ETV (โทรทัศน์เพื่อการศึกษา)
หลังจากที่ประเทศไทยได้ส่งดาวเทียม “ไทยคม” (นามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) ขึ้นไปโคจรในห้วงอวกาศ เมื่อพ.ศ.2536 เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบการสื่อสารและการกระจายข่าวสารข้อมูลในด้านต่างๆ รวมทั้งช่วยในการพัฒนาการจัดการศึกษาทางไกล
โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้กรมการศึกษานอกโรงเรียน หรือสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนในปัจจุบัน รับผิดชอบโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อเป็นการขยายโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับมาตรฐานการศึกษา
โดยให้เป็นโครงการทดลองในระยะ 5 ปี (8 มิถุนายน พ.ศ. 2537 – 7 มิถุนายน 2542) และเริ่มทดลองออกอากาศตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2537 โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิไทยคมในเรื่องการจัดหาช่องสัญญาณ 1 ช่อง สัญญาณโทรทัศน์ ในความถี่ย่าน Ku-Band ของดาวเทียมไทยคม เพื่อการถ่ายทอดรายการ โทรทัศน์ และการให้ข่าวสารทาง เทเลเท็กซ์ (Teletext) เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาเป็นประจำทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
เกิดเป็น สถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ Educational Television, Ministry of Education หรือ ETV ขึ้น ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินและหลานคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน การรับชมรายการ ปัจจุบันสามารถรับชมรายการ ETV ได้ 4 ช่องทาง ดังนี้
1. มีชุดอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมระบบ จานรับสัญญาณ และ รับสัญญาณได้ที่ช่อง 96
2. รับชมผ่านทาง Internet ที่ http://www.etvthai.tv
3. ผู้รับชมรายการที่เป็นสมาชิกของ True Visions ช่อง 96
4. ผู้รับชมรายการที่เป็นสมาชิกของเคเบิลทีวีท้องถิ่นทั่วประเทศ
แต่ช่วงนี้โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมทั่วประเทศคงสนใจ ETV เป็นพิเศษ เนื่องจากช่วงนี้มีรายการ Tutor Channel เป็นรายการที่จัดเพื่อให้นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศร่วมติวเข้มเติมเต็มความรู้เพื่อเตรียมสอบ GAT , PAT ในทุกวันเสาร์ เวลา 10.00 – 12.00 น. ซึ่งสามารถรับชมรายการนี้ จาก ETV และสถานีโทรทัศน์ช่อง NBT
นอกจากนี้ ETV ยังมีรายการดี อีกมากมาย สมกับเป็นโทรทัศน์เพื่อการศึกษาจริงๆ เช่น รายการติวเข้ม O-NET เป็นรายการติวเข้มเตรียมสอบ O-NET สามารถรับชมได้ทุกวัน ในเวลา 21.00 – 22.00 น. ในแต่ละวิชา สับเปลี่ยนไปวันละวิชา เช่น วันจันทร์ วิชาเคมี วันอังคาร วิชาฟิสิกส์ วันพุธ วิชาชีววิทยา วันพฤหัสบดี วิชาคณิตศาสตร์ วันศุกร์ วิชาอังกฤษ วันเสาร์ วิชาภาษาไทย วันอาทิตย์ วิชาสังคมศึกษา หรือรายการ ETV กวดวิชาปิดภาคเรียน ม.ปลาย รายการเรียนรู้ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ เป็นต้น
แต่ถ้าหากใครที่พลาดจากการรับชม ก็สามารถดูรายการย้อนหลังได้จากเว็บไซต์ http://www.etvthai.tv พร้อมกับมีเอกสารให้ Dowmload ได้อีกด้วย
และจากการเสวนาทางวิชาการเรื่องการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ซึ่งเป็นประธานเปิดการเสวนา ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งถึงการเตรียมการขยายช่องทางให้ประชาชน สามารถรับชมสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) ได้เหมือนช่องปกติในชื่อ Free ETV ซึ่งได้มอบให้ กศน.เป็นผู้คิดแผนการทำงาน เตรียมสื่ออุปกรณ์ รูปแบบรายการ โดยกำหนดงบประมาณเพื่อการนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2553-2555 ซึ่งคงเป็นประโยชน์มากมายกับกับลูกหลานของพวกเราในไม่ช้านี้
ข้อมูลจาก : http://www.etvthai.tv/index.php
“จุรินทร์” ให้ปรับETV เป็น FREE TV” http://www.kroobannok.com/17680
” โทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) โอกาสทางการศึกษาของทุกคน” เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 18 กันยายน 2552 หน้า 22