เรือนลาวโซ่ง
หลายวันก่อนพี่พงศ์สินได้นำข้อเขียนที่ถ่ายเอกสารจากหนังสือสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์มาให้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ เรือนลาวโซ่ง หลังสุดท้ายในจังหวัดเพชรบุรี ที่มีอายุกว่า 100 ปี ซึ่ง โซ่ง หรือ ไทดำ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึงที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เดิมที่กลุ่มชาติพันธุ์นี้ตั้งถิ่นฐานในแคว้นสิบสองจุไทในเขตเวียดนามตอนเหนือ ที่มีอาณาเขตติดต่อกับภาคใต้ของจีนและภาคเหนือของลาว
ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีการเกณฑ์คนโซ่งให้ไปอาศัยตามหัวเมืองรอบนอกเช่น เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรีโดยเฉพาะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีการจำลอง ” เฮือนลาวโซ่ง” ไว้ในบริเวณสนามหญ้าด้านข้าง เพื่อให้เข้าใจถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของลาวโซ่ง
ข้อมูลจาก : คอลัมภ์สโมสรมิวเซียม เรื่อง เฮือนไทดำหลังสุดท้ายในเพชรบุรี เขียนโดย พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่57 ฉบับที่20 วันที่ 11 กุมภาพัธ์ 2553 หน้า 49
ซึ่งปัจจุบันยังปรากฎลูกหลานของชาวโซ่งอยู่ตามสถานที่เหล่านี้อยู่ ส่วนหนึงยังดำรงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ เช่น ที่บ้านหนองจิก หมู่ที่ 1 ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จ.เพชรบุรี ซึงบ้านหนองจิกนี้เป็นหมู่บ้าน OTOP Village Champion (OVC) ของจังหวัดเพชรบุรี มาตั้งแต่ ปี 2549 จากการมีผลงานพัฒนาดีเด่นของการคัดเลือกหมู่บ้าน OVC ใน 4 ด้านคือ ด้านชุมชน ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ที่โดดเด่น ด้านการท่องเที่ยว ด้านการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมไทยทรงดำ จนได้้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้าน “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” เป็นหมู่บ้านที่มีความพร้อมและเป็นแหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติมาช้านาน ในด้านวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยทรงดำ ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน
สำหรับบ้านเรือนของลาวโซ่งนิยมมีลานกลางบ้านสำหรับเป็นที่เลี้ยงสัตว์ เก็บฟาง นวดข้าว เป็นที่ชุมนุมพบปะสังสรรค์ เรือนเป็นเรือนเครื่องผูก หลังคามุงด้วยแฝก ตรงเฉลียงด้านสกัดทำเป็นวงโค้งใหญ่ยาว
บ้านของชาวลาวโซ่ง เรียกว่า “กวังตุ๊บ” หรือ “เฮือนลาว” มีลักษณะเด่นคือ หลังคาทรงโค้งรูปกระดองเต่า มุงด้วยหญ้าคายาวลงมาเกือบถึงพื้น แทนฝาเรือนเพื่อกันลม ฝน และอากาศที่หนาวเย็น ตัวเรือนยกใต้ถุนสูง ภายในตัวบ้านมี “กะล้อห่อง” ที่แปลว่ามุมห้อง บุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวไม่สามารถเข้าไปในห้องนี้ได้และถ้าสังเกต บ้านของชาวไทยดำ บนจั่วหลังคาบ้านจะมี “ขอกุด” ลักษณะจะคล้ายเขาควายโง้งงอเข้าหากัน ประดับไว้
ซึ่งมีตำนานไทยทรงดำเล่ากันมาว่า แถนหรือเทวดาเป็นผู้ส่งควายมาเป็นสัตว์ใช้งานช่วยมนุษย์ทำมาหากิน จึงทำให้มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชาวไทยดำ เพราะชาวไทยดำทำนาเป็นอาชีพหลัก จึงเป็นที่มาของการสร้าง “ขอกุด” ประดับไว้เหนือจั่วหลังคาบ้าน ถือว่าควายมีบุญคุณทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความอดทน มุ่งมั่นการต่อสู้และความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ อันเกิดจากมีควายคอยช่วยเหลือ
ข้อมูลจาก : http://www.bannongjik.com/
สนใจข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ “โซ่ง” ทั้งเรื่องราวความเป็นมา ความเป็นอยู่ ประเพณี วัฒนธรรม รุปแบบที่อยู่ เครื่องแต่งกาย ฯลฯ สามารถสืบค้นได้ที่
http://www.opac.lib.su.ac.th/search
ที่หัวเรื่อง (subject) คำว่า “โซ่ง” ค่ะ