Thailand 4.0 กับการเป็น Smart People

ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เข้มข้นขึ้น เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของผู้คน สินค้า บริการ เงินทุน ข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้และเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เป็นอัจฉริยะ จะว่าไปแล้ว โลกอาจเปลี่ยนไปในทุกวินาทีก็เป็นไปได้ ส่งผลให้การใช้ชีวิตของคนในโลกเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ผู้นำประเทศต่าง ๆ ในโลกจึงต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารประเทศไปตามยุค ตามสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านั้น
 
ในส่วนของประเทศไทย ผู้นำประเทศของไทยมีแนวการพัฒนาประเทศที่ชัดเจนเริ่มตั้งแต่ยุค Thailand 1.0 ที่เน้นการลงทุนทางภาคเกษตรกรรมด้วยการปลูกข้าว ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์เพื่อนำผลผลิตไปขาย ยุคต่อมาก็คือยุค Thailand 2.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมเบาที่มีเครื่องมือเข้ามาช่วย เช่น การผลิตเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ต่อมาคือยุค Thailand 3.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนและการส่งออก โดยพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ในยุค Thailand 3.0 นี้ประเทศไทยมีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจน้อย รายได้ของประเทศตกอยู่ในช่วงรายได้ปานกลาง เป็นแบบ “ทำมาก ได้น้อย” ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกมีการแข่งขันที่สูงขึ้น
 
ดังนั้น รัฐบาลของประเทศไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงมีแนวนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อสร้างหนทางของประเทศให้เจริญ สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในศตวรรษที่ 21 จึงได้จัดทำกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) หรือเรียกว่าโมเดล Thailand 4.0 โดยมีวิสัยทัศน์คือ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” หรือคติพจน์ประจำชาติ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีรายได้สูงอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว คนไทยมีความสุข อยู่ดี กินดี สังคมมีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม (ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) (สรุปย่อ), 2560)
 
โมเดล Thailand 4.0 จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เป็นแบบ “ทำน้อย ได้มาก” ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ด้านการเกษตรจะเป็นเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี หรือเรียกว่า Smart Farming เปลี่ยนธุรกิจขนาดย่อมไปสู่การเป็น Smart Enterprises ที่มีศักยภาพสูง เปลี่ยนการบริการไปสู่การบริการที่มีมูลค่าสูง เปลี่ยนแรงงานที่มีทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง ในยุคนี้หลายสิ่งหลายอย่างจึงพยายามพัฒนาเพื่อให้เป็น Smart หรือมีความเป็นอัจฉริยะอีกหลาย ๆ ด้าน เช่น Smart Classroom, Smart Office, Smart Industry, Smart City
 
การจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ จะต้องเริ่มจากการ “พัฒนาคน” เพราะคนเป็นผู้คิดค้นและกระทำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ดังนั้นในกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีจึงต้องการให้คนไทยในอนาคตมีศักยภาพในการร่วมกันพัฒนาประเทศ สามารถปรับตัวรองรับบริบทการพัฒนาในอนาคต มีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีทักษะในการวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง มีจิตสำนึกที่ดีงาม รู้คุณค่าความเป็นไทย และมีความรับผิดชอบ เป็นรากฐานที่มั่นคงของชุมชนสังคม รักชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ซึ่งเป็นช่วงที่วางรากฐานของโมเดล Thailand 4.0 นอกจากจะมีเป้าหมายในการมุ่งพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและด้านอื่น ๆ แล้ว ยังมุ่งเน้นให้ “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดีสาหรับคนไทย พัฒนาคนให้มีความเป็นคนที่สมบูรณ์มีวินัย ใฝ่รู้ มีความรู้ มีทักษะ มีความคิดสร้างสรรค์ มีทัศนคติที่ดี รับผิดชอบต่อสังคม มีจริยธรรมและคุณธรรม พัฒนาคนทุกช่วงวัยและเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการสร้างคนให้ใช้ประโยชน์และอยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูล อนุรักษ์ ฟื้นฟู ใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม
 
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช (2555 : 19) ได้กล่าวถึง ทักษะคนในศตวรรษที่ 21 ว่าทุกคนต้องเรียนรู้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ไปจนถึงมหาวิทยาลัยและตลอดชีวิต ตามหลัก 3R x 7C โดย
3 R ได้แก่
Reading (อ่านออก)
(W)Riting (เขียนได้)
(A)Rithmetics (คิดเลขเป็น)
7C ได้แก่
Critical thinking & problem solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา)
Creativity & innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม)
Cross-cultural understanding (ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์)
Collaboration, teamwork & leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ)
Communications, information & media literacy (ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ)
Computing & ICT literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
Career & learning skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้)
 
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป การใช้ชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง ดิจิทัลและเทคโนโลยีจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น มีการพัฒนาหุ่นยนต์มาทำหน้าที่แทนมนุษย์ในเรื่องต่าง ๆ มาเป็นคนรับใช้ในบ้าน มีการพัฒนาอุปกรณ์ IT ที่รับความรู้สึกได้ การแลกเปลี่ยนทางการเงินหรือการใช้จ่ายเงินจะทำบนมือถือ จะมีการพัฒนารถยนต์หรือยานพาหนะไร้คนขับ มีการใช้บัตรนักเรียนดิจิทัลที่บันทึกข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่มาโรงเรียน การเข้าชั้นเรียน คะแนนสอบ ความประพฤติ ฯลฯ โดยจะมีแอพพลิเคชั่นที่จะส่งข้อมูลไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ปกครองด้วย
 
ดังนั้น เราจึงต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่การเป็น Smart people ต้องเรียนรู้อยู่เสมออย่างไม่รู้จบ ต้องเป็นผู้รู้จักคิดวิเคราะห์ มีความสามารถในการแก้ไขปัญหา มีทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะในการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม รู้จักบูรณาการศาสตร์และความรู้ด้านต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ สามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นและอยู่ในสังคมดิจิทัลได้อย่างมีความสุข
 

บรรณานุกรม

 
กาแฟดำ.  (2559).  อะไรคือทักษะคนไทย ในศตวรรษ 21?.  [ออนไลน์].  จาก http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/637898.  วันที่ค้นข้อมูล 11 พฤษภาคม 2560.
 
วิจารณ์  พานิช.  (2555).  วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ 21.  กรุงเทพฯ : มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์.
 
ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) (สรุปย่อ).  (2559).  [ออนไลน์].  จาก http://www.thaigov.go.th/uploads/document/66/2017/01/pdf/20year-may59.pdf.  วันที่ค้นข้อมูล 11 พฤษภาคม 2560.
 
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.  (2559).  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สิบสอง (พ.ศ. 2560 – 2564).  [ออนไลน์].  จาก http://www.ldd.go.th/www/files/78292.pdf.  วันที่ค้นข้อมูล 11 พฤษภาคม 2560.

One thought on “Thailand 4.0 กับการเป็น Smart People

  • มีคนช่างเปรียบบอกว่า ยุค 1.0 ให้ฟังเพลงผู้ใหญ่ลี /ยุค 2.0 ให้ฟังเพลงฉันทนาที่รัก/ยุค 3.0 ยังไม่มีเพลง แต่มีคำว่าโชตช่วงชัชวาลย์ อย่างไรก็ตามถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่เราจะมียุทธศาสตร์ชาติกันเสียที

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร