ฉลาดคิด ชีวิตเป็นสุข


พระมหาสุภา ชิโนรโส.  ฉลาดคิด ชีวิตเป็นสุข.  กรุงเทพฯ : อัมรินทร์, 2550.  195 หน้า.
พระมหาสุภา ชิโนรโส ท่านเป็นพระนักคิดนักเขียนและเคยเดินทางไปสอนธรรมะและวิปัสสนากรรมฐานที่ประเทศแคนาดาหลายปี ท่านคิดไตร่ตรองแล้วพบว่าไม่มีแนวความคิดใดที่จะยิ่งใหญ่ยืนยงเหมือนกับพระธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ หนังสือนี้นำเสนอแง่คิดธรรมะให้มองเห็นสัจจธรรมของชีวิตอย่างรอบด้านและรู้แนวทางสร้างสรรค์ชีวิตอย่างมีความสุข ประกอบไปด้วย 7 ภาค  ดังนี้
ภาค 1. ทุกอย่างอยู่ที่ใจ  สุขที่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก เราไม่สามารถควบคุมได้เป็นความสุขที่ขึ้นต่อคนอื่น   ฉาบฉวยไม่จีรังยั่งยืน  บางคนไม่พอใจกับสิ่งที่ได้มา ได้แล้วยังคงแสวงหาใหม่ไปเรื่อย พระพุทธองค์จึงทรงชี้แนะให้หันเข้าหาสุขในหรือความสุขที่เกิดขึ้นจากจิตใจ สุขในมี 2 ระดับคือ สุขจากสมาธิ และสุขจากปัญญา  ป่วยกาย แต่อย่าป่วยใจ คือการพิจารณาธรรมจนเข้าใจว่า ไม่มีตัวกูของกูในชีวิตและจิตใจทั้งหมด การปล่อยวางจะทำให้จิตใจสงบนิ่ง แจ่มใส อิสระเบิกบาน สภาพจิตใจเช่นนี้จะช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรค หากเราเจ็บไข้ได้ป่วยลง เราจะป่วยกายอย่างเดียวแต่ไม่ป่วยใจ
ภาค 2 เงื่อนงำของความโง่  ชีวิตมนุษย์หมุนเวียนเปลี่ยนไปไม่มีความแน่นอนตายตัว จึงต้องตระหนักว่า ไม่ว่าชีวิตจะเป็นแบบใดทำใจให้มีความสุข  “ตัวกู” อยู่กับเราตลอดเวลาทำให้เราเข้าใจว่ามันเป็นตัวตนที่เที่ยงแท้แน่นอนของเรา แต่แท้จริงแล้วหามีไม่ การที่เข้าใจว่ามีตัวกูคืออวิชชาที่เราสร้างขึ้นในใจตัวเองมาชาติแล้วชาติเล่า “มีตัวกู ก็มีตัวมึง” รู้สึกไปว่า “กูเก่งกว่า” “กูดีกว่า” “ฉลาดกว่ามึง” ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้มนุษย์จะแบ่งฝักฝ่าย แตกแยก  ปัจจุบันกระแสวัตถุนิยมเข้ามาครอบงำระบบการศึกษา ไม่สนใจความดี ความชั่ว บาป บุญ คุณ โทษ ไม่คำนึงถึงศีลธรรม
ภาค 3 สัจธรรมสอนชีวิต  พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง”  มองว่าในโลกนี้ไม่ใช่เราเพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีทุกข์ การมองทุกข์ให้กว้างกว่าตัวตนของเราจะทำให้เราเห็นใจผู้อื่น มีความเมตตาปรานีต่อผู้อื่น  รักตนเหมือนรักคนอื่น ทุกคนโหยหาความรัก การรักตนเองเป็นสุดยอดแห่งความรักสำหรับมนุษย์ พฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ล้วนสะท้อนออกมาจากความรักตัวรักตนทั้งนั้น การแสดงออกมี 2 ลักษณะ คือ 1. การรักตัวอย่างสร้างสรรค์ คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เราต้องการความสุขอย่างไร คนอื่นก็ต้องการอย่างนั้น เราอยากได้ความสำเร็จอย่างไร คนอื่นก็ต้องการความสำเร็จอย่างนั้น คนประเภทนี้มักจะเป็นที่รักของคนอื่น เพราะเห็นคุณค่า เห็นความดีของคนอื่น   2.การรักตัวอย่างทำลาย คือ คนที่เห็นแก่ตัว รักแต่ตัวเองไม่เคยรักคนอื่น ไม่เคยเห็นใจคนอื่น
ภาค 4 อยู่ดี ตายดี  ความโกรธเป็นสาเหตุหนึ่งของความตายด้วยโรคภัยและอื่นๆ เราจึงควรฆ่าความโกรธด้วยความรัก (เมตตา)  ให้อภัยอยู่เสมอ มีความอยากอย่างพอดี  รู้ตัวเองว่าไม่มีประสบการณ์ก็เริ่มทำทีละเล็กละน้อย ค่อยๆ สะสมบารมี ไม่นานเกินรอความอยากชนิดนี้ก็จะนำพาความสำเร็จมาสู่ชีวิต  อยากเกินพอดี คือ ความอยากที่ไม่มีปัญญากำกับ เช่น อยากได้ทรัพย์สินผู้อื่นก็ปล้นฆ่า พวกนี้จะได้รับโทษในเร็วพลัน  การรู้เท่าทันความตายจนสามารถยอมรับความตายตามที่เป็น การพิจารณาความตายทุกลมหายใจเข้าออกถือว่าไม่ประมาท  และให้หมั่นทำความดี
ภาค 5 กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมตามสนอง  คนเรามีอุปนิสัยต่างกันเพราะกรรมที่แต่ละคนทำมาต่างกัน ชาติก่อนเคยมีนิสัยอย่างไรก็จะเป็นอย่างนั้น   กรรมดีหรือชั่วที่มนุษย์ก่อไว้ไม่มีใครหนีพ้นกรรมที่ตัวเองก่อไปได้  กฎแห่งกรรมเป็นสิ่งซับซ้อน คนทำกรรมไว้ย่อมได้รับผลกรรมเสมอแม้ว่าชาตินี้จะทำแต่กรรมดีแต่กรรมเก่าที่ทำไว้ยังตามทันเสมอ
ภาค 6 วิถีแห่งความสำเร็จ  เนื้อหาบทนี้สอนว่า เมื่อพบกับอุปสรรคอย่าท้อถอยต้องเพียรพยายามผ่านไปให้ได้เพราะความสำเร็จจะเป็นของคนสู้ไม่ถอยเท่านั้น และกุญแจแห่งความสำเร็จคือ ความสามัคคีที่มีเป้าหมายร่วมกัน เอื้อประโยชน์ต่อกัน ผู้นำต้องมีคุณธรรมสูง  ความเก่งอย่างเดียวไม่อาจช่วยให้ยืนหยัดในเวทีได้ยาวนาน เพราะคนทั่วไปย่อมรักคนที่มีจิตใจกว้างขวาง เสียสละเพื่อส่วนรวม แม้เขาจะได้ชัยชนะมาด้วยความเก่งที่มีแต่ชัยชนะนั้นจะอยู่กับเขาไม่นาน บันไดสู่ความสำเร็จแบบพุทธะ คือ “รัก-ทำ-วางแผน-จัดการ” บันไดเหล่านี้ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจของเราแต่ละคน จะเห็นหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัญญาของตน
ภาค 7 เส้นทางแห่งความวิบัติ  การฝากชีวิตไว้กับดวงทำให้ขาดสติและอาจพลาดโอกาสทองที่น่าจะได้ เช่นเดียวกับถังน้ำใหญ่หากมีรอยรั่วซึมสักวันหนึ่งน้ำก็หมดถังได้ ดังนิทานเรื่องนกกระจาบที่ถูกพรานป่าดักจับด้วยตาข่ายเมื่อจ่าฝูงแนะนำหาทางช่วยด้วยความสามัคคีพากันบินขึ้นพร้อมกันนำตาข่ายไปพาดกิ่งไม้ไว้นกกระจาบก็รอดตายไม่ถูกจับ ต่อมาเกิดมีเรื่องบาดหมางทะเลาะกันขาดความสามัคคีต่างเกี่ยงกันไม่พร้อมใจกันบินขึ้นฟ้าเหมือนก่อนพวกมันจึงถูกพรานป่าจับไปฆ่าไม่เหลือซาก เมื่อใดที่เราคำนึงถึงแต่เกียรติยศและศักดิ์ศรี หรือ “ตัวกู ของกู” มากเกินไป ผลของความขัดแย้งคือความหายนะเสมอไปไม่ว่ากลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ที่จะต้องได้รับผลกระทบ
จบทั้ง 7 ภาคแล้วสรุปได้ว่า “ฉลาดคิด ชีวิตเป็นสุข”  มีคติธรรมสอนใจช่วยชี้ทางให้เห็นชีวิตหลายแง่มุม สามารถนำมาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตทั้งด้านส่วนตัวและชีวิตการทำงานได้เป็นอย่างดี

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร