น้อย

ช่วงงานบุ๊คแฟร์ได้ยินเสียงบ่นว่า คนซื้อหนังสือน้อย
ช่วงวันเปิดงานบุ๊คแฟร์มีโอกาสได้ประชุมฯ ได้ยินเสียงแสดงความคิดเห็นว่า คนอ่านหนังสือน้อยลง
หลายๆช่วงของการทำงานในห้องสมุดก็ได้ยินเสียงบอกว่า คนใช้ห้องสมุดน้อยลง คนยืมหนังสือน้อยลง
“น้อย” ของเสียงดังกล่าวมีนัยยะให้คนทำงานคิด คิด แบบไม่จบไม่สิ้นว่าจะทำอย่างไรให้มาก ให้เยอะ เพราะใครก็ต่างคาดหวังให้คนทำงานไม่ใช่แค่คิด “ว่า” คิด “จะ” กระทั่ง “ว่าจะ”
“ใคร” ที่ว่ามีมากมายรอบตัวเรานี่แหละ ที่มีมีลีลาการส่งสารที่มีลีลาต่างกันทั้งดี ไม่ดี หล่อ เท่ห์ สวยฯ แต่พอร่อนๆ แล้วก็ได้ผลเท่ากัน
เวลาได้ยินคำว่า “น้อย” ดิฉันมักใช้ตัวเองเป็นเกณฑ์เพราะง่ายที่สุด
ซื้อหนังสือน้อย – ปีนี้จัดงานเป็นครั้งที่ 11 คนรอบข้างดิฉันจงรักภักดีกับงานนี้มาก ให้เหตุผลว่าใกล้บ้าน เดินสบาย จึงซื้อหนังสือสะสมตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบันหากนำมารวมๆ กันจึงนับเป็นร้อยๆ เล่ม และปีนี้ก็ยังคงซื้ออยู่
อ่านหนังสือน้อย – จะอ่านมากบ้างน้อยบ้างก็ยังอ่าน พออายุมากขึ้นคนรอบๆข้างมักมีขอบเขตการอ่านที่แคบลง เช่น บางคนอ่านนิยาย สุขภาพ เย็บปักถักร้อย ท่องเที่ยงและสยองขวัญ
เข้าห้องสมุด/ยืมหนังสือน้อย – ลูกยังยืมหนังสือเป็นนิจสิน มองๆแล้วน่าจะได้แชมป์ออฟเดอะเยียร์ เด็กยักษ์มีหนังสือติดประเป๋าทุกครั้งที่เดินทาง ยังแอบไปซื้อหนังสือทุกครั้งที่ไปห้าง เหตุที่แอบเพราะแม่จะบ่นเรื่องปริมาณของหนังสือที่บ้าน
น้องนักอ่านคนหนึ่งของทับแก้วเพิ่งกลับมาจากลอนดอน เล่าให้ฟังว่าที่โน่นผู้คนอ่านหนังสือกันเยอะมากทั้งตัวเล่มและ kindle จนอยากจะซื้อมาใช้บ้าง แต่คนเล่าบอกว่าชอบอ่านแบบตัวเล่มมากกว่า ดิฉันฟังแล้วจินตนาการไปถึงเวลาที่เราใช้นิ้วกรีด พลิกทีละหน้า ทีละหน้าเป็นอารมณ์ที่ไม่สามารถบรรยายได้ เท่าๆกับการได้ยินเสียงชัตเตอร์ของช่างภาพ
น้องบอกว่าเดินงานทับแก้วบุ๊คแฟร์มาแปดปีแล้ว เริ่มจากเข้าเรียน ม.1 ที่สาธิตฯ จนจบ ม.6 แล้วไปเรียนต่อที่อื่น แต่ยังคงกลับมางานทับแก้วบุ๊คแฟร์ ยังมีความสุขในการคุ้ยหาหนังสือเก่าๆ กองแล้วกองเล่าโดยไม่เบื่อ

สนทนากับรุ่นพี่ท่านหนึ่งบอกว่าการซื้อหนังสือที่น้อยลง นอกจากสภาพสังคมแล้วสภาพเศรษฐกิจยังส่งผลด้วย หากใครไปงานหนังสือที่ผ่านมาจะพบว่าน่าใจหายมาก เพราะโล่งและเดินสบาย ดิฉันเล่าว่าวันก่อนไปห้างดังที่อยู่รอยต่อกรุงเทพฯ ที่จอดรถว่างจนน่าใจหาย
โลกนี้มีแต่คนขายของ กำลังซื้อน้อยลง คนซื้อทบทวนตัวเองมากขึ้นเพราะหวดหวั่นกับอนาคต ส่วนที่มีกำลังซื้อมากๆ กลับไปหิ้วของหรือสั่งซื้อจากต่างประเทศ
ไม่รู้ว่าประเทศชาติต่อไปจะเป็นอย่างไร ไทยแลนด์ 4.0 เราจะไปถึงทั้งระบบกันมั้ย เป็นเรื่องน่าคิด และต้องคิดเผื่อให้กับรุ่นต่อไป
ส่วนเรื่องการอ่าน เรื่องหนังสือ เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันปลูกฝัง สั่งสมประสบการณ์ เป็นรสนิยมของการใช้ชีวิตของแต่ละคน ไม่ใช่แค่มีอีเว้นท์แล้วใครๆจะรักการอ่านขึ้นมาพลันทันใด เช่นเดียวกับคนชอบดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ ที่ยังไงก็ดื่ม อย่างไรก็สูบ 😛
เพียงแต่บังเอิญที่เราเป็นคนจัดอีเว้นท์ เราจึงรู้สึก “อิน” ของคำว่า “น้อย”
เพียงแต่บังเอิญที่เราทำงานในห้องสมุด เราจึงต้องมีภารกิจที่ต้อง “อ่าน” เพื่อให้ “อิน” แล้วไปบอกกับใครได้ว่าหนังสือดีอย่างไร
อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่าทั้งอาจารย์และบรรณารักษ์ก็ไม่อ่านหนังสือ แล้วจะแนะนำคนอื่นได้อย่างไร ฟังแล้วมันเจ็บ!!
เมื่อเราเป็นเจ้าของอีเว้นท์ของหนังสือและการอ่าน เรารู้สึก “อิน” ของคำว่า “น้อย” เราจึงต้อง “ทำ”
นักเขียนท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า อุปสรรคของความสำเร็จคือตัวเอง 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร