วิวัฒนาการของจดหมายเหตุ

    จดหมายเหตุ คือ การบันทึกความทรงจำของมนุษย์เพื่อเก็บรักษาเอาไว้ช่วยในการถ่ายทอดความทรงจำจากรุ่นสู่รุ่น เป็นการเก็บรวบรวมทั้งเอกสาร  ภาพถ่าย ภาพยนตร์  สื่อโสตทัศน์ สิ่งของที่ระลึกต่างๆ เรื่องราวของจดหมายเหตุนั้นมิใช่เพิ่งจะเกิดหรือเพิ่งมี แต่มีมานานแล้วและมีวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน ขอสรุปถึงวิวัฒนาการโดยสังเขปนะคะ
    วิวัฒนาการจดหมายเหตุ เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารของมนุษย์ เริ่มต้นจาก การพูดไปสู่การเขียน จากการเขียนด้วยลายมือซึ่งถือเป็นเอกสารต้นฉบับตัวเขียนไปสู่การพิมพ์ และจากการพิมพ์ด้วยกระดาษไปสู่สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นเอกสารจดหมายเหตุจึงมีอายุพอๆกับความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์เราที่มีวิวัฒนาการมาโดยตลอดนั่นเอง ในยุคโบราณมีการสงวนรักษาสื่อหลากหลายชนิด เช่น แผ่นดินเหนียว แผ่นโลหะ แผ่นหินที่จารึกภาพและตัวอักษรภาษาโบราณที่ยังคงมีหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน เช่นของชาวอัสซิเรีย ชาวบาบิโลเนีย และอาณาจักรฮิตไตท์ ต่อมามีเอกสารที่มีการบันทึกลงบนกระดาษปาปิรัสของอียิปต์โบราณ จนกระดาษเริ่มแพร่เข้าสู่ยุโรปคือที่เอเธนส์และโรม (นั่นเป็นเอกสารที่อยู่ในยุคโบราณและยุคกลาง)
    ส่วนงานจดหมายเหตุยุคใหม่เริ่มอีกครั้งในปี 1543 ในประเทศสเปน แล้วงานจดหมายเหตุก็ได้พัฒนาขึ้นอีกจากผลการปฏิวัติฝรั่งเศส ประเทศฝรั่งเศสจึงเป็นประเทศที่ก่อตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติสมัยใหม่เป็นแห่งแรก และยังเป็นชาติแรกที่ออกกฎหมายรับรองสิทธิของพลเมืองในการเข้าถึงเอกสารจดหมายเหตุ ต่อมาหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศสแล้วราวห้าสิบปีประเทศอังกฤษก็ได้ก่อตั้ง หอจดหมายเหตุกลางขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี 1838  ส่วนสหรัฐอเมริกาได้มีการสร้างอาคารหอจดหมายเหตุแห่งชาติขึ้นในปี 1934 และงานจดหมายเหตุในสหรัฐอเมริกาก็ก้าวหน้าไปไกล มีหอจดหมายเหตุในหลายสถาบัน และในหลายองค์กรมาก
     สำหรับประเทศไทยของเรานั้นก็มีวิวัฒนาการจดหมายเหตุมาครั้งโบราณกาลเช่นกัน คือมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเช่นการจารึกบนแผ่นทอง หรือที่เรียกว่า สุพรรณบัฏ และการจารึกบนแผ่นเงิน ที่เรียกว่า หิรัณยบัฏ ซึ่งการจารึกทั้งสองอย่างนี้จะใช้ในการเฉลิมพระยศเจ้านาย เรายังมีพงศาวดาร ซึ่งเป็นการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ส่วนราชกิจจานุเบกษานั้น จัดเป็นจดหมายเหตุของสังคมไทย ในยุครัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 ครั้นในปีพ.ศ. 2495 ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งกองจดหมายเหตุแห่งชาติ ขึ้นอยู่ในสังกัดของ กรมศิลปากร เพื่อทำหน้าที่เก็บเอกสารสำคัญของชาติ ซึ่งกองจดหมายแห่งชาติแห่งนี้ปัจจุบันคือ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
      นอกจากนี้ยังมีการตั้งหอจดหมายเหตุขึ้นในองค์กรต่างๆด้วย เช่น หอจดหมายเหตุธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างๆของไทยก็ก่อตั้งหอจดหมายเหตุขึ้นเกือบทุกแห่งเช่นกัน ในเมื่อมีหอจดหมายเหตุแล้ว ก็ต้องมีบุคลากรที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องควบคู่ไปด้วย ในปีพ.ศ. 2544 ประเทศไทยเริ่มมีองค์กรวิชาชีพนี้ขึ้นโดยได้รับอนุญาตให้มีการก่อตั้ง สมาคมจดหมายเหตุไทย เป็นครั้งแรก สำหรับทางด้านวิชาการด้านจดหมายเหตุนั้นในระยะเริ่มแรกเริ่มเปิดสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นรายวิชาหนึ่งในสาขาบรรณารักษศาสตร์เรียนควบคู่ไปกับวิชาการห้องสมุด ต่อมาได้แพร่กระจายไปตามหลักสูตรทางบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในปัจจุบันวิชาการจดหมายเหตุมีพัฒนาการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทแล้วที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในคณะโบราณคดี เพื่อผลิตนักจดหมายเหตุที่มีคุณภาพและเป็นมืออาชีพต่อไป
     
 
    

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร