อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับหลักกิโลเมตรที่ 0

เดิมประเทศไทยมีการปกครองในระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” เป็นระบอบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและมีอำนาจเด็ดขาดในการออกพระราชโองการหรือกฎหมาย จนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี มีกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า “คณะราษฎร” โดยมีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะ ได้ยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ทำให้ประเทศไทยหรือสยามในสมัยนั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น “ระบอบประชาธิปไตย” โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เป็นการปกครองที่ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกันภายใต้กฎบัญญัติของกฎหมาย
 
เมื่อเริ่มการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อเป็นกติกาการปกครองบ้านเมืองเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยมีพระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
 
เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศไทย จึงได้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งอยู่ ณ วงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางติดกับถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ดำเนินการสร้างโดยกรมศิลปากร รูปแบบของอนุสาวรีย์ได้มาจากการที่รัฐบาลจัดการประกวดแบบ โดยแบบที่ได้รับรางวัลและนำมาสร้างนั้น เป็นผลงานการออกแบบของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล สถาปนิกประจำกรมศิลปากร เมื่อสร้างเสร็จได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 มีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประมาณ 250,000 บาท ลักษณะของอนุสาวรีย์ “มีการนำสถาปัตยกรรมแบบไทยมาผสมผสานเป็นรูปหล่อลอยตัว ประกอบด้วยรูปเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทย ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า มีความสูง 3 เมตร หนัก 4 ตัน ตั้งบนฐานรูปทรงกลมด้านบนโค้งกลม ลานอนุสาวรีย์ยกสูง ลดหลั่นเป็นชั้น ๆ รอบนอกลานอนุสาวรีย์มีปีกทรงแบนอยู่ 4 ทิศ ที่ฐานปีกประดับภาพปั้นปูนและก่อเป็นอ่างน้ำพุ เหนืออ่างน้ำพุเป็นรูปพญานาคพ่นน้ำลงในอ่าง มีรั้วเตี้ย ๆ กั้นโดยรอบลานอนุสาวรีย์ รั้วนี้ใช้ปืนใหญ่โบราณ จำนวน 75 กระบอก ฝังดินโผล่ท้ายกระบอกขึ้นมาเป็นเสา คล้องโซ่เชื่อมต่อกัน” (สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร 2559 : 139)
 
ลักษณะของอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้น มีความหมายดังนี้   
ปีกทั้งสี่ด้านของอนุสาวรีย์ วัดสูงจากแท่นพื้นได้ 24 เมตร มีความยาว 24 เมตร หมายถึงวันที่ 24 ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง
ปืนใหญ่โบราณ 75 กระบอก หมายถึง พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง
ภาพคนหรือภาพปูนปั้น ติดแสดงประกอบบริเวณโดยรอบส่วนล่างของปีกทั้งสี่ ออกแบบและดำเนินการปั้นโดย ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ร่วมกับนายสิทธิเดช แสงหิรัญ นายพิมาน มูลประมุข นายแช่ม แดงชมพู และนายอนุจิตร แสงเดือน แสดงถึงความเป็นไปของคณะราษฎร์ตอนที่นัดหมายกระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พานรัฐธรรมนูญ สูง 3 เมตร หมายถึง เดือนที่ 3 นับตามสมัยโบราณ หรือเดือนมิถุนายนนับตามสมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พระขรรค์ 6 เล่ม ประดับประตูป้อมกลางที่ตั้งพานรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ด้าน หมายถึง หลัก 6 ประการซึ่งเป็นนโยบายของคณะราษฎร์ที่ใช้ในการปกครอง ได้แก่ หลักเอกราช หลักความสงบภายใน หลักลัทธิเสมอภาค หลักเสรีภาพ หลักเศรษฐกิจ และหลักการศึกษา
 
ปัจจุบัน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นอกจากเป็นอนุสรณ์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยแล้ว  ในด้านการคมนาคม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังถูกใช้เป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของกรุงเทพมหานคร เป็นจุดเริ่มต้นนับระยะทางไปยังจังหวัด อำเภอ หรือสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยอีกด้วย โดยเฉพาะทางหลวงแผ่นดินของประเทศไทย ที่เริ่มจากที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง แยกไปตามถนนต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร จนถึงจุดเริ่มต้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1 คือ ถนนพหลโยธิน จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปลายทางที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3 คือ ถนนสุขุมวิท จากสี่แยกเพลินจิต ปลายทางที่จังหวัดตราด และทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 4 คือ ถนนเพชรเกษม เริ่มจากสะพานเนาวจำเนียร เขตบางกอกใหญ่ ปลายทางที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ต่อมามีทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 2  คือถนนมิตรภาพ เริ่มต้นจากจังหวัดสระบุรี ไปสะพานมิตรภาพจังหวัดหนองคาย นับกิโลเมตร 0 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทับถนนพหลโยธินช่วงกรุงเทพฯ-สระบุรี แล้วจึงแยกออกเป็นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 2
 

บรรณานุกรม

 
กรุงเทพมหานคร.  สำนักการโยธา.  (2559).  “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (2483).”  ใน จดหมายเหตุเล่าเรื่อง อนุสาวรีย์เมืองบางกอก.  139-142.  กรุงเทพฯ : สำนักฯ.  
คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี.  (2525).  “อนุสาวรีย์.”  ใน ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่มที่ 8 โบราณสถานและอนุสาวรีย์สำคัญกรุงรัตนโกสินทร์.  187-211.  กรุงเทพฯ : คณะกรรมการฯ.  
ชาญวิทย์  เกษตรศิริ.  (2543).  2475 : การปฏิวัติสยาม.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ธนากิต.  (2552).  ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย.  กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น.
Nation TV.  (2558).  เคยสงสัยไหม? กิโลเมตรที่ 0 ของกรุงเทพฯ อยู่ที่ไหน?.  [ออนไลน์].  จาก http://www.nationtv.tv/main/content/378461104/.  วันที่ค้นข้อมูล 7 กรกฎาคม 2562.

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร