Knowledge capture and management concepts

เมื่อวันที่  2-6 สิงหาคม พ.ศ.2553  ไปประชุม/อบรม/สัมมนา  เรื่อง Location Based Services Agro-Tourism  และเทคนิคการสร้างข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยวเชิงเกษตร กิจกรรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ ศูนย์คอมพิวเตอร์ เนคเทค และศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์
โดยที่เนคเทคมีโจทย์คือเรื่อง Smart Tourism โดยจะเข้ามาสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีกับหน่วยงานที่สนใจ ส่วนศูนย์คอมพิวเตอร์ จะดูเรื่องระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ และศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์  จะดูแลเรื่องการให้ความรู้กับบุคลากรทั้งของผู้ประกอบการ และมัคคุเทศก์ รวมทั้งการสร้างแผนธุรกิจ  ทั้งนี้สำนักงานการเกษตรจังหวัดนครปฐม จะทำโครงการนี้เพื่อทูลเกล้าถวายในหลวง ในวันที่ 5 ธันวาคม 2553

แล้วไปเกี่ยวข้องได้อย่างไร เนื่องจากหอสมุดฯ ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก ซึ่งมีเนื้อหาที่นำไปประยุกต์ใช้ ทางผู้จัดจึงเชิญให้เข้าไปร่วมฟังการเสวนาในครั้งนี้

วันแรกจัดในลักษณะของการเสวนากลุ่มเล็กๆ ตัวเองได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ มีศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก ซึ่งรวบรวมสารสนเทศต่างๆ มากมาย แต่ประเด็นที่ทางเนคเทคสนใจคือเรื่องการจัดการความรู้ที่เกี่ยวกับข้อมูลท้องถิ่น ที่มีปะปนอยู่ใน blog ของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์  ซึ่งได้จากการที่งานศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก มีกิจกรรมออกไปสำรวจพื้นที่เพื่อรวบรวมภูมิปัญญารวมทั้งที่มีพวกเราช่วยกันเขียน ช่วยกันเล่าแต่ลักษณะงานที่ทำเป็นการรวบรวมเพื่อเตรียมให้ผู้ใช้บริการล่วงหน้า แต่ยังไม่เคยทำงานในลักษณะที่มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนแบบนี้  จึงน่าสนใจ วงเสวนาสรุปกันว่าใช้เรื่องกล้วยไม้ ในพื้นที่ของอำเภอบางเลน เป็นจุดเริ่มต้น

วันต่อมาเป็นการสัมมนาได้นำผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาเป็นวิทยากร หัวข้อที่ตนเองให้ความสนใจและคิดว่าสามารถนำมาใช้ได้กับงานของห้องสมุดคือเรื่องของ Knowledge capture and management concepts : ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ และ ดร.มารุต บุรณรัช ซึ่งทั้งสองท่านเป็นนักวิชาการมาจากเนคเทค ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้คือ

Knowledge Portal วิทยากรได้พูดถึงเว็บไซต์ของหน่วยงานคงต้องเปลี่ยนไปจากเดิมที่ทุกอย่างอยู่ในหน้าจอเดียว ให้สร้างเป็นเว็บท่า เป็นศูนย์กลางความรู้ เข้าถึงง่าย ดึงดูดความสนใจของผู้ใช้  แล้วสามารถปรับแต่งข้อมูลให้เหมาะกับผู้ใช้ในแต่ละคนได้  ศูนย์การการสร้างจึงอยู่ที่ผู้ใช้  ทำให้การสร้างเว็บไซต์ต้องดูว่า ผู้ใช้ต้องการอะไร ไม่ใช่เพื่อแสดงว่าเรามีอะไร พัฒนาการของ portal มีดังนี้คือ

–          search engine เช่น Alta Vista

–          Navigation Site เช่น Yahoo , MSN

–          Portal เช่น Amazon

KM Portal เป็นการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในลักษณะของ  – ผู้ใช้—– มีความรู้ —– ให้คนอื่น  และ ผู้ใช้—– ใช้ประโยชน์ —– แลกเปลี่ยน โดย KM Portal มีหน้าที่  สนับสนุนกระบวนการการทำงาน  (process support) สนับสนุนการทำงานเป็นทีม  (teamwork) สนับสนุนการจัดการข้อมูลและเอกสาร (discussion , blog, wiki) สนับสนุนการปรับแต่งให้เหมาะกับแต่ละคน (personalization)

ความฉลาดของ KM Portal เพื่อการสืบค้นการทำงานร่วมกัน การจัดการเนื้อหาและการสร้างเนื้อหา  ด้วยการใช้โปรแกรมตัวแทน (Intelligence Agents) เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้และความรู้ ด้วยการพิจารณาจากประวัติของผู้ใช้บริการ และต้องเรียนรู้เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้ จัดการทางธุรกรรมกับผู้ใช้บริการได้ รวมทั้งการเปรียบเทียบและการต่อรอง

แนวคิดการจัดการความรู้ ทุกคนรู้ควาามหมาย เข้าใจถึงประโยชน์ทุกอย่าง ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ความรู้ที่มีอยู่ในตัวเองออกมาสู่ความรู้ที่ชัดแจ้งได้  หากทุกคนยังไม่รู้จักการออกมาเปิดใจลงมือปฏิบัติเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยใช้เครื่องมือต่างๆ ที่จัดไว้ให้  คนส่วนใหญ่มักอยู่ในลักษณะของการเปิดเพื่อรับ KM จากผู้อื่นมากกว่า

การพัฒนาองค์ความรู้ในแบบ Ontology วิทยากรพูดถึงเว็บไซต์ว่าในปัจจุบันเข้าสู่ยุค web 3.0 หรือ  semantic web และมีการนำ Ontology เข้าไปใช้ ซึ่งเป็นรูปแบบขององค์ความรู้ที่นำไปใช้ในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบไปด้วย Knowledge Engineering, Domain Expert และ Share and Re-use เอกสารที่ใช้อ้างอิง

โดย Ontology  เป็นการจัดแบ่งหมวดหมู่ความรู้ ที่แสดงกลุ่มคำและความสัมพันธ์ระหว่างคำในในขอบเขตความสนใจหนึ่ง ๆ (Domain) มีขั้นตอนคือ

–         กำหนดมโนทัศน์ (concept)

–         กำหนดความสัมพันธ์กับมโนทัศน์ เช่น แบบ is-a หรือ part-of

–         กำหนดคุณสมบัติของมโนทัศน์  ได้แก่ คุณสมบัติที่มีมาแต่กำเนิด และคุณสมบัติที่ได้มาภายหลัง

–         การสืบทอดคุณสมบัติ และจำนวนคุณสมบัติที่มีได้ (cardinality)

เช่น  มโนทัศน์ของ “จักรยาน” ต้องมีมือจับ เบาะนั่ง เท้าถีบ ตัวรถ ทุกอย่างมีคุณสมบัติคือมีได้ 1 อัน และล้อ มีคุณสมบัติคือต้องมี 2 ล้อ  ซึ่งทุกอย่างเป็น part-of ของจักรยาน และ จักรยาน is-a เสือภูเขา BMX ขนส่ง นำเที่ยว

ฟังอาจารย์น้องสองคนบรรยายก็รู้สึกสนุก แถมยังให้ฝึกทำ งงค่ะ ดีนะที่มีน้องๆ นักศึกษาปริญญาโทสาขาภูมิศาสตร์มาช่วย ส่วนงานที่เราอยากทำคือเรื่อง semantics ได้คุยกับน้องๆ น้องพยักหน้างึกงัก เฮ้อ…ดีใจที่มีคนมาเข้าใจเราว่าเราอยากได้อะไร เพราะบางวันยังงงเลยว่าที่นั่งงมอยู่หน้าจอ หรือขนหนังสือมาสุมๆ ไว้ แล้วเปิดๆ อ่านโน่นอ่านนี่ทำอะไร พอมาเจอผู้รู้แนะนำให้ก็รู้สึกดี แถมยังใจดี๊ดีแนะนำอาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง Ontology ด้วย
หาอ่านกันต่อไปนะพี่น้อง…
บทสรุปคือ เรื่องราวทั้งหมดล้วนน่าสนใจที่ต้องเปิดใจยอมรับถึงความก้าวหน้า ทางด้านวิชาการทุกเรื่อง ที่ทุกคนอยากที่ตามทัน และโปรดอย่าแปลว่าเป็นเรื่องไอที   ดังนั้นการรู้จักหาพันธมิตรเข้ามาช่วยในการทำงาน ทั้งในเรื่องของหลักการ หลักกู และคำวิจารณ์ จะเป็นทางลัดให้ทุกคนเข้าใจ เพราะไม่มีใครรู้หรือทำทุกอย่างได้คนเดียว แม้จะไม่ถูกใจ ไม่ชอบ แต่การฝึกรับความรู้สึกแบบนี้ เพราะจะทำให้เรานิ่งขึ้น มองงานหรือชีวิตได้ทะลุ ไม่ใช่จับคำ หรือจับบางประเด็น ทำเทียม เลียนแบบจนลืมบริบทของเรา แล้วไปตัดสินใจคนเดียว หรือไปปรึกษา หรือพูดคุย กับคนที่พร้อมจะเออออห่อหมก (ทำไมต้องห่อหมก?)  ซึ่งตัวเองมองว่าหากเรายังยัดเยียด หรือชี้นำความคิดของเราให้้คนอื่น ผลลัพท์คือความคิดของเราที่ไม่มีอะไรงอกเงยขึ้นมา และขอเรียกว่า… ขาดทุนทางความคิด (แม้จะได้เท่าเก่าแต่ต้องบวกค่าเสียเวลาไปด้วย)
งานนี้น่าสนๆ ขณะนี้กำลังมองหาแววว่าจะมอบงานชิ้นนี้เข้าอ้อมกอดของท่านผู้ใด น้องๆ พี่ๆ ที่ชอบการทำงานแบบท้าทาย ติดต่อมาได้นะจ๊ะ… จะจัดให้
ปล. งานสัมมนายังมีอีกสองเรื่องที่น่าสนใจคือเรื่อง Social Networking กับองค์กรธุรกิจ กับเรื่อง e-learning  แล้วจะมาขยายความค่ะ และอย่าลืมไปเยี่ยมเฟสบุ๊คส์ของห้องสมุดด้วยนะคะ กำลังไปได้สวยเลยที่เดียว ส่วนเรื่องไปดูงานที่สวนกล้วยไม้ไม่เล่าไว้จะพาไป อิอิ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร