การสังเกตพฤติกรรม

:mrgreen: ในรอบประเมินที่ผ่านมา ชาวหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ทุกท่าน (เฉพาะกลุ่มข้าราชการและพนักงาน) ได้ผ่านการทำแผนพัฒนารายบุคลกันทั่วหน้า และได้มีการส่งรายงานการพัฒนารายบุคคลของแต่ละคนกันไป ผ่านกระบวนการการตรวจจากผู้บังคับบัญชาระดับต้นคือหัวหน้าฝ่าย และผ่านหัวหน้าหอสมุด ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหอสมุดฯ มีทั้งที่ต้องแก้ไข และเพิ่มเติมสิ่งที่หัวหน้าทั้งหลายต้องให้เพิ่มหรือแก้ไขเสร็จสิ้นไป
สำหรับตัวผู้เขียนในฐานะผู้บังคับบัญชาระดับต้น(หัวหน้าฝ่าย) มีสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ การประเมินพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชา เนื่องมาจากว่า ลูกน้องในฝ่ายฯของผู้เขียนมีอยู่ 2 คน ที่นำเสนอแผนพัฒนารายบุคคลในเรื่อง การพัฒนาบุคลิกภาพและการสื่อสารในงานบริการ ซึ่งระบุการวัดผลสำเร็จในแผนฯ คือ 1) มีรายงานสรุป 2) มีการติดตามประเมินผล โดยการเลือกประเด็นจากการอบรมมาพัฒนาตนเองอย่างน้อย 1-2 เรื่อง 3) การสังเกตพฤติกรรม (โดยหัวหน้าทั้งหลายและเพื่อนร่วมงาน) 4) ผลการสำรวจความพึงพอใจ ผู้เขียนจึงต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในเขียนรายงานในการวัดผลข้อที่ 3 การสังเกตพฤติกรรม ซึ่งในข้อที่ 3 นี้หัวหน้าหอสมุดได้มอบหมายว่าเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา (หัวหน้าฝ่าย) ที่จะต้องเขียนรายงาน
เริ่มต้นผู้เขียนนึกไม่ออกว่าจะเขียนรายงานออกมาในรูปแบบไหน ถึงจะบ่งบอกว่า เราในฐานะผู้บังคับบัญชาได้มีการกระทำในเรื่องของการสังเกตพฤติกรรมของลูกน้องจริงๆ ไม่ใช่มานั่งเทียนเขียนไปว่า ลูกน้องเราดีจริง ทำจริง และก็จะมีคำถามจากผู้สงสัยตามมาว่า เอาอะไรมาวัด เอาอะไรมาตัดสิน ดังนั้นผู้เขียนจึงค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการสังเกตพฤติกรรม แนวทาง วิธีการ ขั้นตอน ที่มีการใช้กัน จนสามารถสรุปออกมาเป็น “สรุปรายงานการสังเกตพฤติกรรมของ……เรื่อง การพัฒนารายบุคคล : การพัฒนาบุคลิกภาพและการสื่อสารในงานบริการ
โดยประเด็นในการพัฒนาของบุคลากรทั้ง 2 ท่าน ได้มีการเลือกประเด็นในการพัฒนาตนเอง แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1) การพัฒนาบุคลิกภาพภายใน 2) การพัฒนาบุคลิกภายภายนอก
จากการศึกษาเอกสารผู้เขียนจึงขอเรียก “การพัฒนาบุคลิกภาพภายใน” ว่า “พฤติกรรมภายใน” เนื่องจากบุคลิกภาพภายในที่ทั้ง 2 ท่านเลือกคือ ด้านอารมณ์ (ความหงุดหงิด) การควบคุมอารมณ์ และ การคิดและมองต่างมุม  และ “การพัฒนาบุคลิกภายภายนอก” ว่า “พฤติกรรมภายนอก” คือ การไหว้ การนั่ง การแต่งหน้า และการแต่งกาย
ซึ่งพฤติกรรม หมายถึง กิริยาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์หรือที่มนุษย์ได้แสดง หรือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เมื่อได้เผชิญกับสิ่งเร้า ซึ่งรูปแบบพฤติกรรมของมนุษย์ แบ่งได้เป็น 2 อย่างคือ 1) พฤติกรรมเปิดเผยหรือพฤติกรรมภายนอก (Overt Behavior) เป็นพฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกมา ทำให้ผู้อื่นสามารถมองเห็นได้ สังเกตได้ เช่น การเดิน การหัวเราะ การพูด เป็นต้น 2) พฤติกรรมปกปิดหรือพฤติกรรมภายใน (Covert Behavior) เป็นพฤติกรรมที่บุคคลแสดงแล้ว แต่ผู้อื่นไม่สามารถมองเห็นได้ สังเกตได้โดยตรงจนกว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้บอกหรือแสดงบางอย่างเพื่อให้คนอื่นรับรู้ได้ เช่น ความคิด อารมณ์ การรับรู้ (พฤติกรรมมนุษย์, http://www.novabizz.com/NovaAce/Behavior/พฤติกรรมมนุษย์.htm)
โดยผู้เขียนในฐานะผู้บังคับบัญชาได้ให้บุคลากรทั้ง 2 ท่านศึกษาหรือวิเคราะห์ตนเองก่อนและหลังจากที่ได้รับการอบรมเรื่อง “จิตบริการ (service Mind) : การพัฒนาบุคลิกภาพและการสื่อสารในงานบริการ” เพื่อให้เป็นการอธิบายพฤติกรรมของตนเอง เข้าใจพฤติกรรมของตนเอง และเพื่อควบคุมพฤติกรรมของตนเอง
ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรทั้ง 2 ท่าน 1) เกิดความเข้าใจตนเอง  จากความเข้าใจตนเองก็นำไปสู่การยอมรับตนเอง และได้แนวทางปรับตน  พัฒนาตน เลือกเส้นทางชีวิตที่เหมาะสมแก่ตน 2) รู้จักเลือกรับปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมเพื่อพัฒนาตนทั้งทางกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ช่วยให้เข้าใจธรรมชาติภายในตน เข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นแนวทางสู่การเสริมสร้างพัฒนาตนและบุคคลอื่นๆ ได้อย่างเหมาะสม 3) เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุของพฤติกรรม เพื่อการพัฒนาตนเอง และพัฒนาคุณภาพชีวิต 4) เพื่อเสริมสร้างมนุษย์สัมพันธ์ การมองตนและประเมินตนเอง การเข้าใจตนและยอมรับตน การเข้าใจผู้อื่น และยอมรับผู้อื่น และสามารถวางแผนปฏิบัติเพื่อการพัฒนาตนและการดำรงตนอย่างเป็นสุข และมีทักษะในการสร้างมนุษย์สัมพันธ์
ในส่วนของการสังเกตพฤติกรรม โดยผู้เขียนในฐานะผู้บังคับบัญชาใช้การรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมเชิงจิตวิทยาด้วยวิธีการ
1. รวบรวมข้อมูลแบบให้เจ้าตัวสำรวจตนเอง ( introspection) เป็นการให้เจ้าตัวผู้ศึกษาหรือผู้ที่ต้องการรู้จักตนได้พิจารณาตนเองแล้ว บรรยายตัวเองออกมา วิธีนี้ใช้ในการรวบรวมข้อมูลที่เป็นพฤติกรรมภายในหรือความในใจ โดยให้ผู้ถูกศึกษาอ่านความรู้สึกของตนเอง แล้วรายงานความรู้สึกออกมา เพื่อหาเหตุและผลแห่งการกระทำนั้น อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหา ป้องกันปัญหา และพัฒนาพฤติกรรม ดังกล่าวข้างต้น
2. การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมโดยผู้อื่น (Observation) วิธีนี้จะให้ผลถูกต้องแม่นยำขึ้น ถ้าผู้สังเกตไม่ทำให้ผู้ถูกสังเกตรู้ตัว และเมื่อบันทึกผลการสังเกตก็ต้องบันทึกอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นการที่บุคคลรับรู้ข้อมูลจากการสังเกต และบันทึกพฤติกรรมจากผู้อื่นที่มีความตรงและความเชื่อมั่น สามารถช่วยให้เราเข้าใจตนเองได้ดีขึ้น ทั้งนี้การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมโดยทั่วไปทำได้หลายวิธี ดังนี้ 1) ระเบียนพฤติการณ์ (Anecdotal recording) คือ การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสถานการณ์หนึ่งๆ โดยมีสถานที่และเวลาที่กำหนด และไม่มีการแปลความในขณะสังเกตหรือบันทึกพฤติกรรม 2) การบันทึกความถี่ของพฤติกรรม (Frequency recording) คือ การสังเกตจำนวนการเกิดพฤติกรรมในช่วงเวลาหนึ่ง 3) การบันทึกช่วงเวลา (Interval recording) คือ การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งแบ่งออกเป็นช่วง ๆ แล้วเลือกนับเฉพาะช่วงเวลาที่เกิดพฤติกรรมเป้าหมาย ส่วนมากนิยมใช้สำหรับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยากที่จะนับความถี่ เกณฑ์การบันทึกต้องกำหนดให้ชัดเจน สอดคล้องกับลักษณะพฤติกรรมเป้าหมายและจุดมุ่งหมายของการปรับปรุง 4) การสังเกตแบบสุ่มเวลา (Time Sampling) คือ การนับความถี่ หรือจำนวนครั้งของพฤติกรรมในแต่ละช่วงเวลาที่กำหนดจนครบเป้าหมาย 5) การบันทึกความยาวนานของเวลาการแสดงพฤติกรรม (Duration recording) คือ การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันไป
ในข้อนี้ผู้เขียนในฐานะผู้บังคับบัญชาได้ใช้วิธีการที่ 1 ระเบียนพฤติการณ์ (Anecdotal recording) คือ การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสถานการณ์หนึ่งๆ ไม่มีการแปลความในขณะสังเกตหรือบันทึกพฤติกรรม กับการสังเกตพฤติกรรมภายใน ด้านอารมณ์ (ความหงุดหงิด) กับบุคลากรทั้ง 2 ท่าน พบว่า การแสดงออกซึ่งอารมณ์ในแต่ละสถานการณ์และแต่ละช่วงเวลานั้นมีผลมากจากสิ่งเร้าจากสภาพแวดล้อม เช่น ความเครียดในการทำงาน เสียงโทรศัพท์ เป็นต้น ซึ่งบุคลากรคนที่ 1 สามารถขจัดอารมณ์ที่เกิดจากสิ่งเร้าเหล่านี้ไปได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งผลที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากสิ่งที่บุคลากรคนที่ 1ได้รายงานไว้ในรายงานการศึกษาเปรียบเทียบของตนเองถึงวิธีการสงบสติอารมณ์ การสำรวจอารมณ์ของตนเอง การดึงตัวออกห่างจากสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์นั้นๆ เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์
ส่วนบุคลากรคนที่ 2 ในข้อนี้ผู้เขียนในฐานะผู้บังคับบัญชาได้ใช้วิธีการที่ 1 ระเบียนพฤติการณ์ (Anecdotal recording) เช่นกันในการสังเกตพฤติกรรมภายในเรื่อง การควบคุมอารมณ์ และ การคิดและมองต่างมุมเช่นกัน พบว่าบุคลากรคนที่ 2 การควบคุมอารมณ์ และการมองต่างมุม มีผลกับการทำงานของบุคลากรคนที่ 2 มาก เนื่องในสถานการณ์ปัจจุบันในช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ต้องมีการประสานงานกับบุคคลและหน่วยงาน บุคลากรคนที่ 2 สามารถจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี
และวิธีการที่ 3 การบันทึกช่วงเวลา (Interval recording) คือ การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมในช่วงเวลาที่กำหนด กับการสังเกตพฤติกรรมภายนอก คือ การไหว้ การนั่ง การแต่งหน้า และการแต่งกายของบุคลากรทั้ง 2 คน พบว่า ลักษณะนิสัยเดิมของบุคลากรคนที่ 1 นั้นเป็นผู้ที่มีสัมมาคาราวะ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผู้บังคับบัญชาเห็นมาโดยตลอด และภายหลังได้ปรับพฤติกรรมนี้ให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการความรู้สึกนึกคิดที่ละเอียดอ่อนขึ้น ส่วนบุคลากรคนที่ 2 สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปจากเดิมในทางที่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของบุคลิกภาพการแต่งตัว การแต่งหน้า และการนั่ง
แหล่งอ้างอิง :
ปัญญฎา ประดิษฐบาทุกา. (2548). การศึกษาและการประเมินตนเอง. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก : https://www.gotoknow.org/posts/320078 สืบค้นวันที่  2 ธันวาคม 2559
พฤติกรรมมนุษย์ (Human Behaviour). [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก : http://www.novabizz.com/NovaAce/Behavior/พฤติกรรมมนุษย์.html สืบค้นวันที่  2 ธันวาคม 2559
หัวหน้าหมู่นักเรียน. พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน. (14 กรกฎาคม 2550) [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/lrukk/2007/07/14/entry-1 สืบค้นวันที่  2 ธันวาคม 2559
 
 
 

One thought on “การสังเกตพฤติกรรม

  • ชื่นชมนะคะ ที่พยายามหาทฤษฎีเข้ามาแก้ไขปัญหาของตัวเองได้แบบมีหลักการ สมกับที่เป็นบรรณารักษ์ที่มีหน้าที่บอกให้คนอื่นๆรู้จักการแสวงหาสารสนเทศ
    วิธีการ/ทฤษฎีใดๆ จะมีผลต่อเมื่อนำไปใช้จริง การประเมินพฤติกรรมเป็นเรื่องยาก เพราะมนุษย์มักหลีกเลี่ยงและไม่ชอบรับฟังสิ่งที่เป็นด้านลบของตัวเอง ความจริงใจและตรงไปตรงมาบวกกับเวลาทั้งของผู้ประเมินและผู้รับการประเมินจะช่วยได้มาก

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร