ความสนใจในการให้บริการ

ทุกปีก่อนเปิดภาคการศึกษาใหม่ ภารกิจอย่างหนึ่งของหอสมุดฯ คือ จัดกิจกรรมแนะนำการเข้าใช้ห้องสมุด ซึ่งมีเวลาของการจัดกิจกรรมขึ้นกับคณะต่างๆ ซึ่งดิฉันจะมีภารกิจจากคณะศึกษาศาสตร์ ไปพูดให้กับนักศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก นับถึงปีนี้ก็ได้ 3 ครั้ง พอรู้ว่าจะต้องไปก็ตั้งคำถามกับตัวเอง 2 ข้อ คือ
ข้อแรก จะพูดอะไร เพราะนักศึกษาใหม่ ส่วนอาจารย์เก่า การนำสไลด์ที่เหมือนเปี้ยบคงไม่งามจึงร่ายใหม่ตั้งแต่สไลด์ที่ 1 ถึง 100
 

 
ข้อสอง แล้วจะทำอะไรดีเพื่อใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุดทั้งการให้ข้อมูลกับนักศึกษาและรับข้อมูลเพื่อกลับมาพัฒนางาน และเชื่อมั่นว่าการลุกขึ้นไปคุยกับผู้ใช้บริการทั้งหน้าใหม่และเก่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำงาน ด้วยระยะเวลาที่สั้นและจำนวนคนมาก จึงคิดว่าควรทำเป็นแบบสอบถามง่ายๆ สอบถามความสนใจในการให้บริการที่ห้องสมุดมีอยู่แล้วรวมทั้งบริการที่คิดว่าควรจะมี คิดได้ทั้งหมด 10 ข้อ ตามประสาที่มนุษย์เราชอบอะไรที่เป็นเลขกลมๆ
 
ก่อนหน้าที่ดิฉันจะไปมีการปฐมนิเทศของนักศึกษาในระดับปริญญาโท-เอกของคณะวิทยาการจัดการ ได้มอบหมายแบบสอบถามนี้ให้คุณจันทร์เพ็ญไปช่วยดำเนินการ ส่วนครั้งนี้ไปคนเดียวจึงขอความอนุเคราะห์จากน้องๆ ที่คณะช่วยแจกและเก็บแบบสอบถามให้ เมื่อกลับมาจึงมาช่วยกันประมวลผลเพราะอยากทราบผลลัพท์
 
และพบว่าบริการที่อยู่ในความสนใจของคณะวิทยาการจัดการ 3 ลำดับแรกคือ 1) การรวบรวมแหล่งตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย 2) การสืบค้นข้อมูลทางวิชาการใน Google Scholar และ 3) การอบรมการใช้ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทยและต่างประเทศ ส่วนบริการที่อยู่ในความสนใจของคณะศึกษาศาสตร์ 3 ลำดับแรกคือ 1) วิธีตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรม 2)  การรวบรวมแหล่งตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย และ 3) การใช้ฟังก์ชั่นต่างๆ บนหน้าจอสืบค้นฐานข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศ (OPAC) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทางวิชาการใน Google Scholar
 
ดูความสนใจแล้วไม่เกินความคาดหมาย แต่แปลกใจที่การใช้โปรแกรมการจัดการอ้างอิง (Endnote X8) ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นลำดับที่ 1 พบว่าตกไปอยู่ในลำดับที่ 5 เหมือนกันทั้งสองคณะวิชา นับว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ดิฉันจึงส่งข้อมูลต่อไปยังฝ่ายบริการให้ช่วยคิด และปรับหลักสูตรที่มีให้ผสมกลมกลืนได้ทั้งหมด เพราะผู้ใช้บริการมักมีเวลาจำกัด และข้อจำกัดก็เป็นโอกาสให้เราได้คิดและทบทวนที่จะไปต่อ
 
ครั้งลองสมมุติเล่นๆ ว่า จะตีพิมพ์งานวิจัยที่ไหนดี?  แล้วเราจะไปไหน? ห้องสมุด หรือ กูเกิ้ล ดีล่ะ!!
 

 
แล้วกลับมาที่ความเป็นจริงในหน้าที่ ถามตัวเองว่าบรรณารักษ์ควรต้องทำอะไร เรามีอะไรที่มากกว่ากูเกิ้ลมั้ย เรามีวิธีสกัดคำค้น หรือองค์ความรู้อื่นใดที่จะช่วยผู้ใช้บริการได้โดยไม่ต้องคลิก คลิก แบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า
 
ด้วยหน้าที่ที่ต้องดูแลอะไรๆ ทั้งมวลในห้องสมุดจึงไปขุดค้นอะไรๆ ที่คิดที่ทำไว้กลับเคาะๆ แล้วสานต่ออีกครั้ง เพราะยุคสมัยนี้มีเครื่องมือเกิดขึ้นใหม่มากมาย ไล่ๆไปมีทั้งฐานข้อมูลงานวิจัยของคณะจารย์ pathfinder / peer review ในวารสารภาษาไทย ฯลฯ แล้วหันไปอ่านแล้วถอดความยุทธศาสตร์ของประเทศ ของมหาวิทยาลัยและสำนักหอสมุดกลาง เพราะเราไม่สามารถทำอะไรๆ โดยไม่มีข้อมูลอะไรๆ มาสนับสนุน  การตั้งโจทย์แล้วค้นคว้าหาคำตอบเป็นเรื่องที่สนุกสนานเสมอ!!
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร