ทำความรู้จักกับ SU-ERP

18 December 2017
Posted by sukanya

ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยศิลปากรใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (Management Information System) หรือที่เรียกว่า ระบบ MIS ซึ่งประกอบด้วยระบบย่อย เช่น ระบบงบประมาณ ระบบพัสดุ ระบบการเงิน ระบบบัญชี ระบบเงินเดือน ระบบบริหารงานบุคลากร เป็นต้น ระบบดังกล่าวได้พัฒนาขึ้นมาและใช้งานมาเป็นเวลานาน โดยในปัจจุบันได้มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมาก และสามารถรองรับกับการทำงานและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ปฏิบัติงานให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้มหาวิทยาลัยศิลปากรมีแนวคิดที่จะนำระบบใหม่เข้ามาใช้แทนระบบ MIS ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
 
ในปัจจุบัน องค์กรธุรกิจ นิยมใช้ ระบบ ERP เข้ามาใช้ในองค์กร โดย ERP หรือ Enterprise Resource Planning คือระบบการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรโดยรวมเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด โดยเป็นระบบที่เชื่อมโยงระบบงานต่าง ๆ ขององค์กรเข้าด้วยกันเพื่อให้มีการใช้ข้อมูลร่วมกันจากฐานข้อมูลเดียวกัน มีการใช้กระบวนการที่เป็นมาตรฐานร่วมกัน ได้แก่ บัญชีการเงิน (Financial Accounting = FI) บัญชีต้นทุน (Management Accounting = CO) งานพัสดุ (Materials Management = MM) การขายจัดจำหน่าย (Sales and Distribution = SD) การวางแผนและการผลิต (Production Planning =PP) การควบคุมคุณภาพ (Quality Management =QM) การซ่อมบำรุง (Plant Maintenance = PM) งบประมาณ (Fund management = FM) การให้บริการ (Customer Service = CS) และบุคลากร (Human Resources = HR) ทำให้ไม่ทำงานซ้ำซ้อน พร้อมสามารถรับรู้สถานการณ์และปัญหาของงานต่าง ๆ ได้ทันที ทำให้สามารถตัดสินใจดำเนินธุรกิจ หรือแก้ปัญหาภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงตัดสินใจนำระบบ ERP Software Application ชื่อ “SAP S/4 Hana” ที่พัฒนาโดยบริษัท SAP จากประเทศเยอรมัน เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อรองรับการทำงานใน 4 ระบบ ได้แก่ ระบบวางแผนและบริหารงบประมาณ (FM : Fund Management) ระบบบริหารงานพัสดุ (จัดหา และวัสดุคงคลัง) (MM : Material Management) ระบบบัญชี และระบบการเงิน (FI : Financial Accounting) และระบบบัญชีต้นทุน (CO : Controlling) โดยเลือกบริษัท คอนเวอร์เจนซ์ซิสเทมส์ จำกัด (Convergence System) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและติดตั้งระบบ โดยใช้ชื่อโครงการในการดำเนินงานครั้งนี้ว่า SU-ERP ย่อมาจาก Silpakorn University Enterprise Resource Planning System หรือโครงการระบบบริหารทรัพยากรองค์กร มหาวิทยาลัยศิลปากร
 
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้ระบบ SAP-ERP
1. เปลี่ยนการปฏิบัติงานจากระบบแบบ Manual เป็นระบบการปฏิบัติงานแบบ Electronic โดยการปฏิบัติงานจะมีความสะดวกและรวดเร็วมากกว่าการปฏิบัติงานในปัจจุบัน
2. ปรับกระบวนการปฏิบัติงานด้านงบประมาณ พัสดุ บัญชี การเงิน และการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของทุกหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
3.  การปฏิบัติงานสอดคล้องกับระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่มหาวิทยาลัยถือปฏิบัติ ตลอดจนการปฏิบัติตามนโยบายด้านสารสนเทศและความปลอดภัย ทำให้มีความถูกต้อง และอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้งานในทุกระดับ
4. ระบบงานการควบคุมงบประมาณเชื่อมโยงกับระบบบริหารพัสดุ ระบบบัญชี และการเงิน สามารถสืบค้นข้อมูลรายละเอียด ความถูกต้องของการใช้จ่ายงบประมาณ เพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานให้กับบุคลากร
5. เอื้อประโยชน์สำหรับการตรวจสอบสถานะ ความถูกต้องของการใช้งบประมาณ และงบประมาณคงเหลือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเร่งรัดการใช้งบประมาณ
6. เพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว และความถูกต้องของการจัดหา เนื่องจากระบบออกแบบการปฏิบัติงานสอดคล้องกับระเบียบพัสดุ ทำให้บุคลากรที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในชั้นตอนการพัสดุ สามารถวางแผนช่วงเวลาในการตรวจสอบ ตรวจรับ อนุมัติงานด้านการพัสดุได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
7. เพิ่มการควบคุมภายในให้กับการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน และภาพรวมของมหาวิทยาลัย ทำให้ขั้นตอนการปฏิบัติงานแต่ละขั้นตอนมีการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องและโปร่งใส
8. รายงานทางการเงินมีความสมบูรณ์ ถูกต้อง ครบถ้วน พร้อมรับการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กรมบัญชีกลาง ฯลฯ
9. สามารถควบคุมต้นทุนต่อหน่วยผลผลิตตามหลักเกณฑ์ภาครัฐตามแนวทางที่กรมบัญชีกลางกำหนด เพื่อเป็นข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการดำเนินการของมหาวิทยาลัย รวมถึงสามารถนำไปใช้ในการวางแผนการจัดทำงบประมาณในปีต่อ ๆ ไป
10. เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งยังช่วยในการประมวลผลรายงานการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน อันจะนำไปใช้ในการตัดสินใจของผู้บริหาร และเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย
 
แผนการดำเนินการพัฒนาและติดตั้งระบบมีกำหนดระยะเวลา 11 เดือน ระหว่างเดือนกันยายน 2560 ถึงเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวกำหนดคณะทำงานโดยแบ่งเป็นกลุ่ม ดังนี้
1. คณะกรรมการบริหารโครงการ (Steering Committee) หมายถึง กลุ่มบุคคลากรที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ประกอบด้วย (1) คณะกรรมการบริหารโครงการ (2) ผู้บริหารระดับสูง และ/หรือบุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบผลกระทบของโครงการฯ และ (3) ผู้จัดการโครงการ
2. ผู้จัดการโครงการ (Project Manager) หมายถึง บุคลากรที่มีความรับผิดชอบในการดำเนินงานโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามแผนงานและระยะเวลาที่กำหนด
3. ตัวแทนการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) หมายถึงบุคลากรที่มีความรับผิดชอบการช่วยสนับสนุน ผลักดัน ร่วมแก้ปัญหา และสื่อสารประชาสัมพันธ์การทำงานโครงการให้บรรลุผลสำเร็จ
4. ผู้ใช้งานหลัก (Key User) หมายถึง กลุ่มบุคคลที่เป็นตัวแทนจาก “ส่วนกลาง” และ “ส่วนงาน” ที่เกี่ยวข้องกับระบบ SU-ERP ที่จะเข้ามาทำงานร่วมกันในการพัฒนาระบบตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ จนถึงการใช้งานจริง
5. ผู้ใช้งานขั้นสุดท้าย (End User) หมายถึง กลุ่มบุคลากรผู้ที่เป็นผู้ร่วมใช้งานระบบงาน SU-ERP หลังจากที่เริ่มใช้งานจริงแล้ว จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
6. โปรแกรมเมอร์ขององค์กร (ERP Support / Programmer) หมายถึง บุคลากรจากหน่วยงานกลางหรือ IT ผู้ที่รับผิดชอบในการทำงานด้านเทคนิคทั้งในส่วนของการพัฒนาโปรแกรมเพิ่มเติม และให้การสนับสนุนการทำงานจริง
7. กลุ่ม IT (IT Basis) หมายถึง กลุ่มบุคลากรจากหน่วยงาน IT ผู้ที่รับผิดชอบในการทำงานด้านเทคนิค
 
บุคลากรของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและติดตั้งระบบในครั้งนี้ จำนวน 3 คน คือ
1. นางพนิดา จมูศรี เข้าไปทำหน้าที่ในกลุ่ม Key User จำนวน 1 ระบบ คือ ระบบบริหารงานพัสดุ (จัดหา และวัสดุคงคลัง) (MM : Material Management)
2. นางสาวพนิดา วรพลาวุฒิ เข้าไปทำหน้าที่ในกลุ่ม Key User จำนวน 1 ระบบ คือ ระบบบริหารงานพัสดุ (จัดหา และวัสดุคงคลัง) (MM : Material Management)
3. นางสุกัญญา โภคา เข้าไปทำหน้าที่ในกลุ่ม Key User จำนวน 2 ระบบ คือ ระบบบริหารงานพัสดุ (จัดหา และวัสดุคงคลัง) (MM : Material Management) และระบบการเงิน (FI : Financial Accounting)
 
ในการเข้าไปร่วมในการพัฒนาและติดตั้งระบบดังกล่าวจะต้องมีการเข้าร่วมประชุม เข้าร่วมอบรมการใช้งานระบบ ร่วมทดสอบและประเมินผลระบบต้นแบบ เพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดที่จะใช้ประโยชน์จากโปรแกรมดังกล่าวร่วมกัน โดยในระยะที่มีการออกแบบระบบจะมีการถ่ายข้อมูลจากระบบ MIS ที่ใช้อยู่ไปเข้าระบบ SU-ERP และจะมีการทำงานคู่ขนานกันไปทั้งสองระบบจนกว่าการทำงานในระบบใหม่จะทำงานได้สมบูรณ์
 
ระบบใหม่นี้นอกจากจะเกี่ยวข้องกับบุคลากรทั้งสามรายที่ต้องเข้าไปมีส่วนในการในการพัฒนาและติดตั้งระบบแล้ว บุคลากรอื่น ๆ ของหน่วยงานก็ต้องมีส่วนร่วมในการใช้ระบบนี้ด้วยในฐานะ End User ซึ่งหลังจากระบบนี้ใช้งานได้สมบูรณ์แล้ว บุคลากรที่เป็น Key User ของหน่วยงานจะต้องจัดอบรมให้กับ End User ของหน่วยงานของตน เพื่อให้สามารถเข้าไปทำงานในระบบในส่วนที่แต่ละคนเข้าไปเกี่ยวข้องได้
 
อ้างอิงจาก เอกสารการประชุม / อบรม SU-ERP Implementation เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2560

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร