3 วันที่ตะนาวศรีและมะริด

               เมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดอาจยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายนักสำหรับการท่องเที่ยว อาจเป็นเพราะด่านเข้าออกที่ชื่อ ด่านสิงขรยังเป็นด่านผ่อนปรน  มีแต่คนไทยกับคนพม่าเท่านั้นที่เข้าออกกันโดยทำหนังสือผ่านทาง (border pass) ส่วนชาวต่างประเทศอื่น ๆ ต้องเข้าออกทางด่านถาวรอื่น ๆ ซึ่งส่วนมากจะอยู่ไกลจากเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด และเส้นทางการคมนาคมยังไม่สะดวก ทำให้ในเมืองมะริดมีนักท่องเที่ยวเป็นคนไทยเป็นหลัก และต้องมีความชอบการท่องเที่ยวแบบบ้าน ๆ ด้วย
             เมื่อวันหยุดวันที่ 8-10 ธันวาคม 2561 ดิฉันไปเที่ยวเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด มีหลายอย่างที่อยากจะเล่า…  พวกเราทั้งหมด 9 คน เดินทางถึงด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผ่านด่านกันอย่างสะดวก เพราะมีทีมงานทำ border pass ไว้ให้เรียบร้อยแล้ว จุดแรกที่น่าสนใจคือ จุดแดงน้อย ที่เป็นบริเวณพื้นที่ที่เป็นฉนวน หรือ No man’s  land ระหว่างไทยกับเมียนมา มีศาลเจ้าพ่อหินกอง เป็นศาลเมียนมากับศาลไทยหันหลังชนกัน ต่างคนต่างหันหน้าเข้าประเทศตัวเอง

             ผ่านด่านมาแล้วเข้าสู่หมู่บ้านมูด่อง มีหอนาฬิกาที่ทำจากต้นทานาคาทั้งต้น ต่อจากนั้นพวกเราเข้าไปเยี่ยมหมู่บ้านสิงขร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทย ได้พูดคุยกับยายเรียบ (จำนามสกุลไม่ได้ซะแล้ว) ยายยังพูดภาษาไทยชัดเจน ชวนยายกลับประเทศไทย ยายบอกว่าไม่มีที่ดินสักนิด ลายาย ยายให้พรกับทุกคนแล้วจึงไปไหว้พระที่วัดสิงขรณ์ มีพระอยู่ 5 รูป ดิฉันได้ถวามหมวกไหมพรมที่น้องกาญฝากไปทำบุญด้วย  

             ในตลาดเมืองตะนาวศรี มีห้องสมุดประชาชนด้วย เสียดายที่ห้องสมุดปิด เลยถ่ายรูปแต่ด้านหน้ามา  เขาเขียนว่า township public library  ได้ค้นหาความหมายของ Township พบมีผู้อธิบายไว้ว่า ในเมียนมา คำว่า township จะมีความหมายเทียบเท่าอำเภอ หรือเป็นส่วนย่อยของจังหวัด.. 

             อาหารกลางวันพวกเรากินข้าวที่ร้านอาหารไทยในตะนาวศรี ที่ทำได้รสชาติไทยมาก จนต้องถามว่าพ่อครัว (เราเห็นแล้วว่าเป็นผู้ชาย) เป็นคนไทยหรือพม่า ลูกน้องบอกว่าเป็นพม่าเคยมาทำงานในประเทศไทย ส่วนที่พักในคืนแรกเป็นโรงแรมเล็ก ๆ อยู่ริมแม่น้ำตะนาวศรี คืนแรกฝนตกพรำทั้งคืน
              เช้ารุ่งขึ้นพวกเราเข้าเมืองมะริด  อยู่ที่มะริดทั้งวัน ตระเวนเที่ยวชุมชนต่าง ๆ ตลาดเก่าแก่ วัด โบราณสถานสมัยกรุงศรีอยุธยา เที่ยวดูวิถึชีวิตของชุมชนโบราณ ทดลองกินอาหารและขนมพื้นถิ่น ยอดนิยมคือชา รสอร่อย หอม แต่ตลอดที่อยู่ที่ตะนาวศรีและมะริด ได้ดื่มไปสัก 3 ถ้วย เพราะกลัวไขมันทรานส์จากครีมเมอร์ ปลาท่องโก๋ตัวใหญ่ ๆ ก็น่ากิน แต่ก็กลัวไขมันเพราะน้ำมันที่ทอดปลาท่องโก๋ที่เมียนมาร์ ที่เคยเห็นมาหลายครั้ง จะมีสีดำค่อนข้างสนิท ผัดก๋วยเตี๋ยวที่หน้าตาเหมือนผัดไทก็ดูน่าลอง ผัดในกระทะบนเตาฟืน แบ่งผัดตามคำสั่งคนซื้อ เพราะสามารถเรียงฟืนไว้ตรงที่ต้องการผัด เส้นที่ยังผัดไม่เข้าที่ก็มีแค่ฟืนรุม ๆ เท่านั้น หอมฟืน แต่ก็ไม่กล้าสั่งกิน เพราะเมื่อแม่ค้าที่ทาหน้าด้วยทานาคาผัดเสร็จ หอมฉุย ก็ตักใส่ถุงก๊อบแก๊บแล้วมัดปากทันที…อายุมากแล้วการกินอยู่เลยต้องเรื่องมากนิดนึง ส่วนโมฮิงยา อร่อย ทานได้ คุณลูกชายแย่หน่อยตรงที่อาหารทุกมื้อเรามักเป็นอาหารทะเล แต่คุณลูกไม่กินกุ้ง ปลาหมึก ดีว่ามีไข่เจียวให้เกือบทุกมื้อ จนมื้อที่มีล้อบเตอร์ ใคร ๆ ก็บอกต้องลองกินหน่อย คุณลูกพยายามกินไปได้ครึ่งตัวก็ยอมแพ้ โรงแรมที่นอนที่เมืองมะริด เป็นโรงแรมที่ดีทีเดียว จากชั้น 9 ที่เป็นห้องอาหารสามารถชมวิวเมืองมะริดได้รอบ

            เมืองมะริดเป็นเมืองท่าชายทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประมง ที่ท่าเรือเก่า (กำลังสร้างท่าเรือนานาชาติ) มีการทำปูเค็มด้วย เขาบอกว่าเป็นปูเค็มที่ส่งมาขายเมืองไทยทำส้มตำ พอไปที่ท่าเรือใหม่มีป่าชายทะเล มีปลาตีน กับปูก้ามสีแดง ๆ มาก เลยทำให้คิดไปว่า เป็นปูที่เขาเอาไปทำเค็มหรือเปล่า ส่วนพืชเห็นหมากเป็นหลัก ทุกบ้านต้องมีการตากหมากไว้ที่ลานบ้าน แต่ต่างจากเมืองไทยตรงที่เขาตากทั้งลูก บ้านเราหั่นตากเฉพาะเนื้อ ได้ถามไกด์ว่าที่นี่เขาเก็บหมากกันยังไง ไกด์บอกว่าสอยเอา เราถามว่าไม่มีการปีนแล้วโยกต้นต่อยอดไปเรื่อย ๆ เหรอ ไกด์บอกว่าไม่มี แล้วก็ปลูกแตงโมมาก ลูกใหญ่เท่าลูกบาส ผลไม้ที่ต่อจากอาหารทุกมื้อของเราจึงเป็นแตงโม ไม่มีอย่างอื่นเลย
            ธรรมชาติที่ตะนาวศรีกับมะริดยังเยี่ยมยอดมาก เทือกเขาตะนาวศรีปกคลุมไปด้วยหมอกเกือบทั้งวัน บนภูเขาเป็นสีเขียวด้วยต้นกล้วยป่า หมาก ไผ่ บ้านชาวบ้านเรียงรายกันอยู่ ไม่มีรั้วที่เป็นกิจจะลักษณะ ไม่เห็นสถานีตำรวจ ไม่เห็นโรงพยาบาล (หรือเราจะอ่านป้ายไม่ออก) แต่มีโรงเรียนเยอะ (สังเกตเห็นเสาธงชาติและไกด์บอก) เห็นหมู่บ้านแล้วนึกถึงภาพวาดของอาจารย์ดำรง วงศ์อุปราช เหมือนอย่างนั้นจริง ๆ

            ไม่รู้ว่าปีหน้า ถนนที่กำลังเร่งก่อสร้างจะนำความเจริญ เข้ามาแทนที่วิถีบ้าน ๆ สักเพียงไหน การทัศนศึกษาครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการเก็บประวัติศาสตร์ไว้ในความทรงจำและภาพถ่าย

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร