LibCamp

9 August 2009
Posted by Pong

ไป Libcamp มา งงล่ะซิว่าแอบไปไหนมา…
รู้จักแต่บาร์แค้มป์ของพวกวงการคอมพิวเตอร์ ซึ่งสะมะเคยเล่าให้ฟังเมื่อต้นปี ที่นี้เรามาดูความหมายของบาร์แคมป์ หรือ BarCamp ก่อนว่าคืออะไร ในวิกีพีเดียบอกว่าเป็นชื่อเรียกการรวมประชุมของกลุ่มผู้ใช้งานในวงการคอมพิวเตอร์ โดยจะเป็นการเสนอผลงานจัดขึ้นด้วยผู้ร่วมประชุมเองซึ่งมักจะเน้นในด้าน เว็บแอปพลิเคชัน โอเพนซอร์ซ โพรโทคอล และรูปแบบข้อมูล แต่ก็ไม่ได้จำกัดแต่เพียงหัวข้อเหล่านั้นเท่านั้น บาร์แคมป์เริ่มมีครั้งแรกที่ แพโลอัลโท ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ระหว่างวันที่ 19-21 สิงหาคม 2548 โดยมีผู้ร่วมงาน 200 คน ซึ่งหลังจากนั้นการร่วมจัดงานในลักษณะนี้จะใช้ชื่อกันว่าบาร์แคมป์  คำว่า “บาร์แคมป์” เป็นการเล่นคำกับคำว่า ฟูบาร์ (foo-bar) ที่ล้อเลียนการประชุม ฟูแคมป์ (Foo Camp) ที่เป็นการประชุมในวงการคอมพิวเตอร์จัดขึ้นเฉพาะคนดังในวงการต่าง ที่ได้รับเชิญจาก ทิม โอ’ไรลลีเท่านั้น ส่วนเป็นใครคือะไร รบกวนไปอ่านต่อเพิ่มเติมค่ะ
ส่วน LibCamp จัดเป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกจัดเมื่อปลายเดือนเมษายน เคยอ่านเจอหลังจากที่จัดไปแต่ก็ไม่ได้ตามจนลืม พักหลังนี่ไปสิงสถิตย์อยู่แถวๆ Librarianmagazine จึงเข้าไป update ข่าวสาร  ซึ่งก็ต้องไปอ่านต่อที่ http://www.libraryhub.in.th/ ของน้องวายหรือ Projectlib อันลือลั่น
เมื่อเย็นวันศุกร์ก็ยุ่งๆ ตอนไปกินโต๊ะจีน พี่ๆ มาด้วยและเนื่องจากไม่ได้พบหน้ากันนานจึงมีเรื่องราวที่ต้องคุยยืดยาวจึงลืมเรืองอื่นๆ ไป วันเสาร์กว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจที่บ้าน มาถึงที่หอสมุดฯก็เกือบเที่ยง เพื่อพิมพ์แผนที่กับรายละเีอียดของโครงการไปอ่าน โทรหาใครก็ไม่มีใครรับสาย แต่ต้องรีบไปเพราะงานจัดบ่ายโมง เจอสะมะเลยลากตัวไปเป็นสารถี เจ้าตัวเลยตาแหกไปแต่งหล่อ แต่บอกว่าที่ตอบตกลงเพราะนึกว่าเป็นศาลายา แต่ the time must go on
งานนี้เป็นความร่วมมือของ Libraryhub ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ สสส.  เนื้อหาว่าด้วยเรื่องของ Library Blogger จัดที่ห้องสมุดสตางค์ เริ่มกิจกรรมแบบเป็นกันเองตั้งแต่บ่ายโมง แต่กว่าทะเรอทะร่าไปถึงเกือบบ่ายสอง ไปถึงก็ไปลงทะเบียนก่อนบอกว่าพี่ไม่ได้แจ้งชื่อมาค่ะ ก็ลงไป ขอแอบดูรายชื่อนิดหนึ่ง มีรู้จักอยู่บ้างแต่ไม่มีโอกาสได้เซย์ฮัลโหล ได้แต่ยิ้มแบบยิงยาวววว
เข้าไปถึงกำลังมีการคุยกันว่าท่านที่มาเป็นใคร มาจากที่ไหนและ blog มีความหมายอย่างไร ตามทัศนะของแต่ละคน ก็หมุนวนกันไปพร้อมกับแนะนำ blog ของทั้งสามท่านคือ
คุณอภิชัย อารยะเจริญชัย จากห้องสมุดสตางค์ เจ้าของ http://janghuman.wordpress.com ที่เข้าไปอ่านเหมือนกันเพราะท่าทางจะชอบการ์ตูนเหมือนเรา แต่ไม่คิดว่าอยู่ในวงการเดียวกัน มีคนถามว่าอ่านยังไง แต่เจ้าตัวบอกว่าเป็นชื่อที่สมัยเรียนเพื่อนๆ ตั้งฉายาให้ ส่วนตัวเรา่จะอ่านว่า จังฮู้แมน เพราะจังฮู้แปลว่า “มาก” ในภาษาใต้ ตอนเห็นก็จะบอกว่าคงเป็นคนที่มีอะไรมากมายแล้วมาเล่าให้ฟัง เป็น blog ที่น่าสนใจเพราะจะมีมุมมองที่ต่างออกไป และเขียนได้อย่างลึกซึ้งมี content ที่สามารถนำไปอ้างอิงได้เพราะผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้า มีแหล่งอ้างอิงครบครัน เยี่ยม ขอเป็นแฟนคลับด้วยคน
ต่อด้วยอาจารย์สุวรรณ สัมฤทธิ์ จากห้องสมุดกรมการแพทย์ น่าจะวัยน่าจะใกล้เคียงกับพี่แมว เล่าว่าเป็นของเขียนไม่เก่ง พูดก็ไม่เก่ง แต่ชอบงานวิชาการจึงนำเสนอ blog ในเชิงวิชาการ เน้นทางเรื่องสุขภาพตามถนัด เขียนสั้นๆ แต่อัดแน่นไปด้วยเอกสารอ้างอิงและคลิปวิดิโอที่เกี่ยวข้อง นับว่าเป็นการประชาสัมพันธ์การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งในและนอกห้องสมุดอย่างคุ้มค่า ลองไปดูไอเดียที่ถือเป้นนวัตกรรมแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ที่ http://departmentofmedicalservice.wordpress.com
ตามด้วยน้องเดือน แสงเดือน ผ่องพุฒ พวกเราหลายคนคงรู้จัก  ในฐานะศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ที่คณะโบราณคดี น้องเดือนมาเล่าว่าใช้ blog ประชาสัมพันธ์ห้องสมุดอย่างไร และได้เขียนเรื่องราวอะไรลงไปบ้าง ลองเข้าไปอ่านเช่นกันที่  http://senatelibrary.wordpress.com/
บรรยากาศเต็มไปด้วยความเรียบร้อย ที่แปลกคือมีผู้ชายเท่าๆ กับผู้หญิง ทั้งๆ เวลามีสัมมนาวงการนี้ทีไร ในหลักร้อยมักมีผู้ชายมาเป็นหลักหน่วย พอสามท่านพูด ผู้ดำเนินการก็ต้องหาแนวร่วมมาแชร์กัน ยังเงียบๆ กันอยู่ สงสัยจะจริงอย่างที่บอกว่าคนไทยอ่านน้อย เขียนน้อย ก็เลยยกมือขอพูดบ้างเพราะเป็นคนตรงข้ามกับแบบนั้นทุกอย่าง เพราะนอกจากคิดว่าตัวเองอ่านมาก เขียนมาก และก็ยังพูดมากอีกด้วย หากวันนี้มาแล้วไม่ได้พูดถ้าจะอึดอัดพาลนอนไม่หลับ จึงยกมือ แถมกลัวน้องไม่เห็นยังส่งเสียงว่าพี่ขอพูดค่ะ  เริ่มจากบอกว่าอันตัวข้าพเจ้านี้เป็นใคร มาจากที่ใด และที่หอสมุดฯ ก็มี blog ด้วยแหละ ก็พูด เล่าและโม้ไปว่า  Blog ในทัศนะของดิฉันคือเป็นที่ระบาย (จำใครมาไม่รู้แถวนี้แหละ) ความรัก ความคิด ความแค้นและความรู้ ให้คนอื่นรับรู้ว่าเราคิดอย่างไร เราทำอย่างไร เริ่มจากที่ทำงานมีการทำเรื่อง KM ต่อมามีการใช้ blog เป็นเครื่องมือบันทึกเรื่องราวเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน gotoknow แต่ที่ทำงานมีเพียงสองคนที่ไปเขียน พอทำงานไปมีความเห็นว่าการสร้าง blog ไม่ใช่เรื่องยากโดยเฉพาะในปัจจุบันไม่กี่นาทีก็ทำได้แล้ว (คนอื่นนะ) แต่การสร้างและทำความความเข้าใจกับผู้ร่วมงานให้เห็นกระบวนการทำงานและคุณประโยชน์ที่ได้จาก blog เป็นเรื่องยาก (เรื่องนี้ยืนยัน) ดังนั้นหอสมุดฯ ใช้เวลากับการทำความเข้าใจกับเื่องพวกเนี้ค่อนข้างมาก (อัันนี้เป็นความคิดของตนเอง แต่เพื่อนร่วมงานอาจจะรู้สึกว่าไม่เห็นรู้เรื่องเลยก็เป็นได้)
เล่าต่อไปว่าปัจจุบันเขียนอยู่สามที่คือ gotoknow, blog ของหอสมุดฯ และใน librarianmagazine (ความจริงมีอีกที่หนึ่งอันนั้นใช้นามแฝงจึงไม่เล่า ขออุ๊บอิ๊บ) ทั้งนี้ไม่คิดจะสร้าง blog ส่วนตัวเนื่องจากไม่มีเวลา (ความจริงคือไม่มีปัญญาเข้าไปทำอะไร) เอ๊ยไม่ใช่… ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ทำงานทั้งเจ็ดวัน ไม่ต้องตกใจนะคะ ไม่ได้ขยันทีอยู่เพราะต้องรับ-ส่งลูก (คือว่าไม่มีที่จะไป)
คุยกันในวงแบบนี้รู้สึกว่ามีความสุขดี เพราะคุยกันคนคอเดียว แต่ยืนยันว่าประมาณสักสี่สิบคน เป็นบรรณารักษ์และคนในวงการหนังสือมาจากหลากหลายที่ อาวุโสสูงสุดคืออาจารย์สุวคนธ์ อดีตผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติและปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ส่วนเด็กที่สุดคงเป็นน้องต้น นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จาก มศว. ผู้เป็นเว็บมาสเตอร์ อ่านอะไร แล้วจะพาไปรู้จักในตอนต่อไป นี่ถ้าเป็นเด็กทับแก้วละก็นะ พี่จะขอตัวมาช่วยงานแล้วขออนุญาตพี่แมวให้ยืมหนังสือแบบไม่อั้นเลยเชียว  แต่โลกของ Social Networking ทำให้นักศึกษาปีสองรู้จักคนในวงการแบบนี้เหมือนกับเรา มีการ follow คนๆ เดียวกับเราอีกด้วย
คุณบุญเลิศ อรุณพิพัฒน์แนะนำเรืองการเขียน  blog ว่าควรจะมี introduction ก่อน ไม่ควรเกิน 140 ตัวอักษร เพราะเวลาแสดงออกมาจะได้สวย เอ้าไปสังเกตของตัวเงอกันแล้วกัน ตามก้วยการปล่อยการรับ feed และการสร้าง plugin ที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ อันนี้ก็น่าเรียนรู้ สะมะไปด้วยเลยเบาแรงไปหลายอย่าง เก็บไว้เพราะอย่างไรเราก็คงจะต้องทำต่อไป
พบศิษย์เก่าทับแก้ว วงศ์ต้น เบ็ญจพงษ์ ทำงานที่ ม.หอการค้า แต่มาในนาม LibraryHub อ่าน blog ของหอสมุดฯเราเหมือนกัน บอกว่าเรื่องที่โดนมากที่สุดคือเรื่องนั้นน่ะ น้องมาเล่าเรื่อง blog ของห้องสมุดในต่างประเทศในต่างประเทศ มีหลาย blog ที่เราติดตาม และก็มีีอีกหลาย blog ที่เราไม่เคยอ่าน ก็จดๆ ไว้ตามอ่านกันต่อไป ในตอนท้ายของกำหนดการน้องต้องพูดเรื่อง plugin ใน blog แต่เวลาจำกัดจึงแขวนสไลด์ไว้ที่ไหนสักที่หนึ่ง คงต้องตามแล้วนำมาขยายต่อให้อ่านกันต่อไป
ตามด้วยน้องตั้ง หนุ่มน้อยจากรั้ว มศว. ข้างต้น น่าจะมาเรียนทับแก้วนะ แต่ไม่เป็นไรสัญญิงสัญญากันว่าจะติดตามงานซึ่งกันและกัน
คุณไกลก้อง ไวทยาการ จาก โครงการห้องสมุดดิจิทัล แผนงานไอซีทีเพื่อสุขภาวะออนไลน์และการสนับสนุนภาคีเครือข่าย (สสส.) บอกว่า มาบอกเล่าของงานที่ทำอยู่ว่าตอนนี้ได้ประสานงานกับกองจดหมายเหตุแห่งชาติ และสถาบันทักษิณคดี  มีพี่ๆ ติงเรื่องความซ้ำซ้อน ส่วนตัวแล้วเป็นโครงการที่น่าสนใจ กะว่าจะไปหาอ่านและสอบถามว่าทิศทางและแนวคิดว่าจะทำกันอย่างไร เพราะมีความคิดคล้ายๆกันในเรื่องของการพัฒนา content แต่การได้มาอาจมีมุมที่ต่างกันสารภาพว่ายังงงๆ อยู่กับโครงการอยู่
นอกจากได้ความรู้เพิ่มเติมแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าเรานำพาพี่น้องมาถูกทาง กิจกรรม ITUPDATE ที่พวกเราอดทนเรียนรู้กัน ทำให้เราสามารถติดตาม เข้าใจอะไรๆ ได้ทัน เกิดความเข้าใจให้เราสามารถคิดต่อได้มากมาย อีกทั้งเราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ยังผู้คนมากมายในสังคมที่พร้อมเข้ามาช่วยเหลือและแบ่งปันความรู้ให้เรามากมาย
เป็นความหฤหรรษ์ที่มีพื้นฐานของความรู้ ที่สัมผัสได้ถึงงดงามของคนที่เพิ่งจะรู้จักและพบหน้ากันเป็นครั้งแรก วันนี้เลยได้ทั้งขอและอีเมลกันทั่วหน้า หลายคนบอกว่าแล้วเจอกันใหม่นะ แล้วคุยกันทางเมล แล้วจะไปตามในทวิตเตอร์ ท่าทางต่อไปคงมีเรื่องให้้เราได้ทำอะไรๆ ด้วยกัน แบบสนุกแต่ได้ใจความ มีอะไรแบบนี้รู้สึกกระชุ่มกระชวยดีแต้ๆ
แถมขากลับได้ซิวน้องเดือนกลับได้ด้วยกันจึงได้คุยเรื่อง KM และอะำไรอีกมากมาย เป็นครึ่งวันของสังคมอุดมปัญญาจริงๆ
ขอบคุณผู้จัดทั้งสามหน่วยงานและขอบคุณ librarianmagazine ที่ให้เรารู้จักโลกมากขึ้น ขอบคุณคนใน LibCamp ครั้งหน้าพบกันค่ะ จะหนีบไปอีกหลายๆ คน เอาทั้งแบบเฒ่าๆที่ยังมีไฟอยู่  กับแบบใสปิ้งแบบน้องหยี และหล่อล่ำแบบใครดีหว่า

One thought on “LibCamp

  • อะไรกัน เขียนตั้งนาน submit แล้ว ไม่พบว่า Recent Post ก็ต้องเขียนใหม่ ไอ้ที่เขียนไปแล้ว จะเขียนอีกทีก็จะไม่เหมือนเดิม จำได้ว่า ป้าแมวขอบคุณหัวหอก พี่ปอง ที่ ทั้งฉุด กระชาก ดึงทุกคน ไปสู่ ไอที เกิดมี IT UPDATE หอสมุดโชคดีที่มีคนแบบนี้ และมาพบคนอย่างป้าแมว (อาไงเอากัน หากทำให้องค์กรก้าวหน้า) การที่องค์กรจะก้าวหน้าเป็นที่ประทับจิตประทับใจ ติดตราตรึงใจของผู้มาใช้บริการ ก็ต้องคนในหอสมุดเก่ง ดี มีคุณภาพ ทำงานด้วยความสุข ระยะแรกเรื่อง IT UPDATE หรืออะไรก็ตามที่ผิดไปจากวิถีชีวิตเดิม ก็จะคับข้องใจ เอาน่าเดี๋ยวเดียวก็ดี เมื่ออยู่ตัวแล้วก็จะสบาย

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร