เรื่องของสนามหญ้า
หญ้าที่นิยมปลูกกันในประเทศไทยสำหรับตกแต่งสวน หรือทำสนามกีฬา ได้แก่ หญ้านวลน้อย หญ้าญี่ปุ่น หญ้ามาเลเซีย และหญ้าเมอร์มิวด้า ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะที่ต่างกันไป ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกหญ้าสายพันธุ์ใดมาใช้ ควรศึกษาหาข้อมูลเสียก่อน เพื่อจะได้ตรงกับลักษณะและพื้นที่ที่เราต้องการใช้งาน
หญ้านวลน้อย เป็นหญ้าพื้นเมืองของไทย ซึ่งเป็นหญ้าที่นิยมปลูกมากที่สุด ลักษณะของใบสีเขียวเข้ม ใบแคบเรียวยาวตัดแต่งรูปทรงได้ดี ชอบความชื้นสูง ทนอากาศร้อนและแห้งแล้ง ทนต่อการเหยียบย่ำได้ดีมาก มีความหยุ่นตัวสูง เจริญเติบโตเร็ว แต่จะต้องตัดแต่งอยู่เสมอ เพราะถ้าปล่อยไว้นานหญ้าจะออกดอกทำให้สนามดูเป็นสีดำไม่สวย เหมาะสำหรับที่จะปลูกตามสวนสาธารณะ สนามฟุตบอล สนามกอล์ฟ
หญ้าญี่ปุ่น มีถิ่นกำเนิดในแถบแมนจูเรีย และมีการนำเข้าไปปลูกในอเมริกา นิยมเรียกกันว่า Japanese Grass ซึ่งคงเนื่องมาจากอิทธิพลของการจัดสวนแบบญี่ปุ่น ที่ใช้หญ้าชนิดนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญ ก็เลยเรียกว่า หญ้าญี่ปุ่นติดปากมาจนทุกวันนี้ เป็นหญ้าที่เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน แต่ในเขตหนาวและแห้งแล้งก็เจริญ เติบโตได้ดีพอสมควร แต่ถ้าปลูกในที่ชื้นแฉะไม่เหมาะ หญ้าญี่ปุ่นมีอยู่ 2 ลักษณะ คือใบกว้าง และใบกลมเล็ก ซึ่งแบบที่สองเป็นที่นิยมปลูกในประเทศไทย ลักษณะของใบจะมีสีเขียวเข้ม ใบเล็กละเอียด ปลายแหลมกลมแข็ง เวลาสัมผัสปลายใบจะทิ่มแทงผิวหนัง หญ้าญี่ปุ่นต้องการน้ำในปริมาณค่อนข้างมาก และเจริญเติบโตได้ช้า แต่เมื่อขึ้นแล้วจะหนาแน่นมาก วัชพืชไม่ค่อยขึ้นแทรก ไม่ต้องตัดแต่งบ่อยนัก แต่ถ้าปล่อยไว้นานเกินไปหญ้าจะแตกหน่อเป็นกอ เป็นกระจุกการตัดแต่งจะลำบากมาก ถ้าขาดน้ำอยู่ในภาวะแห้งแล้งนาน ๆ ใบจะเหลืองทันที เป็นหญ้าที่ทนต่อการเหยียบย่ำได้พอสมควร แต่ยืดหยุ่นตัวน้อยกว่าหญ้านวลน้อย เหมาะสำหรับที่จะปลูกตามสวนสาธารณะ ตกแต่งสวนในบ้าน
หญ้ามาเลเซีย เป็นหญ้าที่ขึ้นอยู่ในแถบในอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ นำมาปลูกในเขตร้อนได้ สามารถปรับตัวได้ดีในดินที่แห้งแล้ง แต่ไม่ทนหนาว มีใบกว้างและแบน ขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ในเมืองไทยปลูกพบว่าปลูกอยู่ตามสวนยางพาราทางภาคใต้ซึ่งติดกับประเทศมาเลเชีย ในบางท้องที่เรียกว่า หญ้าเห็บ หรือ หญ้าไผ่ ก่อนที่จะมีการปลูกเพื่อจำหน่าย ได้ตั้งชื่อใหม่ว่า หญ้ามาเลเชีย จึงเรียกติดปากกันมาถึงทุกวันนี้ สามารถขึ้นได้ดีในที่มีแสงน้อย แดดรำไร ตามชายคาบ้าน หรือใต้ต้นไม้ใหญ่ หญ้านี้ต้องการน้ำมาก เนื่องจากมีใบใหญ่ จึงคายน้ำมาก ถ้าหากขาดน้ำใบจะเหลือง และไม่ทนต่อการเหยียบย่ำ เหมาะสำหรับที่ตกแต่งสวนในบ้าน
หญ้าเมอร์มิวด้า (หญ้าแพรก) เป็นหญ้าพื้นเมืองในทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย และยุโรปใต้
ลำต้นค่อนข้างแบน และจะตั้งตรงหรือโค้งจาก ฐานของลำต้น มีทั้งลำต้นใต้ดิน และลำต้นบนดิน ซึ่งแตกแขนงออก มาแล้วมีรากที่ข้อ ใบค่อนข้างบางเรียวแหลม ขอบใบมีขนเล็ก ๆ ใบมีสีเขียงเข้ม เนื้อใบค่อนข้างหยาบ ต้องการแสงแดดมากในการเจริญเติบโต ถ้าปลูกในที่ร่ม ลำต้นจะยาว ใบจะบางอ่อนแอ สามารถทนต่อการเหยียบย่ำได้ดีมาก เหมาะสำหรับที่จะทำสนามฟุตบอล สนามรักบี้ ปลูกตามเกาะกลางถนน ไหล่ทาง ปลูกคลุมดินป้องกันไม่ให้เกิดการพังทะลายของดินได้
วิธีการดูแลสนามหญ้า
1. ดินที่ใช้ปลูกหญ้า
สภาพดินเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ซึ่งถ้าดินดีก็จะส่งผลไปถึงหญ้าที่เราปลูก อาจจะปรับสภาพดินด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยออร์แกนิก เพราะปุ๋ยจากธรรมชาติ จะช่วยทำให้ดินโปร่งและร่วนซุยมีช่องว่างพอที่อากาศ และออกซิเจนจะผ่านเข้าไปได้ รวมทั้งยังเป็นการช่วยให้ดินสามารถรับสารอาหารต่าง ๆ ที่จะใส่เพิ่มลงไปได้ง่ายขึ้นด้วย
2. การรดน้ำ
การรดน้ำ ต้นหญ้าเป็นพืชที่ชอบน้ำมากควรรดน้ำให้มากพอในแต่ละครั้ง เวลาเช้าถือเป็นเวลาที่เหมาะที่สุด เพราะช่วงเช้าถึงเที่ยงเป็นเวลาที่มีแสงแดดหญ้าปรุงอาหารได้ดี ส่วนในช่วงเวลาอื่นควรรดน้ำประมาณบ่าย 2 – 3 โมง เพราะเมื่อให้น้ำแล้ว ยังพอมีแสงแดด สนามจะได้แห้งก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน ไม่เช่นนั้นดินจะไม่แห้ง ความชื้นในดินอาจทำให้เป็นสาเหตุของโรคพืชได้ หลังการรดน้ำสนามหญ้าขณะที่ดินยังเปียกอยู่ ไม่ควรเดินเหยียบย่ำพื้นหญ้า เพราะจะทำให้ดินแน่นและต้นหญ้าตาย สำหรับการรดน้ำหากเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ควรติดตั้งเครื่องพ่นน้ำแบบอัตโนมัติ ซึ่งประหยัดแรงงานและเวลา
3. การใส่ปุ๋ย
เพื่อให้สนามหญ้าสวยงามอยู่เสมอ นอกจากการรดน้ำแล้ว การใส๋ปุ๋ยเพื่อเพิ่มธาตุอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ก่อนที่จะใส่ปุ๋ยควรจะนำดินไปตรวจสอบธาตุอาหารเสียก่อน ว่าดินของเราขาดธาตุอาหารอะไรบ้าง จะได้เพิ่มเติมให้ตรงกับความต้องการของต้นหญ้า
หากสภาพดินยังดีหรือไม่เสื่อมโทรมมาก การใส่ปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยออร์แกนิก ก็สามารถบำรุงต้นหญ้าให้เติบโตแข็งแรงและสวยงามได้ ซึ่งปุ๋ยเหล่านี้ยังช่วยลดอันตรายจากสารเคมี ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งไม่เป็นอันตรายกับคนและสัตว์เลี้ยงอีกด้วย แต่ถ้าหากต้องการเร่งการเจริญเติบโต หรือเพื่อแก้ปัญหาใบเหลืองอาจต้องใส่ปุ๋ยเคมีช่วย การใส่ปุ๋ยและเร่งการเจริญเติบโต ใช้สูตร 20 – 20 – 0 หากใบหญ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองใช้สูตร 46 – 0 – 0 แล้วรดน้ำให้เปียกชุ่มทันทีเพื่อป้องกันการใบไหม้
4. การตัดหญ้า
เมื่อหญ้าเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ไม่ควรปล่อยหญ้าทิ้งไว้ให้หญ้ายาวจนเกินไป เพราะเมื่อตัดใบออกหมดจะเห็นต้นหญ้าเป็นสีน้ำตาล มองดูไม่สวยงาม หากต้องการให้สนามหญ้าดูเขียวสวยงามต้องตัดหญ้าบ่อย ๆ จะตัดด้วยเครื่องตัดหญ้าแบบใดก็ได้ แต่ไม่ควรตัดสั้นจนเกินไป เพราะจะกระทบกระเทือนรากหญ้า เป็นเหตุให้ต้นหญ้าตาย การตัดหญ้าบ่อย ๆ จะทำให้หญ้าจะผลิยอดอ่อนออกมา ทำให้สนามหญ้าดูเขียวสดน่ามอง แต่ในช่วงหน้าฝนที่หญ้าจะโตเร็วมาก ก็ต้องตัดหญ้าให้บ่อยขึ้น ถ้าเป็นไปได้ควรตัดทุกๆ สัปดาห์ และไม่ควรปล่อยไว้นานเกิน 2 สัปดาห์ และต้องตัดขณะที่สนามแห้ง ไม่เปียกแฉะ เพราะจะทำให้ต้นหญ้าช้ำ การตัดหญ้าควรตัดให้เหลือความสูงประมาณ 1 นิ้ว และหากตัดในทิศทางเดียวกันนานๆ จะทำให้หญ้าลู่เอนไปทางเดียว นอกจากจะดูไม่สวยแล้วยังทำให้หญ้าเจริญเติบโตไม่ดีด้วย ควรตัดสลับทิศทางบ้าง ทุกๆ 1-2 เดือน
5. การดูแลรักษาสนามหญ้า
หากพบว่ามีวัชพืชขึ้นแซมบนสนามหญ้า กำจัดโดยใช้มือดึงหรือใช้เครื่องมือแซะออก วัชพืชที่ขึ้นมานั้นแสดงว่าสภาพดินกำลังมีปัญหา และถ้าวัชพืชมีจำนวนมากผิดปกติ ต้องรีบตรวจสอบและทำการปรับสภาพดินโดยเร็ว สนามหญ้าที่มีขนาดใหญ่ หน้าดินอาจมีการทรุดตัว หรือโดนน้ำเซาะจนเป็นหลุมเป็นแอ่งได้ สนามหญ้าจะเกิดรอยแหว่ง ไม่เรียบเสมอกัน ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติ และดูแลสนามหญ้าอย่างดีตามปกติ ประมาณ 2 สัปดาห์หญ้าก็จะงอกแซมไปยังพื้นที่ที่ว่างจนเต็มได้ในที่สุด แต่ถ้าต้องการความรวดเร็วก็อาจจะต้องปลูกหญ้าเพิ่มเติมลงในพื้นที่ที่ขาดหายไป
บทความนี้เรียบเรียงจากข้อมูลในเวปไซค์ต่อไปนี้
http://www.misterdecorate.com
http://www.home.kapook.com
http://www.homedeedeeforyou.com
http://www.palangkaset.com/
http://www.tonsuk.wordpress.com
http://www.novabizz.com/
http://e-learning.shc.ac.th/