ชาตินี้คงไปไม่ถึงไหน ถ้าทำอะไรแค่พอผ่าน

เป็นชื่อหนังสือค่ะ ไปเจอตรง Just Return มุมที่ผู้ใช้บริการชอบมา “มุง” เพราะคนชอบอะไรที่ย่นและย่อ คนทำงานบริการจึงต้องสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้และนำข้อสังเกตไปพัฒนางานให้ได้ นอกเหนือจากแบบสอบถามที่จำกัดความคิด แม้จะมีช่องอื่นๆ แต่ผู้ตอบแบบสอบถามก็คร้านที่จะเขียน หรือบางทีตัวเราจะเข้าไปสอบถามก็ไม่รู้ว่าจะถามอะไร เพื่อนำมาใช้กับอะไร จึงเป็นข้อจำกัดของการทำงานแบบเชิงรุก ที่เป็นหนึ่งในรายละเอียดของจิตใจใฝ่บริการ ที่คนมักหยุดที่ยิ้มแย้ม พูดจาไพเราะ
14568980_10208683270777269_1491574461_n
ดิฉันอ่านหนังสือเรื่องนี้ร่วมเดือนวันละหน้าสองหน้า ไปค้นในกูเกิ้ลพบว่ามีคนรีวิวมากมาย งานเขียนรีวิวจึงเป็นทางลัดให้กับหลายคน ทั้งในเรื่องของการอ่านและการทำงาน แต่ก็ไม่ใช่ของเรา เพราะเป็นความเห็นของคนรีวิว
กูเกิ้ลทำชีวิตให้ง่ายขึ้นก็จริง แต่ก็มีหลายคนที่ชอบทำชีวิตให้ยากขึ้นด้วยการนำสิ่งทีง่ายไปพัฒนาตัวเอง ด้วยการทำให้หนีไปจากสิ่งที่มี เช่น อ่านจากสิ่งที่มีแล้วไปคิดต่อ หรือวิพากษ์ว่าเห็นด้วยอย่างไร หรือไม่เห็นด้วยอย่างไร หรือยกประสบการณ์เข้าไปประกอบกับเนื้อหาที่เราอ่านเจอ และทำเรื่องนั้นให้เป็นของเรา คนที่ฝึกฝนตัวเองให้ทำเรื่องยากๆ จนเป็นนิสัย ทำให้เป็นคนที่ SMART ไปเองแบบไม่รู้ตัว
อ่านไปครึ่งเล่มบังเอิญไปพบเนื้อหาที่สอดคล้องกับที่เราคิดในบล๊อกเมื่อวานของคำว่า “ฝึกฝน” กับคำว่า “เคี่ยวเข็ญ” ถ้าทำงานวิจัยคงดีใจมากเพราะมีวรรณกรรมมาสนับสนุน
ในหนังสือเล่มนี้ให้คำจำกัดของ “การฝึกฝน” ว่า การฝึกฝนคือ การผลักดันตัวเองให้ทำในสิ่งที่เกินความสามารถในปัจจุบัน (หน้า 105)
ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างการฝึกฝนเรื่องการเขียนของ เบนจามิน แฟรงกลิน ประวัติของเขาหาอ่านประวัติได้มากมาย แต่ที่จะแนะนำคือที่บล๊อกนี้เพราะสรุปความชีวประวัติของเขาจากหนังสือชื่อ The Autobiography of Benjamin Franklin  http://inform-invest.blogspot.com/2014/02/benjamin-franklin.html ลองอ่านดูค่ะ
ขอเล่าเรื่องในหนังสือในหน้า 130-131 ว่า เบนจามิน แฟรงกลิน ได้ฝึกฝนการเขียนของเขาด้วยการอ่านบทความในนิตยสารแล้วสรุปความหมายของแต่ละประโยคลงในบันทึกย่อ (อ่านแล้วทำให้นึกถึงบัตร 5 คูณ 7 ที่ครูพร่ำสอนตอนเรียนเรื่องวิชาการใช้ห้องสมุด) หลายวันต่อมาเขาจะหยิบบันทึกย่อดังกล่าวขึ้นมาอ่านแล้วพยายามถ่ายทอดความหมายด้วยสำนวนของตัวเอง เมื่อเขียนเสร็จเขาก็นำผลงานไปเปรียบเทียบกับต้นฉบบเพื่อค้นหาจุดบกพร่องและทำการแก้ไขให้ถูกต้อง
หนึ่งในจุดบกพร่องที่แฟรงกลินสังเกตเห็นคือการใช้คำที่ยังไม่ดีพอ แล้วเขาจะแก้ไขได้อย่างไรบ้าง เขาเล็งเห็นว่าการเขียนบทกวีต้องอาศัย “คลังคำศัพท์” ขนาดมโหฬาร… นอกจากนี้เขาพบว่าหัวใจสำคัญของงานเขียนที่ดีคือการเรียบเรียงใจความ วิธีการที่เขาทำคือทำบันทึกย่อสำหรับแต่ละประโยคของบทความเหมือนเดิม แต่คราวนี้เขียนลงกระดาษคนละแผ่น จากนั้นรวมๆไว้แบบไม่เรียงลำดับ แล้ววางไว้จนลืม แล้วจึงนำบันทึกย่อมาเรียนลำดับให้ถูกต้อง พยายามเขียนบทความขึ้นมาใหม่ แล้วนำไปเปรียบเทียบกับต้นฉบับ … “ค้นพบจุดบกพร่องและปรับปรุงแก้ไข” โดยไม่มีครูมาคอยชี้แนะ แต่พ่อของเขาเป็นผู้ชี้ให้เห็นว่าทักษะการเขียนของเขามีจุดบกพร้่องตรงไหนบ้าง และเขาใช้งานเขียนของบุคคลที่เก่งกว่าเป็นครูแทน และรู้จักเลือกอ่าน
ผู้เขียนตั้งขอสังเกตว่า แฟรงกลินไม่ได้ฝึกฝนด้วยการนั่งเขียน แต่หันไปทุ่มเทกับการปรับปรุงองค์ประกอบที่จำเป็นต้องแก้ไข โดยเริ่มจากการปรับปรุงโครงสร้างประโยค การสรุปและเรียบเรียงประโยคในบทความขึ้นมาใหม่ทีละประโยค แสวงหาคำศัพท์ และฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยความอุตสาหะภายใต้เวลาที่มีจำกัดเนื่องจากต้องทำงานและภารกิจอื่นๆ แล้วนำผลงานที่เขียนด้วยตนเองกลับไปเปรียบเทียบกับต้นฉบับที่เลือกอ่านเพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับ และผู้เขียนเรียกวิธีการนี้ว่า การฝึกฝนอย่างจดจ่อ
วันก่อนมีน้องคนนึงบอกว่าอยากจะทำแผนพัฒนาตนเองด้วย “การอ่านจับใจความ” ดิฉันมีความเห็นว่า “ดี” เพราะเป็นสิ่งจำเป็นมากกับการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งส่วนตัวและการทำงาน บอกไปว่าคงต้องมาฝึกกับดิฉันนี่แหละ  😳 จึงทำให้กลับไปคิดว่าจะทำอย่างไรดีให้น้องได้ผลตามที่ตั้งใจ
เรื่องแบบนี้เคยฝึกให้กับบรรณารักษ์เมื่อนานมาแล้ว แต่นานแม้กระทั่งตัวเองยังจะลืม!!  วิชาพวกนี้ดิฉันได้รับการสอนจากอาจารย์ในสมัยเรียนปริญญาตรี และยังใช้ได้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทักษะแบบนี้ต้องทำควบคู่กับการฝึกฝน  บทที่ 8 ของหนังสือสนับสนุนว่า ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไร ก็ยิ่งได้เปรียบเท่านั้น
ที่เล่ามาเป็นแค่เสี้ยวเล็กๆของหนังสือที่คิดว่าน่าอ่านเพราะเป็นหนังสือที่ชวนให้เราคิดตามอยู่ตลอดเวลา ตามวิสัยของมนุษย์มักชอบที่จะนำเรื่องราวต่างๆ มาเปรียบเทียบกับตัวเอง
มุมบนขวามือของหนังสือโปรยคำว่า เคล็ดลับพัฒนาความสามารถที่รู้กันเฉพาะในหมู่คนเก่งระดับโลก แต่คนธรรมดาไม่เคยรู้
สนใจจองต่อจากดิฉันได้ เพราะตั้งใจจะใช้วันหยุดนี้อ่านวนไปค่ะ
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร