การเสื่อมสภาพ/ชำรุดของเอกสารและหนังสือ

    เอกสาร หนังสือ นิตยสารและสิ่งพิมพ์อื่นๆ ที่พิมพ์หรือเขียนลงบนกระดาษเมื่อผ่านพ้นกาลเวลาไปนานๆกระดาษก็จะเริ่มเปลี่ยนสภาพไปเช่น เหลืองกรอบ เปื่อยผุเป็นผง ขาดชำรุดง่าย ตัวหนังสือจาง ตัวอักษรหลุด เพราะกระดาษทุกชนิดทำจากพืช และพืชแต่ละชนิดที่นำมาผลิตเป็นเยื่อกระดาษก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เช่น กระดาษที่มีโมเลกุลของเซลลูโลสมากความเหนียวของกระดาษก็มีมากขึ้นตามลำดับ หากกระดาษที่มีปริมาณของลิกนินสูงจะมีสีค่อนข้างเหลือง กระดาษมีความไวต่อแสงสว่าง ความร้อนโดยเฉพาะรังสีอัลตราไวโอเลต(UV) สามารถที่จะทำปฏิกริยาทางเคมีทำให้สีและความเหนียวของกระดาษเปลี่ยนแปลงไปง่ายขึ้น สำหรับกระดาษที่ผ่านกระบวนการผลิตตามกรรมวิธีเพื่อให้ได้กระดาษที่ดูดซึมของเหลวได้น้อยลงมักจะมีสารที่เป็นแป้งหรือเจลลาตินผสมอยู่ที่เรียกว่าสารกันซึม กระดาษแบบนี้หากถูกความชื้นมักจะเกิดเชื้อราง่าย นอกจากนั้นกระดาษยังเป็นอาหารอย่างดีของแมลง เช่น ปลวก มอด แมลงบางชนิดที่ชอบแทะกินกระดาษ
   ส่วนสาเหตุที่ทำให้เอกสารสิ่งพิมพ์ชำรุดเสื่อมสภาพ มีสาเหตุหลักอยู่ 2 ประการคือ
     1.  สาเหตุภายใน  เป็นการเสื่อมสภาพจากตัววัสดุของกระดาษเอง เช่น เกิดจากสารเคมีและวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิต, หมึกพิมพ์หรือสีบางชนิดที่มีฤทธิ์เป็นกรดที่สามารถกัดทำลายเนื้อกระดาษให้ขาดทะลุได้ ดังที่พบได้จากเอกสารหรือหนังสือโบราณในระยะเวลา 100-200 ปีที่ผ่านมา กรดจากหมึกสามารถแทรกซึมทะลุกระดาษไปกัดทำลายกระดาษแผ่นอื่นๆไปด้วย หรือหากกระดาษมีความชื้นหรือเปียกน้ำหมึกก็จะเลอะเลือนไป สีของหมึกบางชนิดจะจางหายไปเมื่อได้รับแสงหรือความร้อนนานๆ
     2.  สาเหตุภายนอก เป็นการชำรุดและเสื่อมสภาพจากสิ่งแวดล้อม จากสาเหตุต่อไปนี้
            –  มนุษย์ ถือเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการชำรุดและเสื่อมสภาพทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ส่วนใหญ่มักเกิดจากความสะเพร่าขาดความระมัดระวัง และการปล่อยปละละเลยในการใช้หรือการเก็บรักษาที่ขาดความเอาใจใส่ ทำให้ฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกสะสม ก่อให้เกิดเชื้อราหรือแมลงกัดแทะทำลาย  
          –  อุณหภูมิ  โดยเฉพาะประเทศไทยของเราอยู่ในเขตอากาศร้อนชื้น สภาพอากาศร้อนเกือบทั้งปี ความร้อนเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและเป็นตัวเร่งให้เกิดสภาพความเสื่อมของวัสดุต่างๆได้ในอัตราสูงทั้งแห้งกรอบ เปราะ สีซีดจาง
          –  น้ำและความชื้น น้ำและไอน้ำถือเป็นตัวการสำคัญอีกชนิดที่เป็นตัวช่วยเร่งให้เกิดปฏิกิริยาและการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ทางเคมี และทางชีววิทยากับวัสดุต่างๆ โดยเฉพาะกับเอกสารที่เป็นกระดาษมักดูดความชื้นได้ดี ทำให้เกิดเชื้อราง่าย แมลงหลายชนิดที่ชอบอาศัยในที่ที่มีความชื้นสูง อาทิ แมลงสาบ แมลงสามง่าม ปลวก เป็นต้น 
            –  แมลงและสัตว์อื่นๆ ที่ชอบกัดกินเอกสาร,หนังสือ,และสิ่งพิมพ์ ถือเป็นตัวการสำคัญเช่นกันที่เป็นตัวทำลายที่ทำให้เกิดสภาพชำรุดและเสื่อมสภาพอย่างถาวรที่ไม่สามารถซ่อมแซมให้คืนสู่สภาพเดิมได้ แมลงที่พบมากได้แก่ ปลวก แมลงสาบ มอด เหาหนังสือ ไร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสัตว์ประเภทกัดแทะที่ช่วยทำลายอีกบางชนิด เช่น หนู สุนัข
          –  จุลินทรีย์ ก๊าซ ฝุ่นละออง เขม่า ควัน ในบรรยากาศโดยรอบตัวเราและในสถานที่ต่างๆนั้นมีสิ่งเหล่านี้แขวนลอยอยู่ หากมีสะสมเยอะเมื่อรวมตัวกับไอน้ำหรือความเปียกชื้นมากๆ ก็ก่อให้เกิดฤทธิ์เป็นกรด ด่าง กัดกร่อนทำลายเอกสารได้เช่นกัน 
            สาเหตุและปัจจัยดังกล่าวนี้ล้วนทำให้เอกสาร หนังสือ สิ่งพิมพ์ที่ทำด้วยกระดาษนั้น ถูกทำลาย ที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดคือมนุษย์  เราทำงานห้องสมุดอยู่กับหนังสือ เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆนานามากมายก่ายกอง ได้พบเห็นปัญหาและสาเหตุที่เกิดกับหนังสือและวัสดุที่เราให้บริการกับผู้ใช้บริการ  ห้องสมุดของเราประสบกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำบ่อยที่สุด คือเกิดน้ำท่วมห้องจากน้ำฝนที่ไหลล้นและรั่ว, ก๊อกน้ำชำรุด (ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่เราไม่สามารถป้องกันหรือคาดเดาได้) อีกส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ใช้บริการที่ทำหนังสือเปียกชำรุดซึ่งในระยะหลังๆนี้พบสาเหตุนี้ประจำ
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร