ธงฉัพพรรณรังสี

e0b980e0b897e0b982e0b8a74
สายธง นำสายธรรม

อนุสนธิ จากการไปตักบาตรเทโวฯ เมื่อเช้าวาน
อิฉันได้มีโอกาสเก็บภาพธงสายที่พลิ้วปลิวลมสะบัดกลับมาด้วย
และก็อดไม่ได้ที่จะสงสัย แบบจำได้เลือนๆ ว่า เคยถามท่านใดสักคน
ถึงเจ้าธงหลากสี อันมีชื่อเรียกว่า “ธงฉัพพรรณรังสี”  รึปล่าววว น๊า
เมื่อเกิดสงสัย ก็ต้องสนองความใคร่รู้ให้สิ้นสงสัย
อากู๋ แหล่งรวมสรรพวิชา และอวิชา ถามได้…ตอบได้ แทบจะทุกเรื่องในสามภพ
ก็ได้สำแดงวิสัชนาเป็นที่กระจ่างแจ้งใจ ให้ได้เอามาแบ่งปันกัน…เพื่อแซบบบ
อันว่า “ธงฉัพพรรณรังสี” นั้น เป็นธงในศาสนาพุทธที่ใช้ทั่วไปโดยสากล
มีการใช้มาตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25
ธงนี้ได้รับการออกแบบโดยพุทธสมาคมโคลอมโบ เมื่อ พ.ศ. 2423
แบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้เป็นแบบที่มีการแก้ไขแล้ว
โดยเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2428 ที่ประเทศศรีลังกา
องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (World Fellowship of Buddhists – WFB)
ได้ประกาศให้ธงนี้เป็นธงพุทธศาสนาสากล
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ณ กรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา

อิฉันเองครั้งแรกที่เห็นธงชนิดนี้บริเวณองค์พระ เมื่อสักกี่ปีก่อนหน้าก็จำไม่ถนัด
ในครั้งนั้น ด้วยความที่เห็นว่ารูปแบบและสีสันออกจะมีสไตล์อินเตอร์
ก็พลันให้เข้าใจ…เอาเองว่า เอ…
สงสัยจะมีกิจกรรมอะไรที่เป็นกิจของต่างประเทศที่มาเกี่ยวข้องกับองค์พระกระมัง
กาลต่อมาก็ให้มีการได้ไถ่ถามจากใครสักคนจำไม่ถนัด
ว่าธงที่เห็นแขวนเป็นราวในองค์พระนั้นเป็นธงอะไร ซึ่งก็ได้คำตอบถึงชื่อธง
ความสงสัยในวันนั้น ซึ่งมีเพียงน้อยนิดจึงมิได้แสวงหาเพิ่มเติม
กระทั่งวันนี้มีโอกาสต่อยอดสงสัย ก็อดไม่ได้ที่จะเพิ่มเติม

อันคำว่า “ฉัพพรรณรังสี” ซึ่งเป็นชื่อของธงนั้นแปลว่า “รัศมี 6 สี” เป็นคำสมาสในภาษาบาลี
จากคำ 3 คำ คือ “ฉ” ซึ่งแปลว่า หก + “วณฺณ” ก็คือ สี + “รํสี” คือ รังสีหรือรัศมี
โดยสีทั้ง 6 นั้น คือ สีของรัศมีที่แผ่จากส่วนต่างๆ ของร่างกายพระพุทธเจ้า อันได้แก่
สีน้ำเงิน เหลือง แดง ขาว แสด และประภัสสร(เลื่อมพราย)

ในเรื่องสีของรัศมีทั้ง 6 นี้ ทั้งพุทธสายเถรวาทและสายมหายานในประเทศต่างๆ
มักนิยมแสดงสัญลักษณ์ธงฉัพพรรณรังสีตามแบบข้างต้น
แต่ก็มีอยู่บ้างที่มีการเลือกใช้สีธงที่ต่างออกไป
เพื่อเน้นแนวทางตามคำสอนแห่งสำนักของตน เช่น
ชาวพุทธในประเทศญี่ปุ่น ใช้แถบสีเขียวแทนแถบสีน้ำเงิน และสีม่วงแทนสีแสด
โดยสีทั้ง 5 ในธง หมายถึงพระธยานิพุทธะทั้ง 5
พระองค์
ตามคติความเชื่อแบบมหายาน
ส่วนนิกายโจโดชินชู ใช้
สีชมพูแทนแถบสีแสด
ส่วนในประเทศทิเบต สีต่างๆ ในธง หมายถึง สีจีวรของพระภิกษุ
ในพุทธศาสนานิกายต่างๆ ที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว
ทั้งนี้ พระสงฆ์ทิเบตใช้จีวรสีแดงเข้ม (maroon)
ดังนั้นจึงใช้สีแดงเข้มแทนแถบสีแสด
แต่ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธแบบทิเบตในประเทศเนปาล
กลับแทนที่แถบสีแสดด้วยสีลูกพลัม

สำหรับประเทศพม่าใช้สีชมพูซึ่งเป็นสีเครื่องแต่งกายของแม่ชีแทนแถบสีแสด
ส่วนสมาคมสร้างคุณค่า หรือ สมาคมโซคา งัคไก
ซึ่งเป็นองค์การศาสนาพุทธที่แยกตัวออกมาจากพุทธศาสนานิชิเรนโชชู
ใช้ธงไตรรงค์สีน้ำเงินเหลือง-แดง เป็นธงสัญลักษณ์
การใช้สีทั้ง 6 สีนั้น ใช่ว่าจะใช้ตามแต่จะรังสรรค์ความงามแห่งสี
หากแต่ แต่ละสีนั้นมีที่มา และความหมายแฝง กล่าวคือ
สีเขียว (นิลกะ) เป็นสีที่เปล่งรัศมีจากผม หนวด และสีเขียวจากตาทั้งสอง
มีสีเขียวเข้มเหมือนดอกอัญชัน(คือเป็นสีน้ำเงิน)
หมายถึง พระมหากรุณาธิคุณแห่งพระพุทธองค์ ซึ่งแผ่ไพศาลไปทั่วสากลจักรวาล

สีเหลือง (ปิตะ) เป็นสีที่เปล่งรัศมีจากผิวพรรณ
มีสีเหมือนแผ่นทองคำ หมายถึง มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง
คือ การหลีกเหลี่ยงความสุดโต่งทั้งปวง

สีแดง (โรหิตะ) เป็นสีที่เปล่งรัศมีจากสีเนื้อกาย สีเลือด และจากตาทั้งสอง
มีสีแดงเหมือนแสงตะวันอ่อน เป็นตะวันสีทอง
หมายถึง การอำนวยพรให้ประสบความสำเร็จ สมบูรณ์พร้อมด้วยสติปัญญา
คุณงามความดี ความเป็นผู้มีโชค และเกียรติยศทั้งปวง

สีขาว (โอทาตะ) เป็นสีที่เปล่งรัศมีจากกระดูก ฟัน และสีขาวจากตาทั้งสอง
มีสีขาวเหมือนเงินยวง หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระธรรม
ซึ่งเป็นของที่ไม่จำกัดกาล (อกาลิโก) และนำชนไปสู่ความหลุดพ้น
สีแสด (มัญเชฏฐะ) เป็นสีที่เปล่งรัศมีจากร่างกาย เหมือนสีหงอนไก่
หมายถึง พระปัญญาคุณแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สีประภัสสร(สีเลื่อมพราย) เป็นสีที่เปล่งรัศมีจากร่างกาย
มีสีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก (คือสีทั้ง 5 ข้างต้นรวมกัน)
หมายถึง ความจริงทั้งหมดในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บรรยายความมาเสียตั้งมาก ทั้งที่มาและความหมายแห่งสี
หลายๆ ท่านอาจจะยังคงจินตนาการรูปร่างหน้าตาธงคัลเลอร์ฟูลของอิฉันไม่ออก
อิฉันว่า อย่ากระนั้นเลยไปดูกันจะๆ เลยดีฟ่า
อันที่มาของรูปธงแจ่มแจ๋ว ที่มิใช่ธงสายระยางโยงนี่ ก็ต้องยกความดีให้ลุง wiki เค้า
ขอบคุณ นะฮ๊าาาาาาาาาาาาา
ธงฉัพพรรณรังสี แบบมาตรฐาน
ธงฉัพพรรณรังสี แบบมาตรฐาน

ธงฉัพพรรณรังสีแบบหนึ่งของญี่ปุ่น
ธงฉัพพรรณรังสีแบบหนึ่งของญี่ปุ่น

ธงฉัพพรรณรังสีของนิกายโจโดชินชู
ธงฉัพพรรณรังสี ของนิกายโจโดชินชู

ธงฉัพพรรณรังสีแบบทิเบต
ธงฉัพพรรณรังสีแบบทิเบต

ธงฉัพพรรณรังสีแบบพม่า
ธงฉัพพรรณรังสีแบบพม่า

ธงของสมาคมโซคา งัคไค
ธงของสมาคมโซคา งัคไค

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
http://board.palungjit.com/f13/พระฉัพพรรณรังสี-177462.html
http://th.wikipedia.org/wiki/ธงศาสนาพุทธ
http://www.flagvictory.com/dhammajaki_Buddhism.html

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร