ในความ “เป็นทีม”

เคยสังเกตไหมว่า ในองค์กรที่เราทำงานอยู่ จะมีคนที่มีความรู้ ความสามารถต่างกันทำงานอยู่ด้วยกัน แต่ละคนจะมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในงานที่แตกต่างกัน ทำงานในหน้าที่ต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ภารกิจขององค์กรบรรลุผลสำเร็จ
 
คนแต่ละคนจะมี “ความจำกัด” คุณสมบัติที่ติดตัวมากับมนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิด ไม่เว้นแม้แต่คนที่โลกเรียกว่า “อัจฉริยะ” แม้ว่าเราจะเป็นอัจฉริยะ มีสติปัญญาล้ำเลิศ มีความสามารถเก่งกาจมากมายเพียงใด ก็ไม่สามารถทำงานทุกอย่างได้ด้วยตัวเองเพียงลำพังคนเดียว (เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ 2546 : 17) ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีและวิทยาการต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนเราตามไม่ทัน เราจำเป็นต้องมีคนอื่นมาช่วยเรา นี่เป็นเหตุผลที่เราต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือที่เรียกว่า การทำงานเป็นทีม ซึ่ง “ทีม” ก็คือ กลุ่มบุคคลที่มีการแบ่งสรรหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างกัน แต่ยังทำงานอย่างประสานสอดคล้องกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งร่วมกัน โดยที่ต่างคนต่างมีพันธะความผูกพันต่อกัน (เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ 2546 : 24) 
 
การทำงานเป็นทีม ทำให้เกิดความรอบคอบในการตัดสินใจ ทำให้สามารถมองเห็นข้อผิดพลาดที่คนเดียวอาจมองไม่เห็น หลายหัวคิดทำให้เกิดหลายมุมมอง นำไปสู่การค้นพบทางเลือกหลากหลายในการแก้ปัญหา (เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ 2546 : 13) 
 
การทำงานที่มีลักษณะเป็นการทำงานเป็นทีมนั้นมีดังนี้ (Likert, 1961 อ้างถึงใน เมตต์  เมตต์การรุณ์จิต 2559 : 22-23
1.  มีการเสวนา อภิปราย การโต้แย้งอย่างเปิดเผย แต่ต้องอยู่ในบรรยากาศที่สร้างสรรค์
2.  ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็น และทุกคนต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
3.  สมาชิกในกลุ่มต้องรับฟังความคิดเห็นสมาชิกคนอื่น ๆ อย่างจริงใจ โดยปราศจากการเสแสร้ง
4.  บรรยากาศของการทำงาน การประชุม ควรเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการ
5.  จะต้องมีการทำความเข้าใจในวัตถุประสงค์ การดำเนินงาน ผลประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกันอย่างโปร่งใส
6.  เมื่อมีการขัดแย้งหรือความตึงเครียดเกิดขึ้น ผู้บริหารรวมถึงสมาชิกจะต้องรีบหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน อย่าปล่อยให้เหตุการณ์บานปลายจนยากแก่การแก้ไข
7.  ผู้นำกลุ่มหรือทีมงานจะต้องมีภาวการณ์เป็นผู้นำ ดำรงอยู่ซึ่งความยุติธรรมและมีจริยธรรม จะไม่ใช้อิทธิพลจากการมีอำนาจอยู่เหนือเหตุผล
8.  สมาชิกของทีมจะต้องมีความกระตือรือร้นในการทำงาน การพัฒนาตนเองในด้านความรู้ ประสบการณ์
 
ปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการทำงานเป็นทีมจะเกิดจาก 3 ประเด็นหลัก ดังนี้ (วิกานดา  เกษตรเอี่ยม 2558 : 58)
1.  ปัญหาที่เกิดจากการบริหาร ได้แก่ การไม่มีนโยบายที่แน่นอน ไม่มีภาวะผู้นำ เอาผลประโยชน์ส่วนตัวมาปะปนกับงาน บริหารเวลาไม่เป็น ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงาน ขาดความเป็นกันเอง ไม่จริงใจกับผู้ร่วมงาน การสื่อสารและการมอบหมายงานไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ยอมรับการผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการทำงาน
2.  ปัญหาที่เกิดจากผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่ เป้าหมายการทำงานไม่ตรงกัน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ทำงานแบบตัวใครตัวมัน ไม่เข้าใจกระบวนการทำงาน ขาดความรับผิดชอบ ขาดความซื่อสัตย์ในการทำงาน
3.  ปัญหาด้านอื่น ๆ ได้แก่ ระบบข้อมูลไม่มีประสิทธิภาพ ระบบงานมีความซับซ้อน บรรยากาศการทำงานไม่เอื้ออำนวย อุปกรณ์ไม่เพียงพอ ขาดการประชุมปรึกษาหารือกัน
 
ดังนั้น สิ่งสำคัญในการทำงานเป็นทีมจะประกอบไปด้วย
1.  “ผู้นำทีม” ต้องมีภาวะผู้นำ แสดงศักยภาพ เป็นแบบอย่าง มุมานะทุ่มเท ให้กำลังใจ สนับสนุนการทำงานของสมาชิกในทีม เพื่อให้ทีมงานสามารถดำเนินงานได้
2.  “สมาชิกในทีม” จะต้องมีความรับผิดชอบ ให้ความร่วมมือร่วมใจ สามัคคี ให้เกียรติเพื่อนร่วมทีม กล้าแสดงความคิดเห็น ใส่ใจการทำงานตามบทบาทหน้าที่หรือที่ได้รับมอบหมาย ให้ความช่วยเหลือเพื่อร่วมทีม
3.  ผู้นำทีมและสมาชิกในทีมจะต้องมี “เป้าหมาย” เดียวกัน และเข้าใจว่าเรากำลังจะทำอะไร เพื่อผลประโยชน์อะไร
 
ทีมเฉพาะกิจที่เห็นอยู่บ่อย ๆ ในการทำงานของหอสมุด พระราชวังสนามจันทร์ ได้แก่ การทำงานโครงการต่าง ๆ ซึ่งผู้บริหารจะมอบหมายให้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถและความถนัดในแต่ละด้านไปดำเนินโครงการในแต่ละโครงการ บางโครงการก็เป็นโครงการเล็ก ๆ ไม่ต้องมีสมาชิกในทีมมากนัก บางโครงการก็เป็นโครงการใหญ่ ต้องใช้บุคลาทั้งหมดในหอสมุด พระราชวังสนามจันทร์เป็นผู้ดำเนินงาน จึงต้องมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน เช่น โครงการทับแก้ว บุ๊คแฟร์ ครั้งที่ 12 ซึ่งมีกำหนดการจัดงานระหว่างวันที่ 5-11 กุมภาพันธ์ 2561  โดยมีภาพกิจกรรมและทีมงานบางส่วน ดังนี้
 
                                                
ดอกไม้แต่ละดอก จะมีสีสันและรูปทรงที่ต่างกัน แต่ละดอกจะมีความงามเฉพาะตัว เมื่อนำมาจัดรวมกันเป็นช่อ จัดลงในแจกัน อย่างเหมาะสม จะทำให้เกิดความสวยงามที่ลงตัว …เปรียบเสมือนความเป็น “ทีม”
       
 
เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งในองค์กร เราต้องเตรียมความพร้อมทั้งความรู้ ความสามารถ เพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานในทีมต่าง ๆ ทำให้ผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานเห็นความสำคัญของเรา เลือกที่จะให้เราไปเป็นสมาชิกคนหนึ่งในทีมที่จัดตั้งขึ้น เราต้องทำความเข้าใจและฝึกฝนในการเป็นสมาชิกที่ดีของทีม และพัฒนาขึ้นเป็นผู้นำทีมที่มีศักยภาพในที่สุด
 

บรรณานุกรม

เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์.  (2546).  ข้อคิดเพื่อการทำงานเป็นทีม.  กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย.
เมตต์  เมตต์การรุณ์จิต.  (2559).  ทีมงาน (Teamwork) : พลังที่สร้างความสำเร็จ.  กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
วิกานดา  เกษตรเอี่ยม.  (2558).  การสร้างทีมงาน.  กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร