เมื่อต้องเขยิบ…ขยับ…และขยายชั้นหนังสือ

งานจัดชั้น ปรับปรุงและขยายชั้นหนังสือคือ หนึ่งในภาระหน้าที่ของชาวหอสมุด โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายบริการ สาเหตุก็เพื่อให้รองรับหนังสือที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การขยายชั้น อาจไม่ใช่เรื่องที่ยาก แต่หากมีการวางแผนและจัดการที่เหมาะสม ก็จะไม่มีผลกระทบต่อการใช้ห้องสมุดของผู้ใช้บริการ (ซึ่งหน้าที่นี้เป็นของผู้บริหาร เช่น หัวหน้าฝ่าย/ หัวหน้างาน) การขยายชั้นนี้หอสมุดฯ มักทำกันในช่วงปิดภาคการศึกษาที่มีผู้ใช้บริการน้อย
ก่อนการขยายชั้นห้องสมุดแต่ละแห่งอาจจะมีวิธีการแตกต่างกัน สำหรับหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ของเรา ได้มีการรณรงค์ให้ผู้ใช้มายืมหนังสือไปให้มากกว่าจำนวนที่กำหนด และให้ยืมเป็นเวลานานขึ้นภายใต้ โครงการยืมไม่อั้น ในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนนี้ เพื่อให้เหลือหนังสืออยู่บนชั้นน้อยที่สุด ทำให้การย้ายชั้นหนังสือทำได้รวดเร็ว เมื่อผู้ใช้นำหนังสือมาคืนก็นำไปจัดเก็บบนชั้นใหม่ได้เลย
การขยายชั้นหนังสือนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่ละที่ก็มีเทคนิคแตกต่างกันไป วันนี้ผมในฐานะผู้ที่ปฏิบัติงานในฝ่ายบริการ และมีประสบการณ์ในการขยายชั้นมานาน อยากจะมาบอกเล่าวิธีการขยายชั้นที่พวกเราชาวหอสมุดสนามจันทร์ได้ใช้กัน ซึ่งการขยายชั้นที่เราใช้กันมีหลายวิธี วิธีแรก คือ การขยายแบบเดินหน้า โดยเมื่อได้ชั้นหนังสือเปล่าหรือชั้นใหม่มาก็ควรปรับระดับสูงต่ำตามขนาดของหนังสือ เพราะหนังสือบางหมวดจะมีขนาดที่แตกต่างไปจากหนังสือหมวดอื่น เช่น หนังสือศิลปะ มักมีเล่มขนาดใหญ่  การขยายชั้นแบบเดินหน้าคือ การขยายหนังสือจากบนลงล่าง จากซ้ายไปขวา ขยายไปเรื่อยๆ จนเสร็จสิ้น
วิธีที่ 2 คือ การขยายแบบถอยหลังเริ่มต้นเหมือนวิธีการแรก โดยเริ่มจากการปรับระดับสูงต่ำของชั้นตามต้องการแล้ว ขยายแบบถอยหลังคือ ขยายหนังสือจากล่างขึ้นบน จากขวาไปซ้าย จนกว่าจะเสร็จสิ้น
วิธีที่ 3 คือ การขยายแบบแทรกชั้น โดยการนำชั้นหนังสือเปล่าแทรกเข้าในแต่ละตู้ แล้วขยายแบบตู้ต่อตู้ และที่สำคัญการขยายชั้นแต่ละครั้งก็ควรทำความสะอาดชั้นพร้อมกันไปด้วย
อุปกรณ์เสริมที่ช่วยในการขยายชั้น คือ รถเข็น มีไว้เพื่อใส่หนังสือในกรณีที่ต้องยกหนังสือออกมาจากชั้นมาพักไว้ชั่วคราว ก่อนนำขึ้นชั้นใหม่ ซึ่งรถเข็นแต่ละคันก็ต้องมีสติกเกอร์หรือป้ายติดไว้ให้ชัดเจนว่า วางหนังสือจากด้านไหนไปก่อน จะได้ไม่สบสนตอนนำขึ้นไปวางบนชั้นเพราะ ต้องคำนึงถึงการจัดเรียงตามเลขเรียกหนังสือ และเป็นการช่วยเตือนและย้ำแก่ตนเองและเพื่อนๆ ป้องกันความผิดพลาด หากมีเพื่อนๆ มาช่วยขยายชั้นกันหลายคน และเมื่อขนย้ายหนังสือขึ้นไปเรียงในชั้นใหม่เสร็จก็ควรจะมีผู้ที่มีหน้าที่คอยสำรวจดูแลความ เรียบร้อยว่า หนังสือที่จัดเรียงขึ้นชั้นใหม่ถูกต้องหรือไม่
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องการคำนวณชั้น หรือการใช้พื้นที่ในการวางหนังสือบนชั้น เพราะพื้นที่บนชั้นมีผลมากต่อระยะเวลาในการขยายชั้นครั้งต่อไป  ถ้ามีหนังสือมาก แต่พื้นที่น้อย ก็ใส่ไม่หมด หรือต้องขยายชั้นกันบ่อยๆ เวลาคำนวณชั้นหนังสือ ก็ไม่ควรจะจัดให้มันเต็ม ต้องเหลือพื้นที่ในการทำงาน พร้อมหรือการขยายตัวในอนาคต ทั้งนี้ จะขยายมากน้อยเท่าไหร่ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณที่คาดว่าในหนึ่งปีนั้น มีหนังสือเข้ามากน้อยขนาดไหน ซึ่งในแถวหนึ่ง ๆ อาจต้องใช้พื้นที่ประมาณ 70-80% หรือ 50-60 % ของแถว (เปอร์เซ็นจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณหนังสือที่เข้ามามากน้อยขนาดไหน) ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติงานประจำในแต่ละชั้นรับรองว่าต้องรู้ว่า หนังสือหมวดหนังสือไหนเป็นที่นิยม หมวดไหนไม่เป็นที่นิยม หมวดที่มีหนังสือเยอะ เช่น หมวดคอมพิวเตอร์ก็จะจัดพื้นที่เผื่อการขยายชั้นไว้มากหน่อย ส่วนบางหมวดมีหนังสือน้อย เช่น ปรัชญา ก็จะจัดพื้นที่เผื่อไว้ไม่มากและท้ายสุดควรทำป้ายบอกที่ชั้นว่าหนังสือที่ย้ายมานั้นเป็นหมวดอะไร หากเป็นเวลาที่กระชั้นอาจทำเป็นป้ายชั่วคราวก่อน ทั้งนี้เพราะว่าจะป้องกันความสับสนและช่วยผู้ใช้บริการได้ 🙂

7 thoughts on “เมื่อต้องเขยิบ…ขยับ…และขยายชั้นหนังสือ

  • ขอบคุณพี่มนตรี ที่เป็นทั้งพี่ใหญ่และเป็นที่พึ่งให้น้องเวลามีปัญหาเรื่องงานช่างและงานประดิษฐ์อุปกรณืต่างๆ เสมอมา อย่าลืมเข้ามาเขียนอีกนะคะรออ่านค่ะ

  • ดีมากเลยคะ เพราะพี่นัยนาเคยแต่เป็นผู้ช่วยในการขยายชั้น ไม่เคยลงมือทำเองเลยสักครั้ง มีแต่พี่พี่ น้องน้อง บอกว่าพี่ติ๋วต่อตรงนี้นะครับ
    พี่ติ๋วพอแล้วครับ คนเหลือแล้ว ไปจัดชั้นก่อนก็ได้ครับ แหมพี่ติ๋วยังนึกในใจเลยว่า พวกนี้ทำงานกันได้ไวจัง หรือว่าเราเข้าไปช่วยแล้วทำให้พวกน้องน้องทำงานกันไม่สะดวก ที่แท้ อ๋อ เขาทำงานกันเป็นระบบนี้เอง

  • อย่างนี้ซิถึงจะเรียกว่า มืออาชีพ เป็น tacit knowledge เฉพาะบุคคลมากๆ เค้าเรียกว่า ทำจริง รู้จริง

  • ห้องสมุดเรานี่มีคนที่มี sideline knowledge กันเยอะทีเดียวนะ เป็นความรู้ที่ไม่ได้เกิดจากการเรียนในห้องเรียน ไม่มีหนังสือให้ซื้ออ่่าน (เราถึงต้องมีการทำการจัดการความรู้กันขึ้นไง) อยากให้บุคลากรของห้องสมุดคนอื่น ๆ แบ่งปันความรู้ ความชำนาญ ให้กับเพื่อน ๆ ได้รู้ อย่างที่พี่มนตรีทำบ้าง

  • ปอง
    เมื่อแรกเริ่มที่ย้ายมาทำงานที่ มศก. ป้าแมว คือหัวหน้าฝ่ายบริการเขียน(หน่วยบริการในอดีต) ป้านี่แหละแชมป์จัดชั้น(ตั้งตัวเอง) ใช่เลย ถูกต้องทุกประการ ตามที่หนูมนตรีบอก ให้ print ที่มนตรีเขียนออกมาเลย แล้วแจกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดชั้นเพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่นอกเหนือวิธีการจัดชั้นของตนเอง หรือ จัดทำ Focus group หาวิธีปฏิบัติที่ดี(best practise) เรื่องการจัดชั้นจะดียิ่ง ฮ่าๆ เป็น K M ไง

  • ลุงมนเขาเป็นช่าง เขามีฝีมือ มีความคิดสร้างสรรค์ เขาช่วยงานหอสมุดของเรามาก็มาก แต่เขาไม่ค่อยมีเวลาให้กับงานซ่อมมากนัก เขามีหน้าที่รับผิดชอบจัดชั้น ดูแลชั้น แต่เขาก็ยังปลีกเวลามาช่วยงานซ่อม เช่น ห้องน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ใช้บริการและบุคลากรของหอสมุด ต้องขอขอบคุณในความมีน้ำใจ ไม่นิ่งดูดาย ไม่ต้องวาน ไม่ต้องใช้ ฉันทำเอง สิ่งนี้แหละที่พี่ตาเห็นถึงน้ำใจ ผลงานเป็นสิ่งที่แสดงให้ทุกคนเห็นเอง ทำไปเถอะลุงมน ยังไงหอสมุดฯ ก็เป็นบ้านหลังที่สองของพวกเราชาวหอสมุดฯ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร