วลีทองของพี่หมอ

วันเสาร์ที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๐ ข้าพเจ้าเดินทางไปรับการตรวจรักษา
ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยไปพบคุณหมอจันทร์ชัย เจรียงประเสริฐ
ด้วยอาการเวียนศรีษะไม่สามารถทรงตัวได้ ซึ่งในขณะนั้นอาการป่วย
พอทุเลาลงบ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำกิจวัตรต่างๆ ตามปกติ
ภายหลังการตรวจและทดสอบอาการที่เป็นอยู่เรียบร้อยแล้ว
คุณหมอได้แนะนำวิธีกายภาพด้วยตนเอง ก่อนและหลังตื่นนอนบนพื้นราบ
ซึ่งทำได้ไม่ยากนัก ดังนี้
๑) กลิ้งตัวไป-กลับ ๑๐ ครั้ง
๒) นั่งเหยียดเท้าตรงไปข้างหน้าล้มตัวไปด้านข้าง ซ้าย-ขวา ๑๐ ครั้ง
๓) ยกนิ้วชี้ขึ้นระดับสายตา เคลื่อนนิ้วและหันหน้ามองตาม
ไปด้านข้าง ซ้าย-ขวา ๑๐ ครั้ง
๔) ยกนิ้วชี้ขึ้นระดับสายตา หันหน้าตรงและเคลื่อนเฉพาะตา มองตาม
ไปด้านข้าง ซ้าย-ขวา ๑๐ ครั้ง
๕) สะบัดหน้าไป-มา ซ้าย-ขวา รอบละ ๑๐ ครั้ง ๑๐ รอบ
หลังจากได้รับคำแนะนำการฝึกกายภาพด้วยตนเองจากคุณหมอแล้ว
ท่านได้สนทนาพูดคุยเรื่องการดูแลร่างกาย กำชับให้ดูแลสุขภาพพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
โดยมิได้กำหนดว่าต้องกี่ชั่วโมง แต่ให้ยึดตามที่ตนเองคิดว่าพอโดยถือเอาความสดชื่นเมื่อตื่นเป็นพอ
และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ
หลังจากพูดคุยเพียงครู่แล้ว ก่อนจากกันในวันนั้น
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ด้วยความอาทรและความเข้าใจในชีวิตของผู้พี่ต่อน้องสาว
ซึ่งท่านมิได้คาดคิดมาก่อนว่าจะพบกันในสภาพของน้องที่สวมใส่เครื่องแบบสีขาวมาพบ
พี่หมอได้กล่าวประโยคอันประทับใจทิ้งท้ายเป็นที่มาของข้อเขียนนี้ คือ
“สุขภาพกายต้องให้หมอรักษา ส่วนสุขภาพใจนั้นเราต้องดูแลตนเอง”

ประโยคเรียบง่าย ด้วยท่าที สีหน้าและแววตาอันปลอบโยนของพี่หมอเพียงเท่านี้
ทำให้น้ำตาของข้าพเจ้าเอ่อล้นเต็มตื้นขึ้นมาทันที ด้วยมิรู้จะกล่าวคำขอบคุณใดเท่าเมตตาที่ได้รับจากท่าน
ปล. การทำกายภาพด้วยตนเอง (Home care) ดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าผู้ที่มีอาการป่วย
ควรได้รับการแนะนำจากแพทย์ก่อน หรือหากจะลองปฏิบัติตามก็ควรทำตามวิธีการทีละขั้นทีละตอน
เริ่มจากท่าที่ ๑-๕ โดยลำดับ

 

3 thoughts on “วลีทองของพี่หมอ

  • หนูลองทำตามวิธีที่แม่ชีบอกตอนสบัดหน้า10 ครั้ง ยังไม่ถึง 10 ครั้ง งงหัวเหมือนทรงตัวไม่อยู่เหมือนกัน เพราะหนก็เคยเป็นน้ำในหูไม่เท่ากัน คุณหมอได้บอกหรือเปล่าว่าสบัดหน้าไปมาเพื่ออะไรงงหัวจะตาย

  • พี่ต้องขอโทษด้วย ที่อธิบายรวบรัดไปหน่อย น้องปูลองทำตามเลยเวียนศรีษะ พี่แก้ไขเพิ่มเติมในข้อเขียนแล้วบางส่วน และขออธิบายเพิ่มสำหรับน้องปู คือ อาการน้ำในหูไม่เท่ากัน อาการบ้านหมุน เป็นชื่อเรียกที่ทั้งหมอและคนทั่วๆ ไป มักเรียกกันโดยเข้าใจ แต่สำหรับหมอเฉพาะทางจะเรียกโรคลักษณะนี้แตกต่างกันไป เช่น โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน หรือ โรคเวียนศรีษะขณะเปลี่ยนท่า เช่น เวลาล้มตัวนอน เวลาก้มหน้าหรือเงยหน้า โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ หรือ น้ำในหูไม่เท่ากัน อาการของโรคลักษณะนี้นอกจากบ้านหมุนแล้ว จะหูอื้อได้ยินลดลงและมีเสียงรบกวนในหู โรคเนื้องอกของประสาทการทรงตัว โรคหูดับ เป็นต้น ส่วนของพี่เป็นโรคเส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ
    ดูจากชื่อโรคที่ต่างๆ กันแล้ว น่าจะเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่าสาเหตุของโรคก็ย่อมแตกต่างกันด้วย แม้จะมีอาการคล้ายกันแต่ก็ไม่เหมือนสักทีเดียว การรักษาและบำบัดฟื้นฟูจึงต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนจ้ะ เพราะแม้แต่ตัวพี่เองซึ่งเคยมีอาการทำนองนี้เมื่อ ๔ ปี ก่อน การตรวจรักษาครั้งนั้นกับครั้งนี้ก็ยังไม่เหมือนกันทีเดียว การทดสอบอาการของโรคก็ต่างกัน ครั้งนี้พี่ไม่ต้องใช้เครื่องมือทดสอบการได้ยิน และไม่ต้องใช้เครื่องฝึกระบบประสาทการทรงตัว
    ทางที่ดีหากยังมีอาการแนะนำให้น้องปูไปพบแแพทย์คลินิคเฉพาะทาง คือ คลินิคการได้ยินและการทรงตัว ในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ที่ให้บริการด้วยเครื่องมือที่พร้อมมากกว่าการรักษาที่คลินิคแพทย์ทั่วๆ ไป เพราะที่สำคัญ คือ โรคนี้เป็นแล้วกลับเป็นใหม่ได้เสมอ ไม่จำกัดวัย ไม่จำกัดระยะห่างของช่วงเวลา หากตั้งใจจะรักษาจริงจังลองมาคุยกันได้จ้ะ

  • นู๋ปู…ไม่ใช่อยู่ๆ จะไปทำแบบนั้นนะจะบอกให้ บางครั้งการที่บ้านหมุน จะเรียกอะไรก็แล้วแต่…น้ำในหูไม่เท่ากัน หินปูนหูชั้นในเคลื่อน ตะกอนในหูหลุดเคลื่อน แต่ควรไปหาหมอตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดก่อนปฏิบัติ เพราะแม่พี่ก็มีอาการดังแม่ชีว่าเช่นกัน แต่อาจมีเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วย ต้องตรวจร่างกายก่อนจ้า เช่น ความดันสูง คอเรสเตอรอลสูง นอนไม่หลับ เป็นต้น เมื่อประกอบกัน ถ้าทำดังนู๋ปูทำ เดือดร้อนแน่จ้า…หมอเค้าก็ไม่ให้แม่พี่ทำ เค้าให้รักษาองค์ประกอบเสริมที่ทำให้บ้านหมุน เวียนหัว ทรงตัวลำบากก่อนเลย … อีกคนที่น่าจะมาช่วยนู๋ปูตอบคำถามนี้ก็น่าจะเป็นพี่หนามนิ… เห็นพี่เค้าเคยเป็นมาก่อน

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร