Cambodian' s name

       เนื่องจากช่วงนี้มีนักศึกษาต่างชาติแวะเวียนมาทักทายกันบ่อยครั้งดังเช่นนักศึกษาชาวกัมพูชาที่มาติดต่อขอรับบริจาคหนังสือไปไว้ที่ห้องสมุดที่ประเทศกัมพูชา ติดต่อกันครั้งแรกๆ ก็จะมีการเรียกชื่อกันผิดบ้างถูกบ้าง เช่น นักศึกษาชื่อ VAT  BUNCHAN  THONA เราเรียกนักศึกษาด้วยความเคยชินด้วยคำแรกของชื่อคือ VAT โดยที่ไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อนก็นึกไปว่าคงเหมือนกับคนไทยที่มีชื่อต้น แล้วตามด้วยนามสกุล จนกระทั้งพูดคุยสนิทสนมพอสมควรนักศึกษาก็เล่าว่า VAT เป็นนามสกุลของพ่อของเขา ส่วน BUNCHANN เป็นนามสกุลของแม่ของเขา ส่วนชื่อจริงๆ ของเขาก็คือ THONA ให้เีรียกเขาว่า THONA ดีกว่า เลยทำให้เกิดความสงสัยว่า การเขียนชื่อและนามสกุลของชาวกัมพูชานั้นเขียนอย่างไร เวลาเรียกชื่อเขาเรียกกันอย่างไร
       เมื่อวันที่จัดงานทับแก้ววิชาการได้มีโอกาสพบกับนักศึกษาอีกครั้งเลยถือโอกาสสัมภาษณ์นักศึกษาเสียเลย จึงได้ความว่า เวลาเราเรียกคนกัมพูชาเราจะเรียกว่า ชาวกัมพูชาหรือชาวเขมรก็ได้ เขาจะไม่เคร่งครัดหรือ serious อย่างคนบางประเทศ และชื่อของชาวกัมพูชานั้นมักเขียนโดยใช้นามสกุลนำหน้าและชื่อตัวตามหลัง ตามวัฒนธรรมฝรั่งเศส นักศึกษาเล่าว่า คนกัมพูชาใช้นามสกุลนำหน้าชื่อเสมอ หากต้องการเรียกชื่อคนกัมพูชา ควรเรียกชื่อท้าย คนกัมพูชาส่วนมากมีชื่อนามสกุล 2 คำ ส่วนน้อยที่จะมีชื่อ 3 คำ อย่างตัวนักศึกษาเองที่มีชื่อนามสกุล 3 คำ ก็เลยถามเขาไปว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า คำไหนคือชื่อของคนที่เราจะเรียก นักศึกษาบอกว่าให้เรียกขานด้วยคำสุดท้ายของชื่อ ตัวอย่างเช่น นักศึกษาชื่อ VAT  BUNCHAN  THONA อย่างที่บอกเล่าข้างต้นว่า VAT คือนามสกุลของพ่อ ส่วน BUNCHAN เป็นนามสกุลของแม่ และ THONA คือชื่อตัวนักศึกษา หรืออย่างเพื่อนของ THONA ที่มาด้วยกันเป็นผู้หญิงชื่อ NOY  PHALY นั่นหมายความว่า นักศึกษาท่านนี้มีนามสกุว่า NOY มีชื่อว่า PHALY นั่นเอง
       ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้ไปลองค้นข้อมูลเกี่ยวกับชื่อของชาวกัมพูชาดู ปรากฎว่ามีข้อมูลเพียงเล็กน้อยที่กล่าวถึง แต่ข้อมูลที่ได้มาก็ตรงกับที่ได้สัมภาษณ์นักศึกษามาเช่นกัน เช่น 
       เปิดวิธีเรียกชื่อ (ว่าที่) เขยชาวเขมรของ “ตระกูลชินวัตร” เขียนโดย Isranews วันอังคาร ที่ 07 สิงหาคม 2555  เขียนว่า “ส่วนชื่อของชาวเขมร มักเขียนโดยใช้นามสกุลนำหน้าและชื่อตัวตามหลัง เช่น ฮุน  แซน ฮุนคือนามสกุล แซนคือชื่อ ยกเว้นในกรณีที่เจ้าของชื่อเลือกที่จะใช้นามสกุลตามหลัง ก็จะใช้ตามที่เจ้าของชื่อใช้” (แหล่งอ้างอิง : https://www.isranews.org/isranews-scoop/8107-2012-08-07-15-51-18.html)
       และข้อความของโพสนี้ที่ผู้เขียนทำงานเป็นล่ามภาษาเขมร ได้เขียนเรื่องชื่อ-นามสกุลของชาวกัมพูชาไว้อย่างนี้ “หลายท่านอาจจะเคยรู้ชื่อดังต่อไปนี้ เช่น ฮุน  เซน, เตีย  บัญ, ฮอ  นำฮง, จัน  วัฒนากา, ประ  มุนีอุดดม, ซอน  เซียวเเม็ย, ฮุน  มาแณต ฯลฯ เป็นต้น ทุกท่านเคยสงสัยไหมว่า อันไหนชื่ออันไหนนามสกุล ผมขออนุญาตแนะนำให้ทุกท่านเข้าใจเลยว่า คนเขมร หรือคนกัมพูชา เขาจะเอานามสกุลขึ้นก่อนชื่อ และจะเอาชื่อพ่อ หรือปู่ ตั้งเป็นนามสกุล ยกตัวอย่างเช่น จัน  วัฒนาการ มีนามสกุลชื่อ จัน ส่วนตัวคือ วัฒนากา ซึ่งเราสามารถสันนิฐานได้เลยว่า วัฒนากา มีพ่อชื่อ จัน หรือปู่ ชื่อจัน ก็อาจเป็นได้ แต่ส่วนมากจะใช้พ่อมากกว่า ถ้าจะใช้ชื่อปู่ ส่วนมากจะเป็นพวกตระกูลดังๆ เช่น ตระกูล ฮุน โดยตะกูล ฮุน แม้กระทั่งรุ่นหลาน ก็ยังใช้ชื่อ ฮุน อยู่ (แหล่งอ้างอิง : http://www.thailandsusu.com/webboard/index.php?topic=364714.0)
       อีกตัวอย่างหนึ่ง “การตั้งชื่อและนามสกุลในประเทศกัมพูชา ต้องเอานามสกุลขึ้นก่อน และตามด้วยชื่อ เช่น นายสุข สำราญ คำว่า “สุข” เป็นนามสกุล และคำว่า “สำราญ” เป็นชื่อ ส่วนการสืบนามสกุลในกัมพูชาจะต่างจากไทยอย่างสิ้นเชิง คำที่เป็นนามสกุลของแต่ละคน เป็นชื่อของปู่ หรือในบางครั้ง เป็นชื่อของพ่อ แล้วนำมาเป็นนามสกุลของลูก เช่น นายสุข สำราญ คำว่า “สุข” อาจเป็นชื่อของปู่ หรือชื่อของพ่อของ “สำราญ” ก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการผู้ตั้งชื่อและชาวเขมรหลายคนค่อนข้างซีเรียสกับการเรียกชื่อ และนามสกุลผิด เช่นเรียกนามสกุลว่าเป็นชื่อ และเรียกชื่อว่าเป็นนามสกุล อีกอย่างสำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนนามสกุลตามสามี ถึงแม้ว่าได้จดทะเบียนสมรสแล้วก็ตาม (แหล่งอ้างอิง : https://camsociety.blogspot.com/2017/09/blog-post_22.html)
       การสัมภาษณ์นักศึกษาครั้งนี้ทำให้ได้ความรู้เพิ่มขึ้นสามารถนำไปใช้ในการทำงานได้ เนื่องจากตัวผู้เขียนทำงานเป็นบรรณารักษ์วิเคราะห์หมวดหมู่ (Cataloguer) กฎของการลงรายการผู้รับผิดชอบ (ผู้แต่ง, ผู้แต่งร่วม, บรรณาธิการ, ผู้แปล, ผู้วาดภาพ เป็นต้น) หากเป็นชนชาติตะวันออกที่มีสกุลหรือแซ่ เช่น จีน เวียดนาม เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น ให้เขียนรายการผู้แต่งลงไปโดยใช้นามสกุลหรือแซ่นำหน้า ตามด้วยเครื่องหมาย , แล้วตามด้วยชื่อตัว ซึ่งจากการสัมภาษณ์ทำให้ต้องรวมชาวกัมพูชาเพิ่มเข้าไปอีกชนชาติหนึ่งที่ต้องใช้นามสกุลนำหน้าชื่อในการลงรายการ ตัวอย่างเช่น
หากเป็นผู้แต่งชาวจีน ชื่อ  Li Yang การลงรายการต้องเขียนดังนี้ Li, Yang ซึ่งแสดงว่า ผู้แต่งคนนี้ นามสกุลหรือแซ่  Li  มีชื่อว่า Yang
ผู้แต่งชาวเวียดนามชื่อ เหวียน ถิ มาย การลงรายการต้องเขียนดังนี้ เหวียน, ถิ มาย ซึ่งแสดงว่า ผู้แต่งคนนี้ นามสกุลหรือแซ่ เหวียน มีชื่อว่า ถิ มาย
ผู้แต่งชาวเกาหลีชื่อ Kim Jin Yee การลงรายการต้องเขียนดังนี้ Kim, Jin Yee ซึ่งแสดงว่า ผู้แต่งคนนี้ นามสกุลหรือแซ่ Kim มีชื่อว่า Jin Yee
ผู้แต่งชาวชาวญี่ปุ่นชือ อาโอยาม่า โกโซ การลงรายการต้องเขียนดังนี้  อาโอยาม่า, โกโซ ซึ่งแสดงว่า ผู้แต่งคนนี้ นามสกุล อาโอยาม่า มีชื่อว่า โกโซ
และผู้แต่งชาวกัมพูชาชื่อ ยึม กิจจแส การลงรายการต้องเขียนดังนี้ ยึม, กิจจแส ซึ่งแสดงว่า ผู้แต่งคนนี้ นามสกุล ยึม มีชื่อว่า กิจจแส
 
 ขอบคุณข้อมูลดีๆ จากนักศึกษาทั้งสองท่าน
 

 
แหล่งอ้างอิงเพื่ออ่านเพิ่มเติม : https://www.isranews.org/isranews-scoop/8107-2012-08-07-15-51-18.html
http://www.thailandsusu.com/webboard/index.php?topic=364714.0
https://camsociety.blogspot.com/2017/09/blog-post_22.html
https://www.dailynews.co.th/article/329952
http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=2484&filename=index
 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร