เรื่องที่คุยในงาน Friends of the Library

ในงาน Friends of the Library มีหน้าที่ที่เจ้าภาพ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร) มอบหมายคือทำหน้าที่คุยกับวิทยากรคือ…..
คนแรกคือคุณทนง โชติสรยุทธ์ เรื่อง 2012 หนังสืออิเล็กทรอนิกส์อีกหนึ่งทางเลือกของนักอ่าน คุณทนง เป็นกรรมการผู้จัดการ บ.ซีเอ็ดยูเคชั่น เป็นทั้งนักธุรกิจและนักวิชาการที่มีความรู้ ความสามารถระดับแนวหน้าของเมืองไทย สนใจอ่านประวัติได้ที่ http://www.se-ed.com/totalsolution/post/2010/10/05/e0b89be0b8a3e0b8b0e0b8a7e0b895e0b884e0b893e0b897e0b899e0b887.aspx
ถามน้องเต็มว่าแม่จะไปคุยกับเจ้าของซีเอ็ดฯ หนูจะฝากว่าอะไร เจ้าตัวเล็กในร่างใหญ่บอกว่าฝากขอบคุณที่มีร้านหนังสือนี้อยู่ในห้างโลตัส โฮมโปร ที่เจ้าตัวถือเป็นสวรรค์บนดิน
การต้องไปเสวนาในวันดังกล่าวทำให้ดิฉันต้องทำการบ้านมาก ต้องแสวงหาสารสนเทศจากทุกแหล่ง อ่าน ดู คิดแยะ จนมึน เมื่อ “เยอะ” ไป ปัญหาคือไม่รู้จะถามอะไร นึกถึงคำสัมภาษณ์ของผู้อาวุโสในวงการนักข่าว ที่จำไม่ได้ว่าเป็นท่านใด เมื่อนานนนนนนนมากแล้วที่บอกไว้ว่า นักข่าวทีี่ดีเวลาต้องทำตัวให้ไม่รู้อะไร ซักถามทุกอย่างที่คิดว่าคนฟังอยากรู้…. ยากนะ
เลยเลิก หันไปอ่านหนังสือที่คิดว่าเกี่ยวข้องกับร้านขายหนังสือน่าจะดีกว่า จึงเลือกอ่านหนังสือเรื่อง อเมซอนดอตคอม เพราะคิดว่าน่าจะได้อะไรบางอย่างในการสนทนาครั้งนี้ แต่ปล่าวหรอกได้อย่างอื่นมากกว่า :mrgreen:
g031

สุดท้ายไม่มีอะไรจะดีกว่าการทำ My map เขียนสิ่งที่อยากรู้ออกเป็นทีละประเด็นๆ โดยมีความคิดว่าไม่อยากจะถามอะไรที่ซ้ำๆ กับที่ได้อ่านมาแล้ว ยกเว้นเรื่องประวัติ และคิดอีกอย่างหนึ่งว่าเวทีนี้เป็นการพูดคุยกันมากกว่า เรื่องราวหรือประเด็นต่างๆ จะตามออกมาโดยอัตโนมัติ และตัวเราเป็นแค่สื่อกลางระหว่างผู้ฟัง น่าจะมีเวลาให้ผู้ฟังได้ช่วยกันซักถาม พูดคุยในประเด็นที่เราไม่ได้สอบถาม
picture-221
เท่าที่จำได้คือท่านบอกว่าให้ตลาดอีบุ๊คส์ภาษาไทยยังไม่ชัดเจน บรรณารักษ์อย่างเราใจเย็นๆ ระหว่างนี้ให้ติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปก่อน อีกไม่นานจะมีเวอร์ชั่นที่ผลิตให้กับห้องสมุด ส่วนอุปกรณ์ที่จะมาเป็นตัวอ่าน จะเป็นของค่ายไหน จะมีการขายควบกับ content หรือไม่ต้องดูกันต่อไป ใจเย็นๆ … ไม่ทราบบรรณารักษ์อาชีพมหัศจรรย์แบบพวกเราจะรอไหวหรือไม่ หรือคิดจะทำอย่างไรกับอีบุ๊คส์ที่มีอยู่ในอ้อมกอด … ส่วนการเสวนาที่เหลือเป็นการคุยกันว่าหากพวกเราจะเป็น site ทดลองสักสองปี ได้มั๊ย หรือห้องสมุดมีข้อมูลเรื่องการใช้หนังสือชื่อไหนมากแบบจริงแน่แท้ ท่านสนใจจะซื้อหรือ …. ฯลฯ นับเป็นการสนทนาที่สนุกดี ขอบคุณคุณทนง ขอบคุณศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มา ณ ที่นี้ิ ที่มอบโอกาสดีๆ 😀
คนที่สองคือน้องหนามเตย ภาสินี ประมูลวงศ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร พวกเราอาจคุ้นหน้าเพราะหนามเตยกับคุณแม่เคยมาพูดเกี่ยวกับหนังสือเรื่อง “น้ำพริก” ในงาน นิทรรศการ น้ำพริก เนื่องในวาระครบ 100 ปี ชาตกาลของพลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช ในฐานะบุคคลสำคัญของโลก ตามที่องค์การยูเนสโก  ประกาศว่าเป็นผู้มีผลงานดีเด่นในด้านการศึกษา วัฒนธรรมสังคมศาสตร์และสื่อมวลชน ตัวเองนับหนามเตยเป็นหลาน เพราะเป็นลูกของรุ่นน้อง แต่เป็นหลานที่เรียกบรรดาป้าๆ และน้าๆ ว่า “พี่” ตลอด จึงเป็นที่ถูกใจกันยิ่งนัก
หนามเตยเป็นเด็กฉลาด เป็นเด็กที่อ่านหนังสือมาก แต่คำว่าอ่านมากมิได้หมายถึงเฉพาะ “จำนวน” หากมากไปด้วย “คุณภาพ” ที่สามารถเชื่อมโยงจากหนังสือเล่มหนึ่ง ไปสู่เล่มหนึ่งด้วยความรื่นรมย์ ตามตัวอักษรที่ผุ้เขียนได้ประพันธ์ไว้ จากหนังสือง่ายๆ ไปสู่เล่มที่ยากขึ้นๆ บางเล่มดิฉันได้อ่านเมื่ออยู่ในมหาวิทยาลัย หรือกระทั่งยังไม่ได้อ่านเลยจนถึงปัจจุบัน  ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เห็นแววจึงให้เป็นสมาชิกพิเศษของห้องสมุดที่นั่นและสามารถยืมหนังสือไปอ่านได้ รวมทั้งชักชวนให้ไปเข้าร่วมกิจกรรมการเขียนและการอ่านต่อไป….  หนูอ่านหนังสือออกได้ช้ามาก เมื่ออ่านหนังสือออก หนูรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ใจ เพราะมันคืออีกโลกหนึ่ง
ถามหนามเตยให้พุดถึงห้องสมุดเรา เจ้าตัวบอกว่านอกจากจะมีระบบการค้นหาหนังสือ และมีหนังสือที่ดีแล้วยังมีหนังสือหายาก ที่น่าทึ่งมาก ทำให้อยากอ่านและอยากอ่าน
โลกการอ่านของหนามเตยมีพื้นฐานจากครอบครัว ไม่มีการบังคับ ผู้ปกครองใช้กลวิธีชักชวนแบบโฆษณาชวนเชื่อ ลักษณะเดียวกับ Book Talk ดึงบางส่วนออกมาสนทนากัน ส่วนที่เหลืออยากรู้ก็แล้วแต่ ภาษาปัจจุบันคือไม่มีการสปอยเล่าให้ฟังทั้งหมดทั้งเล่ม รวมทั้งการมีเวลาและการใช้ชีิวิตส่วนตัว ที่ใช้ “เวลา” ที่มีท่องเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง เรียนรู้ แสวงหาและทำความรู้จักกับโลก …. เป็นชีวิตที่น่าทึ่งและน่าชื่นชมสำหรับเด็กวัยนี้
picture-336
คนต่อไป เมื่อคุยกับหนามเตยเรียบร้อยแล้ว แต่ยังสาระวนกับการคุยนอกเวทีแบบต่อเนื่อง เรื่องโครงการที่คิดและเคยคุยๆ กันไว้กับหนามเตย แต่ยังไม่เป็นรูปร่างสักที
พลันสายไปเห็นคุณยายกำลังเดินเลือกช๊อปหนังสือ จึงบุ้ยใบ้ให้น้องไปสัมภาษณ์รีบไปคุยกับคุณยาย ส่วนดิฉันถลาตามไป คุณยายเล่าว่าทราบข่าวนี้จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด พร้อมกับบอกจุดเด่นที่เลือกซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ข้อดีคือข่าวสดมีเรื่อง “วัดและพระ” มากกว่าฉบับอื่น วันนี้ตั้งใจจะมาหาหนังสือธรรมะ เพราะหนังสือหายไปกับพระแม่คงคา คุณยายอยากได้หนังสือประวัติวัด เหตุผลคืออยากจะตรวจสอบว่าวัดในเมืองไทย วัดไหนที่ยังไม่ได้ไป วัดที่ไปแล้วจะมา “ติ๊ก” ถามว่าไปกับใคร บอกว่าไปกับเพื่อนๆ ไปไหว้พระกัน
นักเขียนในดวงใจคือ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” คุณยายบอกว่า หากลูกหลานไปเรียนเมืองนอกจะให้อ่านหนังสือเรื่อง พม่าเสียเมือง เพราะจะทำให้รักชาติกันมากขึ้น ประทับใจกับคำบอกเล่าของคุณยายวัย 80 ปี
picture-345
จึงไม่รอช้าขอชื่อและที่อยู่ นำไปบอกเล่าเรื่องราวนี้ในเฟสบุ๊คส์ ไม่นานมีน้องบอกว่าจะส่งหนังสือเรื่องไหว้พระ 76 จังหวัดให้ คุณยายบอกกับดิฉันว่าบุญกุศลที่ทำให้เรามาพบกัน คุณยายสอนว่าสมัยนี้ต้องเรียนให้เยอะๆ เพราะยายจบปริญญาตรี สมัยนี้ต้องเรียนจนถึงปริญญาเอก
ยอดตอง ช่วยถือถุงหนังสือแล้วจูงคุณยายไปส่ง ที่หน้าประตูศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เพื่อเรียกรถแท๊กซี่ คุณยายจับมือแน่น คุยตลอดทาง ก่อนจะขึ้นรถคุณยายหยิบหนังสือในถุงผ้ายื่นให้ …
picture-361
พวกเราเชื่อว่าเป็นอีกวันที่คุณยายมีความสุข
ในโลกนี้ยังมีคนต่อไป และคนต่อไป เรื่องราวแบบนี้คงจะประจวบเหมาะกับสถานที่ของการจัดงาน… มานุษยวิทยา คือ การศาสตร์ว่าด้วยการศึกษามนุษย์ในทุกแง่มุม
คิดแบบนี้ไม่รู้ผิดหรือถูกแฮะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร