่าย ๆ เราต้องมีความเพียรพยายาม ปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ”

  • เยี่ยมมากทั้งใหญ่ที่เขียน block พัชรี ที่เพิ่มเติมความรู้ให้ชัดแจ้ง เอกอนงค์ที่เล่าจากไป pullinet. กับคำว่า กัลยาณมิตร. ชอบจังคำนี้ เชื่อว่าหอสมุดของเรา ยังคงมีสายสัมพันธ์ นำ้ใจ ความเป็นเพื่อน อยู่มากมาย

  • ขออีกครั้ง พี่นำเรื่องความสำเร็จของใหญ่ไปผูกกับโอกาส จึงเป็นที่มาของคำว่า สั่ง ที่เกี่ยวกับ dna ของพัช พี่จึงนึกขึ้นได้ว่า ผู้มีอำนาจคนหนึ่งในม.เรานี้แหละ ที่เคยให้โอกาสคนย้ายที่เรียนจากประสานมิตรไปจุฬา ถามว่า สั่ง กับมอบหมายต่างกันอย่างไร ไม่เหมือนกันหรือ พี่ตอบว่า ไม่เหมือน สั่งหมายความว่า พี่ต้องทำตาม มอบหมาย พี่ต้องพิจารณาว่า ทำหรือไม่ แต่พี่อาจใช้คำผิดกับคำว่า สั่ง ในเรื่องทำผลงานทางวิชาการเพื่ิอขอกำหนดตำแหน่งให้สูงขึ้น. (ล่าสุด) เห็นทำก็มีวิรุฬห์คนเดียว อีก2 คนยังไม่เสร็จหรือยังไม่ได้ทำ. นี่คงไม่ใช่สั่ง แต่เป็นการแจ้ง. นี่เฉพาะรายก่อนพี่เกษียณ. แต่ได้แจ้งในที่ประชุมวันพฤหัสบดี ให้ใครก็ได้ทำ ตลอดมา. แต่ไม่มีใครทำ ไม่รู้เพราะอะไรก็เป็นสิทธิของเขา. พี่ก็เลยคิดว่า. เขาคงไม่อยากก้าวหน้าละ เอาแค่นี้ก็พอ อยู่อย่างพอเพียง. ซึ่งมันไม่น่าใช่. อยากให้น้องๆทุกคนกลับไปอ่านหนังสือ(ปกสีชมพู) 50 ปีสำนักหอสมุดกลาง เรื่องต้นแบบการสนับสนุน…ที่พี่แมวเขียน อย่างละเอียด นับตั้งแต่ประโยคแรกของเรื่งนะคะ. ขอจงโชคดีทุกคนนะคะ. สำหรับชำนาญการพิเศษทุกคน พี่ถือว่าคุณเก่งมากๆ. ในเรื่องที่คุณชำนาญ (ที่ไม่เก่งเต็มร้อยก็คืิอ การเขียน การนำเสนอ ต้องมีตัวช่วย) ก็เท่านั้นคุณมีคำนี้ติดตัวแล้ว. ที่เคยทุ่มเทงานอย่างไร ทำไปและอาจให้ดีกว่าเดิมนะคะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร