การเลือกที่จะเป็น ระหว่าง "หัวหมา" กับ "หางราชสีห์"

“หัวหมา” กับ “หางราชสีห์” คำนี้ จะผุดขึ้นมาจากความคิดทุกครั้งที่ผู้เขียนต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้อง “ตัดสินใจเลือก”
 
การตัดสินใจเลือกที่จะเป็น ระหว่างเป็นหัวหมา หรือจะเป็นหางราชสีห์ เราจะเลือกเป็นอะไร มันเป็นวลีโลกแตก เหมือนไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน เป็นการยากที่จะหาคำตอบที่ถูกต้อง ถูกใจ
 
หากเลือกที่จะเป็น “หัวหมา” คือการเป็นตัวของตัวเอง การทำให้คนอื่นยอมรับในความเป็นเรา ทำตัวเองให้มีคุณค่าตามแบบของเรา พัฒนาความคุณค่าหรือความสามารถของเราให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ เราสามารถกำหนดและควบคุมทิศทางตามที่เราต้องการจะไป ช่วงไหนต้องการไปช้า ช่วงไหนต้องการไปเร็ว มันก็ขึ้นอยู่กับเรา เราจะภูมิใจในศักดิ์ศรี ดีกว่าปตามหลังคนอื่น เลียนแบบคนอื่น ทำตามในสิ่งที่คนอื่นบงการให้เราทำ เราจะเกิดอาการเหนื่อยที่ต้องวิ่งตามเขาไปเรื่อย ๆ เช่นกัน หากเราทำกิจการเล็ก ๆ แต่เป็นของเราเอง หรือเป็นผู้นำองค์กรเล็ก ๆ แต่ได้รับความเคารพ ได้รับความไว้วางใจ ได้รับเกียรติ ในกลุ่มคนเล็ก ๆ หรือองค์กรเล็ก ๆ ดีกว่าเป็นแค่ตัวประกอบหรือผู้ตามในองค์กรใหญ่ ๆ
 
หากเลือกที่จะเป็น “หางราชสีห์” คือการทำตนให้เหมือนคนอื่น ตามคนอื่น จึงเป็นได้แค่เพียงผู้ตาม  ไม่สามารถสร้างความภูมิใจได้ เพราะเราไม่สามารถทำให้เหมือนเขาได้ทุกอย่าง
 
อาจมีผู้ค้านว่าหากเลือกเป็นหางราชสีห์ อย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งของราชสีห์ ได้เรียนรู้อย่างราชสีห์ ได้เห็นวิธีการที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ คงมีสักวันที่จะได้เลื่อนเป็นหัวราชสีห์ แต่อย่าลืมว่า หางราชสีห์คือส่วนท้ายสุดซึ่งอาจไม่สามารถมองเห็นข้างหน้าได้อย่างชัดเจน เหมือนกับการทำงานในองค์กรใหญ่ ๆ แต่เป็นได้แค่เพียง “ลูกจ้าง” คงต้องใช้ความพยายามอย่างใหญ่หลวงกว่าจะก้าวมายืนผงาดอยู่แถวหน้าได้ หรือไม่มีวันนั้นเลยก็เป็นได้
 
จงเชื่อมั่นว่า คนเรามีดีด้วยกันทุกคน ทุกคนมีความสามารถในแบบฉบับของแต่ละคน บางคนค้นพบความสามารถของตัวเองแล้ว และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และพัฒนาความสามารถของตนเองไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้จบ แต่บางคนยังหาความสามารถที่แท้จริงไม่เจอ ไม่รู้ว่าตนเองมีความถนัดหรือมีความสามารถด้านใดบ้าง
 
เมื่อเรายังหาตัวตนที่แท้จริงของเราไม่เจอ เราต้องค้นหา ต้องทำการวิเคราะห์ตัวเองว่าปัจจุบันเราเป็นอะไรหรือ กำลังทำอะไร ยืนอยู่จุดไหน มีความสามารถอะไรที่ก้าวไปข้างหน้าได้ และจะก้าวไปในทิศทางใดได้บ้าง สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราทำการวิเคราะห์ตัวเองได้ง่ายขึ้น คือการวิเคราะห์ด้วย SWOT เป็นการหา จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับเรา
 
จุดแข็งและจุดอ่อน เป็นปัจจัยภายในที่เราสามารถควบคุมและแก้ไขได้ด้วยตัวเราเอง โดยจุดแข็งเป็นปัจจัยภายในที่ส่งผลดี เช่น ความรู้ ความสามารถ ทักษะในการทำงานด้านต่าง ๆ บุคลิกดี นิสัยดี มีความกระตือรือร้น และจุดอ่อนเป็นปัจจัยภายในที่ส่งผลเสีย เช่น ตัดสินใจช้า ทำงานจับจด ขาดความพยายาม ไม่เชื่อมั่นในตนเอง
 
โอกาสและอุปสรรค เป็นปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ควบคุมหรือแก้ไขได้ด้วยตัวเราเอง โดยโอกาส เป็นปัจจัยภายนอกที่เอื้อหรือส่งผลดีต่อเรา เช่น หน่วยงานที่เราทำงานอยู่กำลังจะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ ซึ่งเราเป็นผู้มีความรู้ทางด้านนี้อยู่บ้างจึงเป็นโอกาสที่เราจะได้ร่วมงานนี้ซึ่งอาจเป็นการเสริมจุดแข็งให้กับเราที่ได้มีความรู้ทางด้านนี้เพิ่มขึ้น แนวโน้มทางการตลาดในปัจจุบันส่งผลดีต่อสินค้าที่เราผลิตหรือธุรกิจของเราดำเนินงานอยู่ และอุปสรรคเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลเสียต่อเรา เช่น หน่วยงานถูกยุบ ภาวะเงินเฟื้อทำให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยน้อยลงส่งผลให้สินค้าที่เราผลิตขายได้น้อยลง
 
เมื่อเราค้นพบตัวเองแล้ว เราต้องวิเคราะห์ว่า ปัจจุบัน เราเป็น “หัวหมา” หรือเป็น “หางราชสีห์” แล้วเราจะก้าวเดินต่อไปข้างหน้าด้วยความเป็น“หัวหมา” หรือจะอยู่เป็น “หางราชสีห์” ต่อไป
 
ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ผู้เขียนเลือกที่จะเป็น “หัวหมา” ดีกว่าเป็น “หางราชสีห์” เพราะหัวหมาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดของหมา หากขาดหัวแล้วหมาก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ แต่หางราชสีห์เมื่อขาดหรือถูกตัดทิ้งไป ชีวิตของราชสีห์ก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ ซึ่งราชสีห์ขาดหางก็ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อราชสีห์เท่านั้น เราจึงต้องทำตัวเองให้มีค่า เป็นที่ต้องการของผู้อื่น เมื่อมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นให้ผู้อื่นคิดถึงเราก่อนเป็นลำดับแรก ๆ ดังภาษิตตะวันตกที่ว่า “คุณอาจเป็นเพียงคนหนึ่งบนโลกใบนี้ แต่คุณอาจเป็นโลกทั้งใบของใครคนหนึ่งก็ได้” (นนทวัฒน์  อิทธิจามร 2555 : 205)
 
แล้วคุณล่ะ คิดหรือยังว่าจะเลือกเป็นอะไร
 

บรรณานุกรม

 
นนทวัฒน์  อิทธิจามร.  (2555).  แรงจูงใจ บทเรียนสำคัญที่สุด ของความสำเร็จระดับตำนาน.  กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.
 
วัลลภ  สันติประชา.  (2557).  หางราชสีห์ หัวหมา กับความเป็นไทย.  [ออนไลน์].  จาก http://share.psu.ac.th/blog/fnr-devolop/34539.  วันที่ค้นข้อมูล 4 สิงหาคม 2560.
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร