ประชาสัมพันธ์อย่างไรให้โดน(ใจ) ตอนที่ 1

รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ได้กล่าวไว้ในการบรรยายตามโครงการอบรมเรื่อง การพัฒนามหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยการสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ว่า “การประชาสัมพันธ์” คือ การกระทำทั้งสิ้น ทั้งหลาย ทั้งปวง ที่เกิดจากการวางแผนล่วงหน้า ในการที่จะสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนที่เกี่ยวข้องเพื่อก่อให้เกิดทัศนคติที่ดี ภาพพจน์ที่ดี อันจะนำไปสู่สัมพันธภาพที่ดีระหว่างหน่วยงานและสาธารณชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อให้เกิดการสนับสนุนและความร่วมมือกันเป็นอย่างดี
ในการประชาสัมพันธ์ต้องใช้สื่อประชาสัมพันธ์เป็นช่องทางการสื่อสารที่จะนำข่าวสารไปสู่กลุ่มเป้าหมาย และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่จะนำไปสู่ภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร ซึ่งสื่อประชาสัมพันธ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สื่อที่ควบคุมได้ เช่น ใบปลิวเอกสารเผยแพร่หรือ Brouchure โปสเตอร์ รายงานประจำปี เว็บไซต้ การส่งข้อความทาง e-mail เป็นต้น และสื่อที่ควบคุมไม่ได้ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ภาพยนตร์ เป็นต้น การเลือกใช้สื่อต้องพิจารณาถึงงบประมาณที่มี และความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้มากที่สุด
การที่จะประชาสัมพันธ์ให้ตรงกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายนั้นจำเป็นจะต้องหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้เจอเสียก่อน ซึ่งทำได้โดยการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ด้วยหลัก 6Ws 1H เพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการทราบตามหลัก 7Os ดังนี้(ฉัตยาพร เสมอใจ 2550 : 30-32)
1.  ใครคือตลาดเป้าหมาย (Who is target market?) ผู้บริโภคทุกคนอาจไม่ใช่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทุกคน วัตถุประสงค์แรกในการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อหาผู้ที่ใช้สินค้าหรือบริการหรือมีแนวโน้มที่จะใช้สินค้าหรือบริการซึ่งจะช่วยให้ทราบลักษณะกลุ่มเป้าหมาย (Occupant) ที่แท้จริง
2.  ตลาดซื้ออะไร (What does the market buy?) เพื่อทำการวิเคราะห์พฤติกรรมตลาดให้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริงที่ลูกค้าต้องการจากผลิตภัณฑ์หรืองค์กร (Objects)
3.  ทำไมจึงซื้อ (Why does the market buy?) จะทำให้ทราบเหตุผลที่แท้จริง (Objectives) ในการตัดสินใจซื้อของลูกค้า เพื่อสามารถนำมาเป็นแนวทางในการวางแผนจูงใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเพื่อให้สามารถตอบสนองเหตุผลที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ
4.  ใครมีส่วนร่วมในการซื้อ (Who participates in the buying?) ในการตัดสินใจซื้ออาจมีบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมหรือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ (Organization) เพราะผู้ทำหน้าที่ซื้ออาจไม่ใช่ผู้ที่ใช้สินค้าโดยตรงหรือใช้ร่วมกันหลายคน อาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับสินค้ามากนักจึงต้องอาศัยผู้รู้หรือกลุ่มของผู้ซื้อเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
5.  ซื้อเมื่อใด (When does the market buy?) ผู้บริโภคจะมีพฤติกรรมในการบริโภคสินค้าและบริการในแต่ละประเภทแตกต่างกันตามโอกาสที่จะใช้ ดังนั้นการวิเคราะห์โอกาสในการซื้อของลูกค้า (Occasion) จะช่วยให้สามารถเตรียมรับมือในการเตรียมผลิตภัณฑ์ให้เพียงพอ เตรียมแผนการส่งเสริมการตลาดในรูปแบบและช่วงเวลาที่เหมาะสม
6.  ซื้อที่ไหน (Where does the market buy?) เพื่อทราบถึงแหล่งที่ลูกค้านิยมหรือสะดวกที่จะไปซื้อ (Outlets) เพื่อการบริหารช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมกับลูกค้าในแต่ละกลุ่ม
7.  ซื้ออย่างไร (How does the market buy?) เพื่อทราบถึงการบริหารการซื้อของลูกค้า (Operation) ว่ามีขั้นตอนซื้ออย่างไร ตั้งแต่การรับรู้ถึงปัญหา ทำการค้นหาข้อมูลเพื่อแก้ไขหรือลดปัญหานั้น ๆ ทำการประเมินทางเลือกในการแก้ไขปัญหา และตัดสินใจซื้ออย่างไร จะช่วยให้องค์กรมีข้อมูลในการวางแผนการส่งเสริมการตลาดที่เหมาะสมกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด
นักประชาสัมพันธ์หรือผู้มีหน้าที่ในการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อนำมาปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย จัดหาหรือจัดเตรียมผลิตภัณฑ์ที่เขาต้องการ และส่งสารไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้เหมาะสมกับช่วงเวลาด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว ได้กล่าวถึงคุณสมบัติพื้นฐานของนักประชาสัมพันธ์ ว่ามีดังนี้
1.  มีใจรักงานประชาสัมพันธ์ เช่น ชอบติดต่อพบปะกับคนอื่น ชอบอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจ ชอบงานขอความร่วมมือกับผู้อื่น รับคำติชมหรือวิพากษ์ เป็นต้น
2.  มีความรอบรู้และลุ่มลึก
3.  มีความสามารถในการถ่ายทอด
4.  มีความคิดสร้างสรรค์
5.  มีภาวะผู้นำ
6.  มีบุคลิกภาพดี
7.  มีคุณธรรมและจริยธรรม
นอกจากนี้นักประชาสัมพันธ์จะต้องสร้างกระแสเพื่อให้เกิด Talk of the town การประชาสัมพันธ์อาจมีการย้ำหรือซ้ำ เพื่อกระตุ้นเตือน แต่ไม่ควรทำบ่อยเกินไปเพราะจะทำให้เกิดการเบื่อหน่ายได้
บรรณานุกรม
จินตวีร์ เกษมศุข.  หลักการและกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์[ออนไลน์].  เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2556.  เข้าถึงได้จาก www.edupol.org/pknow/Course/C2/document/10/10_2.pdf .
ฉัตยาพร เสมอใจ.  พฤติกรรมผู้บริโภค.  กรุงเทพมหานคร : ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2550.
วิทยากร ท่อแก้ว.  การเป็นนักประชาสัมพันธ์มืออาชีพ[ออนไลน์].  เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2556.  เข้าถึงได้จาก www.stou.ac.th/thai/schools/

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร