รักตัวเอง…มาดูแลสุขภาพกันเถอะ


สวี่รุ่ยอวิ๋น.  เคล็ดลับสุขภาพดี โดยหมอจากฮาร์วาร์ด = Harvard doctor’s secrete of health .  กรุงเทพฯ : อมรินทร์สุขภาพ, 2554.  179 หน้า
สุขภาพดีเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา   หลายวิธีที่ยืนยันว่าได้ผลดีนั้นอาจใช้ได้ดีกับบางคนและอาจเป็นผลร้ายกับบางคน  สิ่งที่ถูกต้องคืออะไรกันแน่  หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์การรักษาคนไข้ของคุณหมอสวี่รุ่ยอวิ๋น แห่งวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด ที่จะเสนอทัศนะที่ถูกต้องด้านอาหารการกิน ด้วยวิธีง่ายๆ ที่หลายคนยังไม่รู้และมีความเข้าใจผิด คนส่วนใหญ่เจ็บป่วยจากอาหารการกิน   ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยบอสตัน เคยวิจัยคนอายุเกินร้อยปีพบว่าคนเหล่านี้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ “สดใสร่าเริงเป็นพิเศษ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีมนุษยสัมพันธ์ดี ใจกว้าง ไม่ถือสาหาความคนอื่น” ดังนั้นเราจึงควรหันมาดูแลสุขภาพก่อนที่ร่างกายจะส่งสัญญาณ “คุณไม่รักฉัน” เซลล์ที่เคยแข็งแรงก็อาจเจ็บป่วยได้
เริ่มต้นด้วย
– สำรวจนิสัยการกินว่ากินอาหารอย่างถูกต้องหรือไม่ การไม่กินอาหารเช้า กินอาหารไม่ถูกเวลา บางคนกินอาหารมื้อค่ำเป็นหลักทำให้ร่างกายรับแคลอรีเข้าไปมากแต่ไม่อาจนำไปใช้ได้เหมือนตอนกลางวันทำให้สะสมแคลอรีมากขึ้น ควรกินตามความจำเป็นดีกว่ากินตามใจ เลี่ยงของหวาน เคี้ยวช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด กินอาหารด้วยความสำนึกในบุญคุณขอบคุณอาหารที่กินขอบคุณคนขาย เมื่อจิตใจสงบจะเป็นผลดีต่อการย่อยและดูดซึมอาหารส่งผลให้อาหารที่กินมีพลังมากขึ้น
– การกินผักสดและผลไม้ แพทย์แผนโบราณทั้งจีนและอินเดียไม่แนะนำให้กินอาหารดิบซึ่งมึคุณสมบัติเย็นจะลดพลังงานของกระเพาะอาหารทำให้ร่างกายเย็นเจ็บป่วยได้ง่าย ถั่วงอกไม่ควรกินดิบเพราะในถั่วงอกมีไฟโตฮีแมกกลูตินินซึ่งทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หากต้องการกินอาหารดิบควรกินเฉพาะมื้อกลางวัน ควรกินแต่พอประมาณไม่กินมากเกินไป
– ดื่มน้ำอย่างถูกต้องหรือเปล่า ดื่มน้ำมากๆ เป็นผลดีต่อสุขภาพ เวลาดื่มน้ำให้พูดดีกับน้ำ ทำให้น้ำนำคุณค่าสู่ร่างกายมากขึ้นจากการทดลองของคุณหมอเอะโมโตะพูดกับน้ำด้วยการบอกรักและขอบคุณโมเลกุลของน้ำจะตกผลึกเป็นรูปหกเหลี่ยมที่งดงามเป็นพิเศษ เมื่อคนมีจิตใจเปี่ยมไปด้วยความรักร่างกายจะได้ความรักและเต็มไปด้วยพลังอันอบอุ่น
– กินอาหารให้ถูกเวลา เวลาในที่นี้หมายถึงฤดูกาลของอาหารและเวลาที่ร่างกายรับอาหารเข้าไป กระเพาะอาหารจะกลัวความเย็นเป็นพิเศษ หากกินผลไม้เย็นๆ แล้วตามด้วยอาหารร้อนๆ กระเพาะอาหารจะเกร็งตัวจนไม่สามารถทำงานได้  งดอาหารที่มีกรดแทนนิกซึ่งพบมากในใบชาและผลไม้ที่มีรสฝาด เช่น พลับ องุ่น สาลี่ จะขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก ผู้เขียนเคยตรวจพบคนไข้โลหิตจางชนิดขาดธาตุเหล็กเมื่อสอบถามอย่างละเอียดพบว่าเขาดื่มชาเขียวเป็นประจำ
– ในมื้อหนึ่งๆ ควรกินอาหารชนิดเดียวกันเพราะมีผลดีต่อการดูดซึมอาหาร  ชาและอาหารควรกินแยกกันเพราะชามีคุณสมบัติเป็นด่างเมื่อรวมกับกรดในกระเพาะอาหารส่งผลต่อการย่อยอาหาร ผลไม้ไม่ควรกินระหว่างมื้อพร้อมกับอาหาร เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนไม่ควรดื่มเวลาบ่ายหลังอาหารกลางวันไปแล้ว  ควรดื่มน้ำก่อนอาหาร 15 นาที  มื้อเช้าควรกินอาหารที่เป็นด่าง เช่น โจ๊ก น้ำผักผลไม้ปั่น ถั่วแดงและเม็ดบัวต้ม ไม่ควรกินอาหารเช้าจำพวก ปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้ ไข่ดาว ขนมปัง แฮมเบอร์เกอร์ แซนด์วิช เพราะมีลักษณะเป็นกรด  และไม่ควรกินผักผลไม้ที่ยังไม่แก่จัด
– รู้จักเลือกอาหาร  พืชผักที่ปลูกและเติบโตตามธรรมชาติล้วนเป็นอาหารที่มีพลังชีวิต ผักสีเข้มย่อมดีกว่าสีอ่อน เลือกที่มีน้ำหนักดี ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นประสาททำให้สมองตื่นตัว ไม่สงบ อารมณ์ร้อน เช่น กระเทียม หอม กุยช่าย แม้จะมีประโยชน์แต่ไม่ควรกินมากเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซลานินที่พบมากในพืชวงศ์ ไม้มะเขือที่ยังไม่ปรุงสุกและที่ยังเขียวอยู่ เช่น พริกเขียว มะเขือเทศ มันฝรั่ง เนื่องจากมีผลกระทบต่อผู้ป่วยข้ออักเสบ, มะเร็ง หลีกเลี่ยงผลไม้นอกฤดูกาลเพราะไม่ได้ปลูกแบบธรรมชาติ
– ลดน้ำตาลต้านความแก่ชรา ผลไม้ที่มีรสหวานจัดทำให้แก่เร็วเช่นเดียวกับของหวานอื่นๆ,  ระวังเครื่องปรุงรส, ลดอาหารที่ทำให้ระคายเคือง เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม โคลา, ปลา เนื้อ ไข่ นม ควรกินแต่น้อยเพราะมลพิษจากสิ่งแวดล้อมและวิธีการเลี้ยงที่เปลี่ยนแปลงไป
– กินอาหารรสชาติดั้งเดิม การรับรสชาติที่แท้จริงของอาหารเป็นการรับพลังงานจากผืนดิน  กินอาหารที่มีสีสัน หลากหลาย
– ไม่ควรใช้เตาไมโครเวฟซึ่งจะทำลายโมเลกุลและส่วนประกอบที่เป็นน้ำในอาหารทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็น ผลเสียต่อสุขภาพ  ไม่ควรใช้กล่องพลาสติกแม้จะระบุว่าใช้ได้กับไมโครเวฟ
– น้ำมันที่ควรใช้แต่น้อย ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันเมล็ดทานตะวัน เป็นไขมันไม่อิ่มตัวมีกรดไขมันโอเมก้า 6 หากร่างกายได้รับมากเกินไปจะทำให้เกล็ดเลือดแข็งตัวง่าย ทำให้หลอดเลือดอุดตัน อีกประเภทหนึ่งคือไขมันอิ่มตัว ได้แก่ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว
เมื่อร่างกายเจ็บป่วยสามารถรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนอาหารการกิน  ยกตัวอย่างโรคภูมิแพ้  โรคเบาหวาน โรคกรดไหลย้อน โรคซึมเศร้า การลดน้ำหนัก ความดันโลหิตสูง ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรและอาหารการกิน
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับเปลี่ยนสภาพจิตใจให้แจ่มใส  ให้หัวใจเปี่ยมไปด้วยความรัก ความพึงพอใจ มีความสุขในการช่วยเหลือผู้อื่น
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร