“ค่างาน” กับ “การประเมินผลการปฏิบัติงาน”

การทำงานในองค์กรหรือหน่วยงาน ผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชาจะต้องมอบหมายหน้าที่ให้กับบุคลากรทุกคน ซึ่งบุคลากรแต่ละคนจะมีหน้าที่ ความรับผิดชอบ และความรู้ความสามารถที่แตกต่างกันไปตามภารกิจที่ต้องใช้ในการปฏิบัติงานในองค์กร บางครั้งแม้จะมีตำแหน่งที่เหมือนกัน แต่หน้าที่ความรับผิดชอบอาจแตกต่างกันได้
 
ในการทำงานของระบบราชการได้มีการจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ และใช้เป็นแนวทางในการเลื่อนระดับ เลื่อนตำแหน่ง โดยกำหนดไว้กว้าง ๆ ว่าตำแหน่งนั้น ๆ มีลักษณะงานโดยทั่วไปเป็นอย่างไร ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นจะต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบหลักด้านใดบ้าง โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) จะเป็นผู้จัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งโดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ให้เหมาะสมกับหน่วยงานของตน จึงขอยกตัวอย่าง หน้าที่ความรับผิดชอบหลักโดยสังเขปในมาตรฐานดังกล่าวบางตำแหน่ง ดังนี้
 

  • ตำแหน่งบรรณารักษ์

เป็นตำแหน่งที่ต้องการผู้มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก ซึ่งต้องปฏิบัติงานตามตำแหน่งทางด้านการปฏิบัติการ ด้านการวางแผน ด้านการประสานงาน และด้านการบริการ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
 
ตำแหน่งบรรณารักษ์ ระดับปฏิบัติการ มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักคือ ปฏิบัติงานในฐานะผู้ปฏิบัติงานระดับต้น ที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถทางวิชาการในการทำงาน ปฏิบัติการด้านบรรณารักษ์ ภายใต้การกำกับ แนะนำ ตรวจสอบ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
 
ตำแหน่งบรรณารักษ์ ระดับชำนาญการ มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลัก คือปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้างาน ซึ่งต้องกำกับ แนะนำ ตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ร่วมปฏิบัติงาน โดยใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความชำนาญงานสูงในด้านบรรณารักษ์ ปฏิบัติงานที่ต้องตัดสินใจหรือแก้ปัญหาที่ยาก และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย หรือปฏิบัติงานในฐานะผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ โดยใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์และความชำนาญงานสูงในด้านบรรณารักษ์ ปฏิบัติงานที่ต้องตัดสินใจหรือแก้ปัญหาที่ยาก และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
 
ตำแหน่งบรรณารักษ์ ระดับชำนาญการพิเศษ มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักคือ ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้างาน ซึ่งต้องกำกับ แนะนำ ตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ร่วมปฏิบัติงาน โดยใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความชำนาญงานสูงมากในด้านบรรณารักษ์ ปฏิบัติงานที่ต้องตัดสินใจหรือแก้ปัญหาที่ยากมาก และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย หรือปฏิบัติงานในฐานะผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ โดยใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์และความชำนาญงานสูงมากในด้านบรรณารักษ์ ปฏิบัติงานที่ต้องตัดสินใจหรือแก้ปัญหาที่ยากมาก และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
 

  • ตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานโสตทัศนศึกษา

เป็นตำแหน่งที่ต้องการผู้มีวุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งเป็นวุฒิการศึกษาที่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีนั่นเอง ซึ่งต้องปฏิบัติงานตามตำแหน่งทางด้านการปฏิบัติการ และด้านการบริการ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
 
ตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานโสตทัศนศึกษา ระดับปฏิบัติงาน มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักคือ ปฏิบัติงานในฐานะผู้ปฏิบัติงานระดับต้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา ปฏิบัติงานโสตทัศนศึกษา ตามแนวทาง แบบอย่าง ขั้นตอน และวิธีการที่ชัดเจน ภายใต้การกำกับ แนะนำ ตรวจสอบ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
 
ตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานโสตทัศนศึกษา ระดับชำนาญงาน มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักคือ ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้างาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา โดยต้องกำกับ แนะนำ ตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ร่วมปฏิบัติงาน โดยใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความชำนาญงานโสตทัศนศึกษา ปฏิบัติงานที่ต้องตัดสินใจหรือแก้ปัญหาที่ค่อนข้างยาก และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย หรือปฏิบัติงานในฐานะผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา โดยใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความชำนาญงานโสตทัศนศึกษา ปฏิบัติงานที่ต้องตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหาที่ค่อนข้างยาก และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
 
ตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานโสตทัศนศึกษา ระดับอาวุโส มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักคือ ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้างาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา โดยต้องกำกับ แนะนำ ตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ร่วมปฏิบัติงาน ดยใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความชำนาญงานโสตทัศนศึกษาค่อนข้างสูง มีความรับผิดชอบที่หลากหลาย ปฏิบัติงานที่ต้องตัดสินใจหรือแก้ปัญหาที่ค่อนข้างยากมาก และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
 
จะเห็นได้ว่าแต่ละตำแหน่งและแต่ละระดับจะมีภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบและความยากง่ายของงานที่แตกต่างกัน ผู้บังคับบัญชาจึงจำเป็นต้องมอบหมายงานให้มี “ค่างาน” เหมาะสมกับตำแหน่งและระดับที่บุคลากรแต่ละคนครองอยู่ ซึ่งค่างานจะวัดได้จากคุณภาพของงาน ความยุ่งยากซับซ้อน การกำกับตรวจสอบ และการตัดสินใจในงานนั้น ๆ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน
 
การมอบหมายงานให้มีค่างานเหมาะสมกับตำแหน่งและระดับที่บุคลากรครองอยู่นั้นมีความสำคัญดังนี้

  • ทำให้หน่วยงานสามารถทำการประเมินเพื่อจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ปฏิบัติงานอย่างเป็นธรรม ซึ่งค่างานจะเป็นตัวบ่งบอกว่าผู้ถือครองควรจะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปในระดับใด และส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของหน่วยงานในระดับใด และในการประเมินเขาควรจะได้รับค่าตอบแทนตามงานที่เขาทำได้ในอัตราใด หรืออาจกล่าวได้ว่าค่างานเป็นความสัมพันธ์ระหว่างค่าตอบแทนกับขนาดของงานที่ได้รับมอบหมายที่บุคลากรปฏิบัติได้
  • หากงานที่มอบหมายให้บุคลากรปฏิบัติมีคุณภาพของงาน ความยุ่งยากซับซ้อน การกำกับตรวจสอบ และการตัดสินใจในงาน เกินกว่าระดับที่บุคลากรครองอยู่ บุคลากรท่านนั้นก็ควรได้รับการปรับเปลี่ยนงานให้เหมาะสมกับระดับที่ครองอยู่ หรือได้รับการเลื่อนระดับให้สูงขึ้น
  • หากงานที่มอบหมายให้บุคลากรปฏิบัติมีคุณภาพของงาน ความยุ่งยากซับซ้อน การกำกับตรวจสอบ และการตัดสินใจในงาน  ต่ำกว่าระดับที่บุคลากรครองอยู่ หน่วยงานจำเป็นต้องมอบหมายงานให้เพิ่มเติม หรือปรับเปลี่ยนงานให้เหมาะสมกับระดับที่ครองอยู่

 
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ออกจากระบบราชการไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลแล้ว ระบบการประเมินบุคลากรจะเข้มแข็งมากขึ้น ภายใต้การตอบแทนที่สูงขึ้น เพื่อให้บุคลากรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งปัจจุบันต้องใช้งบประมาณที่เป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนที่มอบให้แก่บุคลากรประมาณ 40% ของงบประมาณที่มีอยู่ในแต่ละปี และอาจจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากมหาวิทยาลัยยังคงอัตรากำลังไว้เท่าเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากมหาวิทยาลัยจะไม่มีงบประมาณไปพัฒนาด้านอื่น ๆ ดังนั้นมหาวิทยาลัยคงเลือกใช้วิธีจำกัดอัตรากำลัง
 
เมื่อทุกอย่างเป็นไปในแนวโน้มดังกล่าว การทำงานของบุคลากรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ทำงานแบบเดิม ๆ อีกต่อไป จะต้องทำงานให้คุ้มค่า สามารถทำงานได้หลายอย่าง มีความรับผิดชอบ มีความรู้ที่หน่วยงานต้องการ เช่น ความรู้ในงาน ความรู้ทางวิชาการ ทักษะทางมนุษยสัมพันธ์  ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ สามารถแก้ไขปัญหาในงานได้ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานเพื่อปรับปรุงแก้ไขการทำงานให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
 
ดังนั้น หน่วยงานจึงควรมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง “ค่างาน” ที่มอบให้แก่บุคลากรไปตามโอกาสอันควร ไม่ใช้แบบเดิมเป็นเวลานาน ๆ เมื่อค่างานเปลี่ยนแปลงไป การประเมินผลการปฏิบัติงานจึงต้องสอดคล้องกับค่างานที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ในอนาคต เมื่อหน่วยงานต่าง ๆ มีจำนวนบุคลากรน้อยลง จะต้องพยายามหาบุคลากรที่มีความสามารถหลากหลายในคนคนเดียว หรือเป็นคนที่มีความสามารถสูงในการทำงานนั้น ๆ ซึ่งเป็นไปในแนวทาง “คนน้อย ทำงานได้มาก ค่าตอบแทนเหมาะสมกับงานที่ทำได้
 

บรรณานุกรม

 
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน.  (ม.ป.ป.).  มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง.  [ออนไลน์].  จาก    http://www.ocsc.go.th/job/standard-position.  วันที่ค้นข้อมูล 14 กุมภาพันธ์ 2560.

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร