PISA ทำพิษ

สองสามวันนี้ผู้คนในวงการศึกษาและผู้สนใจต่างตกใจ เพราะมีข่าวออกมาว่าการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก Word Economic Forum (WEF) 2013 มีการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาในอาเซียนออกมาพบว่าผลปรากฏว่าในการจัดอันดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และเวียดนาม และตกใจหนักไปอีกเมื่อพบว่าในการจัดการศึกษาระดับมัธยมและอุดมศึกษา ไทยนั้นตกไปอยู่อันดับ 8 ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำมาก (http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000110714) ซึ่งมีการแสดงผลเป็นรูปภาพที่เห็นกันอยู่ทั่วไป แต่ดิฉันไปคัดลอกมาจาก (http://www.wegointer.com/2013/04/ผลการประชุม-wef-2013-ระบุคุณภาพ/)

กลับมาบ้านถามพี่ถึงเรื่องของมาตรฐานของข้อสอบ พี่บอกว่าวัดจาก PISA น่าจะอ่านว่า ปีซ่า ไม่ใช่พิซซ่าแบบที่ดิฉันโมเมฉลองกัน หรือแบบอื่นที่ฟังแล้วหวาดเสียว (ติดเรท 555)
PISA มาจากคำว่า Programme for International Student Assessment คือโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติของประเทศสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ ดำเนินการโดย OECD (Organization for Economic Co-operation and Development)
มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจว่าระบบการศึกษาของประเทศได้เตรียมเยาวชนของชาติให้พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตและการมีส่วนร่วมในสังคมในอนาคตเพียงพอหรือไม่ โดย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนวัย 15 ปี ที่จะใช้ความรู้และทักษะเพื่อเผชิญกับโลกในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน ในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ (http://pisathailand.ipst.ac.th/) ในเว็บไซต์ของ PISA ให้รายละเอียดไว้มากมาย น่าสนใจดีเหมาะสำหรับแม่ๆ และเหมาะสำหรับให้รู้ไว้เพราะพวกเราอยู่ในฐานะเป็นแหล่งที่สนับสนุนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย
ประเด็นที่สนใจคือสิ่งที่ PISA ประเมิน โดย PISA มีการประเมินสมรรถนะที่เรียกว่า Literacy ใน 3 ด้านคือ (http://blog.eduzones.com/chamnan/95533)
1. การอ่าน (Reading Literacy)
2. คณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy)
3. วิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy)
ซึ่งจะวัดความรู้ทั้ง 3 ด้าน แต่จะเน้นหนักในด้านใดด้านหนึ่งในการประเมินแต่ละระยะ โดยแบ่งการประเมินเป็น 2 รอบ ได้แก่
รอบที่ 1 (Phase I: PISA 2000 PISA 2003 และ PISA 2006)
รอบที่ 2 (Phase II: PISA 2009 PISA 2012 และ PISA 2015)
กล่าวคือการประเมินผลระยะที่ 1 (PISA 2000 และ PISA 2009) เน้นด้านการอ่าน ให้น้ำหนักข้อสอบด้านการอ่าน 60% และที่เหลือเป็นด้าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างละ 20%
การประเมินผลระยะที่ 2 (PISA 2003 และ PISA 2012) เน้นด้านคณิตศาสตร์ ให้น้ำหนักข้อสอบด้านคณิตศาสตร์ 60% และด้านการอ่านและวิทยาศาสตร์อย่างละ 20%
การประเมินผลระยะที่ 3 (PISA 2006 และ PISA 2015) เน้นด้านวิทยาศาสตร์ ให้น้ำหนักข้อสอบด้านวิทยาศาสตร์ 60% และด้านการอ่านและคณิตศาสตร์อย่างละ 20%
ในแต่ละทักษะไม่ได้เน้นเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ หรือการคิดเลขเป็น แต่สิ่งที่ PISA เน้นคือความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ความเข้าใจในเนื้อหาสาระของโจทย์ที่ซับซ้อนได้ ซึ่งคือ literacy
แวดวงห้องสมุดเรามักคุ้นกับคำว่า IL หรือ Information literacy และก็ยังมีสิ่งที่เป็นเครื่องมือของเราคือ Computer Literacy ซึ่งมอบให้น้องปุ้ เมื่อตอนน้องถามว่าหากไปเรียนแล้วควรเตรียมวิจัยเรื่องอะไรดี
เราลองมาดูตัวอย่างกันว่ามีอะไรบ้างเยอะแฮะ ขอยกมาแบบคร่าวๆ คือ Media Literacy Visual Literacy Scientific Literacy Health Literacy Financial Literacy Digital Literacy Cultural literacy แถมยังมี STEM Literacy สำหรับผู้คนในศตวรรษที่ 21
โลกของ literacy มีส่วนที่ทาบเกี่ยวทับซ้อนกับงานในความรับผิดชอบของเราในบทบาทที่สนับสนุนให้เกิด information literacy ในมหาวิทยาลัย ถามว่าทาบเกี่ยวตรงไหนคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของการอ่านที่เป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมฐานความรู้ เราคือห้องสมุดเป็นหน่วยงานเต็มไปด้วยทรัพยากรสารสนเทศหลากหลายประเภท มีเครื่องมือ มีช่องทางให้ผู้ใช้บริการเข้ามาแสวงหาสารสนเทศ ปัญหาคือเรื่องของ Information literacy ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายและไม่ใช่เรื่องฉาบฉวย
ในอดีตงานวิจัยทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ มุ่งไปในเรื่องของการอ่าน การใช้ห้องสมุด การใช้สารสนเทศ การแสวงหาสารสนเทศ การค้นคืนสารสนเทศ ซึ่งเป็นเพียงกระบวนการหนึ่งของ Information literacy ปัจจุบันมีงานวิจัยระดับปริญญาเอกในประเทศไทยอยู่หลายเรื่อง หลากหลายมิติและยังมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา ดังนั้นบรรณารักษ์จึงมีความจำเป็นต้องอ่าน เพื่อตี/แยก/แตก/ปรับ/เปลี่ยนผลของงานวิจัย แล้วสร้างสรรค์ให้อยู่ในบริบทของการทำงานในความรับผิดชอบ ให้ผสมกลมกลืนกับกระบวนการทำงาน
เพิ่อนแนะนำดิฉันว่าควรต้องรู้จักนั่งนิ่งๆ concentrate กับงาน (คงเบื่อป้าไฮเปอร์) อย่าเอาแต่ไปแต่เพียง keyword แล้วบอกว่าใช่แล้ว รู้แล้วและทำแล้ว แล้วก็นิ่งสนิท หมดลมหายใจไปในที่สุด
ความน่ากลัวของสถานภาพของคนทำงานห้องสมุด นอกจากจะมี “กูเกิ้ล” เข้ามาบั่นทอนและสั่นคลอนแล้ว เรายังมีสารพัด literacy ที่เกิดขึ้น คำถามที่อยากจะฝากให้คิดคือเจ้าของศาสตร์ของ literacy นั้นๆ เขามองห้องสมุดและบรรณารักษ์อย่างไร หากเราได้แต่บอกว่าเรายังมีความสำคัญโน้น นี้ นั่น โน่น โดยไม่มีหลักฐานในเชิงประจักษ์ว่าเราทำอะไร แค่ไหน และอย่างไร นี่ยังไม่นับถึงจำนวนของผู้เข้ามาใช้ห้องสมุดแบบมาใช้ห้องสมุดจริงๆ ไม่ใช่เข้ามาแบบจัดตั้ง เช่น แวะเข้ามาคุย ดื่มกาแฟ ดูนิทรรศการ รวมทั้งงบลงทุนในการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศในแต่ละปี
เมื่อวานมีโอกาสคุยกับ ดร.วาดะ นักวิจัยชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาดู collection หนังสือภาษาญี่ปุ่นในห้องสมุดของเรา อาจารย์ถามดิฉันว่าจบสาขาอะไรมา ดิฉันก็งงเพราะไม่เคยมีใครถาม เลยสงสัยถามกลับไปว่าแล้วอาจารย์ล่ะ อาจารย์เล่าว่ามาจาก Faculty of Education and Integrated Arts and Sciences สอนวรรณกรรมญี่ปุ่นและยังให้ความสนใจที่จะทำงานเกี่ยวกับ information literacy ดิฉันเชื่อว่าอนาคตของ Information Literacy สามารถอยู่ในมือของใครก็ได้ที่ไปศึกษาค้นคว้าจับเข้าในบริบทของศาสตร์ที่ตนเองสนใจ
เห็นชื่อคณะของอาจารย์แปลกไปจากที่เราคุ้นเคย เพราะมีคำว่า Integrated อดนึกถึงสหายสองสามคนที่เคยเล่าให้ฟังว่ากำลังขะมักเขม้นเขียนหลักสูตรที่บูรณาการความเป็นสหวิชาการระหว่าง ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์
เมื่อ Integrated ก็ต้อง Collaboration จึงต้อง Open mind รู้จัก Sharing ที่อาจมีเรื่องไม่ชอบจำฝึกฝน Listening เพื่อไม่ให้เกิด Dialogue Gap เราจึงอยู่ได้กับผู้ใช้ที่มีความหลากหลายแบบ Happy สามารถ Creative งาน Proactive เพื่อทุกคนจะได้ win win เรื่องคุ้นๆทั้งนั้น
ดิฉันอ่านข่าวเรื่องการประเมินอย่างสนใจ และยังคงแปลกใจกับคนที่ออกมาแสดงความไม่เห็นกับผลการประเมินนี้ อยากจะไปสืบเสาะแสวงหาคนทำ แต่กระแสลดน้อยลงไป เพราะคนในสังคมยังมีสติบอกว่ายอมรับเถอะ แล้วมาหาหนทางแก้กันดีกว่าว่าเราจะทำอย่างไร ไม่รู้ว่าหวยจะไปออกที่ใคร ระหว่าง ครู กับ นักเรียน
แม่ๆ ในแก้งค์ทั้งสี่คนที่ยังมีลูกวัยละอ่อนถึงกับเอาหัวชนกัน ปลอบใจกันว่าเราเลี้ยงลูกแบบตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่ใช่แบบมารดาหรือบิดาสรณะ ก็น่าจะ ย้ำว่า น่าจะช่วยให้พวกเขาทำข้อสอบแบบ PISA ได้กระมัง ขอเป็นแบบที่เราคิดเถอะ เพี้ยง!
PISA ทำพิษใครยังไม่ปรากฏชัดแต่ที่เป็นอยู่ตอนนี้คือเวลาตีหนึ่งของวันที่ 6 กันยายน ดิฉันยังพิมพ์บล๊อกนี้อยู่เพราะ pizza ทำพิษจนท้องไส้ปั่นป่วนไม่สามารถนอนหลับ….
น่าสงสารชะมัด

One thought on “PISA ทำพิษ

  • อ่านแล้ว ปองก็ยังคงเป็นปอง ที่ไม่ทำให้ผิดหวังในความคิด และแนวความคิด
    หากทุกองค์กรมีมันสมองอัจฉริยะเช่นนี้ และผู้บังคับบัญชาให้โอกาสนำสิ่งที่เสนอ สนับสนุน พัฒนา เกิดเป็นผลผลิตเป็นมรรคผลออกมา มั่นใจประเทศไทยไปโลด ดังหอสมุดของเรา และพี่ก็แจ้งแก่ทุกคนที่มาเยี่ยมชมหอสมุด พูดในที่ต่างๆว่า มีลูกน้อง เก่ง ดี มีกื๋น และบอกชื่อชัดเจนทุกคน เฉพาะอย่างยิ่งปอง ไม่ต้องนิ่งๆ ให้ไฮเปอรเหมือนเดิม เสนอต่อไป คิดว่าได้เสนอแล้ว ส่วนใครจะรับหรือไม่ค่อยว่ากันนะ
    สิ่งที่นำเสนอ PISA ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผู้ทรงคุณด้านการศึกษาของประเทศไทยมีมากมาย เก่งๆทั้งนั้น ดร.ก็ล้นประเทศ ทุกสาขา คนที่มีดีกรี ดร.นำหน้าตามทฤษฎีดั้งเดิมถือว่า สุดยอดแล้ว ที่ไม่มี ดร.นำหน้า ถอยไปก่อน แต่จากการอ่านของปอง สมองยิ่งกว่า ดร.หลายๆคน ไม่ได้เอาใจนะ ก็พูดมาตลอด ครั้งนี้พูดเผยแพร่ออนไลน์เลยแล้วกัน การบูรณาการ และหรือแปลงที่อ่านสู่ปฎิบัติ พี่ว่า หอสมุดของเราทำได้นะ
    แรกๆอาจหนักหน่อย คับข้องใจ เหมือนที่ทำงานหนักอยู่แล้ว ยังมาบังคับและเข้มกับ KPI รวมสมรรถนะอีกซึ่งไม่ใช่แค่เช็คโดยไม่ดูไต่ระดับเป็นจริง การประเมินเอาเป็นเอาตาย อย่างจริงจังและ…

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร