ทับแก้ว Book Fair…ปฐมบทแห่งตำนาน

  ขวบปีที่ ๑๒ ของ…งานหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตก
จบลงหมาดๆ เมื่อวาน วันอาทิตย์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
การเดินทางมายาวนานนับสิบปี…นานพอที่จะเป็น…ตำนาน
การหวนทวนจำแต่หนหลัง บางเรื่องราวอาจตกหล่น
บางผู้คนอาจเลือนหาย แต่หลายสิ่งอย่างที่ “เรา” ร่วมสร้างมิอาจลืม

  ปี ๒๕๕๐ ภายหลังจากดิฉันโอนกลับมาทำงานอีกครั้ง
ณ หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ เมื่อล่วงเข้าปีที่ ๒
หลังจากที่ได้รับความไว้วางใจจากพี่แมว คุณกาญจนา สุคนธมณี
อดีตหัวหน้าหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์
ให้ขยับโต๊ะทำงานหมุนเวียนไปเข้า-ออก ฝ่าย/งาน ต่างๆ
  ตั้งแต่ฝ่ายโสตฯ ที่มีโอกาสไปช่วย ปรับเปลี่ยนลุ๊คและรุกในงานบริการ
สร้างห้องฝึกซ้อมร้องเพลงที่ยังคงนิยมมาจนปัจจุบัน
สร้างกิจกรรมฉายหนังในห้องฉายมินิเธียร์เตอร์ สืบทอดเจตนา “วิกรังไข่”
ย้ายไปประจำการช่วยงานวารสาร ในระยะเวลาอันสั้นมาก ถึงมากที่สุด
กระทั่งมาสู่งานรักษาการหัวหน้างานจัดหาทรัพยากรที่ร้างลาตัวจริงมาสักระยะ
จำไม่ถนัดนักว่าโจทย์งานออกร้านจำหน่ายหนังสือมาถึงมืออย่างไร
  รำลึกได้เพียงว่า
วันหนึ่งพี่แมวได้เชิญไปพบ และคุยถึงกิจกรรมออกร้านจำหน่ายหนังสือประจำปี
ซึ่งหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ จัดขึ้นเป็นประจำมากว่า ๑๐ ปีแล้วในขณะนั้น
ในลักษณะของกิจกรรมภายในหอสมุดฯ มีการเชิญตัวแทนจำหน่าย ร้านค้าต่างๆ
ให้นำหนังสือมาจัดแสดง ให้บุคลากร เฉพาะอย่างยิ่งคณาจารย์
ได้มีโอกาสคัดเลือกหนังสือประกอบการเรียนการสอนเพื่อนำเข้าบริการในห้องสมุด
  การพูดคุยวันนั้นดิฉันได้เสนอความเห็นให้ขยายขอบเขตการจัดงาน
จาก Mini Book Fair ซึ่งเป็นการบริการภายใน ไปสู่การบริการเพื่อชุมชนในวงกว้างยิ่งขึ้น
ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาการขาดโอกาสของชุมชน โดยเฉพาะโรงเรียน
ที่จำกัดด้วยงบประมาณในการจัดหาหนังสือเข้าห้องสมุด
การเข้าถึงแหล่งจำหน่ายที่หลากหลาย ในราคาที่ย่อมเยาว์
เช่นงานเทศกาลหนังสือแห่งชาติต่างๆ ที่จัดในกรุงเทพฯ
จึงมักเป็นสิ่งที่โรงเรียนนอกเมืองหลวงไม่มีสิทธิได้สัมผัส
  ก่อนจบการสนทนาในวันนั้น ดิฉันได้แจ้งกับพี่แมวว่า
หากจะให้ดิฉันดำเนินการขอจัดงานใหญ่
โดยจะไม่จำกัดขอบเขตเฉพาะเพียงเรื่องหนังสือ
เพราะ “ชุมชน” ของดิฉันหมายรวมเอาผู้คนและอาชีพในถิ่นฐาน
ที่จะสามารถผนวกรวมเข้าในงานได้โดยไม่ขัดเขิน
หากแต่จะช่วยเติมสีสรรให้กับบรรยากาศโดยรวมอย่างดึงดูดใจยิ่งขึ้น
  เมื่อรับโจทย์เริ่มต้นผนวกกับข้อเสนอเงื่อนไขของตนเอง
สิ่งที่เป็นประเด็นตามมาในสมอง คือ ชื่อของงาน
ที่ต้องพยายามคิดให้ครอบคลุมประเด็นสาระ สื่อที่ต้องการจะส่งสาร
ที่เป็นเนื้อหาและกิจกรรมของงาน ดิฉันใช้ชื่องานตามโครงการว่า
“ทับแก้ว : มหกรรมหนังสือสื่อการเรียนรู้”
กระทั่งมีเสียงพึมพำแว่วมาดังๆ ว่า ชื่ออะไรยาวจัง จำยาก
จึงคิดชื่อลำลองของงานว่า “ทับแก้ว Book Fair“
หากจำไม่เคลื่อนนิคเนมนี้น้าวี คุณกวี ชุติมานนท์ เป็นผู้นำเสนอ
  และหากจะถามดิฉันว่าเอาความมั่นใจจากไหน
ในเรื่องที่คิดการใหญ่…ตอบเลยว่าไม่มี
สิ่งเดียวที่รู้และคิดคือ…ไม่มีอะไรเกินพยายาม
ประจวบกับโอกาสที่ดีในวันนั้น คือ การได้รับการส่งเสริม
จากผู้บังคับบัญชา คือพี่แมว และคุณสุมณทิพย์ เลิศเกียรติกุล
หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์และพัฒนาทรัพยากรฯ ในขณะนั้น
ประกอบกับการสนับสนุนจากบุคลากรหอสมุดฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
บุคลากรฝ่ายวิเคราะห์ฯ ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ที่หนักและเหนื่อยร่วมกัน
  การจัดงานจำหน่ายหนังสือในความรู้สึกของดิฉันดูไม่ใช่เรื่องยากนัก
ด้วยเคยผ่านประสบการณ์มาแล้วอย่างน้อย ๒ ครั้ง
  ครั้งแรกเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาไกลบ้าน ในฐานะหัวปีของรุ่นและสาขา
ที่อยากสร้างกิจกรรมให้เป็นเยี่ยงเดินรอยแก่น้องๆ
ด้วยบัตรนักศึกษา ๑ ใบ กับหนังสือเบิกทางโครงการสัปดาห์ห้องสมุด
จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาตร์ มอดินแดง
ดิฉันอาจหาญพาตัวเองเข้ากรุงมุ่งหน้าสำนักพิมพ์ยอดนิยมในยุคนั้น
ซึ่งหลักๆ มักจะอยู่แถววังบูรพา แต่เป้าหมายแรกของหนอนวัยใสอย่างดิฉัน
คือ สนพ. ดอกหญ้า ซึ่งมีหน้าร้านที่สาขาท่าพระจันทร์
ที่ในสมัยนั้นมีร้านเทปสุดฮอท คือ ร้านน้อง ท่าพระจันทร์ อยู่ใกล้กัน
การเจรจากับพี่ทึ่ม ผู้จัดการสาขาขณะนั้น ใช้เวลาเพียงไม่นาน
เมื่อดิฉันเดินทางกลับมอ หนังสือจำนวนหลายสิบลัง
ก็เดินทางตามหลังไปเพียงพอให้จัดจำหน่ายตลอดงาน
  ความติดใจในรสชาติความท้าทายยังไม่เลือนหาย
เมื่อดิฉันมีโอกาสไปปฏิบัติงาน ณ โรงเรียนสาธิต ราวพ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๓
วิญญาณไฮเปอร์ก็เข้าสิงอีกครั้งกับการจัดงานสัปดาห์ห้องสมุด
แต่ครั้งนี้ดิฉันไม่ต้องพาตัวเองไปพบใคร เพียงแค่ทำหนังสือติดต่อ
ไปยังร้านค้า และ สนพ.เชิญชวนมาร่วมกิจกรรมจำหน่าย
แม้จะไม่มีตัวแทนมาร่วม แต่สนพ. ร้านค้าที่ขอความอนุเคราะห์ไป
ก็ยินดีเครดิตหนังสือมาให้จำหน่ายก่อนโดยไม่มีเงื่อนไข
  การจัดงานครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มที่ร่วมกับชุมชน
ด้วยดิฉันได้มีโอกาสเชิญปราชญ์ชาวบ้าน
มาสาธิตการทำและร่วมจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่น
การจัดงานที่สาธิตเป็นการจุดประกายที่จะสร้างเครือข่ายชุมชน
ดังนั้นเมื่อโอนกลับมายังหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์
กับโจทย์ที่ได้รับเรื่องการจำหน่ายหนังสือประจำปี
จึงเป็นนิมิตรหมายดั่งใจในการสานต่อชุมชน
  นี่เป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ในตำนาน ที่อยากเล่าสู่
หากแต่เบื้องลึก เบื้องหลังยังอีกยาวไกล
เชิญท่านผู้สนใจติดตามกันได้ในตอนต่อไปนะคะ
© ญ เล็ก ยอดแหลม ©
      ๑๒ ก.พ. ๒๕๖๑

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร