การพัฒนาบุคลากร

เมื่อวันก่อน 4 ตุลาคม 2559 ผู้อำนวยการฯ ได้บรรยายเกี่ยวกับแผนการพัฒนาบุคลากร สำนักหอสมุดกลางให้กับคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และได้เชิญผู้บริหารรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องไปฟังครั้งนี้ด้วย เหตุผลของการบรรยายครั้งนี้คือเพื่อให้เข้าใจในเรืองเดียวกันตรงกัน โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำแผนพัฒนาตนเองรายบุคคล ที่เรียกสั้นๆ ว่า IDP ใช้เวลาเกือบทั้งวัน พอที่จะสรุปได้ดังนี้
Individual Development Plan: IDP แผนพัฒนาตนเองรายบุคคล เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องคุยกับหัวหน้าของตนเองให้ช่วยกันดูว่าอันตัวข้าพเจ้านี้ควรต้องได้รับการติวเรื่องอะไร อย่างไร และผลที่ได้ควรเป็นแค่ไหน คำว่า “คุยกับหัวหน้า” แปลว่าต้องมีการสนทนาปราศรัย แลกเปลี่ยน ชี้แจง และหาวิธีการช่วยกัน แล้วตกลงกันเห็นชอบด้วยกัน และผลที่ได้จากการพัฒนาตนเองทำให้เราเป็นผู้พร้อมในการทำงาน ความพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญก้าวหน้า นอกเหนือจากความเชื่อในเรื่องดวง หากเปรียบเทียบแล้ว IDP คือการเรียนพิเศษที่ไม่เกี่ยวกับเกรดที่ได้จากกการเรียนในระบบ การเรียนในระบบวัดจาก KPI แต่สิ่งที่เรียนรู้ใน IDP จะช่วยให้ KPI ดีขึ้น หากรู้จักเลือกสรรสิ่งที่ประสงค์จะพัฒนาตนเอง เชื่อกันว่าหัวหน้าทั้งหลายจะช่วยนำทางเพราะตามหลักการแล้วคนกลุ่มนี้จะเห็นอะไรที่กว้างและมากกว่า รวมทั้งมีความเป็นองค์รวม ตัวอย่างเช่น เราคิดเรื่อ่ง A หัวหน้าจะสามารถแตกเป็น A1 A2 A3 หรือนำ A ไปผูกกับ B หรือกระทั้งโยงใยไปทั้งองค์กร -จบเรื่อง IDP-
Training Road Map เป็นการจัดทำแผนที่เส้นทางของการฝึกอบรมที่องค์การจัดทำให้กับบุคลากรตามตำแหน่งงานในภาพรวมโดยดูตำแหน่ง หน้าที่ ว่าควรพัฒนาในเรื่องอะไร ทั้งนี้ในสำนักฯ ของเราแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มบรรณารักษ์ กลุ่มสนับสนุน และกลุ่มผู้นำ ทั้งหลายทั้งปวงเพื่อองค์กรไปสู่วิสัยทัศน์ที่วางไว้
สมรรถนะในการปฏิบัติงาน ซึ่งก็แบ่งออกเป็นสมรรถนะหลัก (Core Competency) ที่เป็นเรื่องของทักษะและคุณลักษณะพื้นฐานของบุคลากรในองค์กร เช่น จิตใจใฝ่บริการ และสมรรถนะในการทำงาน (Functional Competency) เป็นเรื่องของความรู้ ทักษะและ คุณลักษณะที่บุคลากรจำเป็นต้องมี เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
อ่านแล้วมึนๆ สรุปง่ายๆตามประสาคือ องค์กรอยากให้บุคลากร เก่ง ดี มีความสุข แต่อาจมีข้อจำกัดหรือการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จึงให้บุคลากรไปเรียนรู้เพิ่มเติมไว้ เพื่อจะได้เป็นคนที่พร้อม! ดิฉันชอบภาษาอังกฤษคำว่า prompt ที่ออกเสียงใกล้เคียงกัน
ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็จะกำหนดหลักสูตรว่าควรมีเรื่องอะไร เรียนเมื่อไร วิธีการไหน เมื่อใด และทั้งแผนใช้เวลากี่ปี แล้วให้พวกเราเลือกเรียนด้วยตนเอง หรือหน่วยงานจัดให้ มีผู้เปรียบเทียบว่า Training Road Map เปรียบเสมือนแผนที่ในการเดินทางที่จะบอกว่า ก่อนที่จะออกเดินทางสายอาชีพของคนทำงานนั้น เขาต้องมีความรู้ความสามารถอะไรติดตัวไปบ้าง และเมื่อเดินทางผ่านไปในแต่ละช่วง เขาต้องเติมน้ำมัน ณ จุดไหน (หลักกิโลเมตรที่เท่าไหร่) และเมื่อไหร่ Training Road Map เป็น เพียงแผนที่การเดินทางที่กำหนดให้ทุกคนที่จะเดินไปในสายอาชีพนั้นๆ โดยมีการบังคับให้จอดเพียงบางจุดเท่านั้น เช่น จุดออกสตาร์ท ทุกคนต้องเติมน้ำมันเหมือนกัน แต่ในระหว่างเส้นทาง ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องเดินทางและจอดเติมน้ำมันเหมือนกัน บางคนต้องจอดเติมน้ำมันทุกจุด ในขณะที่บางคนอาจจะผ่านจุดเติมน้ำมันที่กำหนดไว้ก็ได้ ถ้ารถของเขามีน้ำมันเพียงพอต่อการเดินทางในระยะทางที่เหลือข้างหน้า อ่านเพิ่มได้ที่นี่  http://info.muslimthaipost.com/main/index.php?page=sub&category=40&id=21117
ฟังดูอาจจะเข้าใจยาก แต่ให้ย้อนนึกถึงตอนที่เราเรียนหนังสือที่ต้องมีวิชาต่างๆ ที่มีทั้งวิชาบังคับ วิชาเลือก จนจบ หลักสูตรที่หัวหน้าหอสมุดทั้งหลายได้รับมอบหมายคือหลักสูตรเป็น Functional Competency ซึ่งต่อไปคงต้องขอแรงจากท่านทั้งหลายมาช่วยกันดูในเร็ววันนี้ -จบเรื่อง Training Road Map 
Succession Plan การวางแผนสืบทอดตำแหน่ง ที่เราชอบพูดกันเล่นๆว่า ผู้สืบทอดมรดกยายสาย เป็นการมองอนาคตที่รุ่นพี่ๆ ชอบพูดในเชิงบ่นกลายๆ ว่า พวกเธอต้องอย่างนั้น อย่างโน้น อยากนี้ … เรื่องนี้ข้อควรระวังคืออย่าคิดว่าไม่จริงและใช้ชีวิตสวยๆในทุ่งลาเวนเดอร์ เพราะเวลาผ่านไปไว ความเปลี่ยนแปลงมาเร็วกว่าที่เราคิด จง prompt  😯
มีคำสองคำที่ต้องตระหนักในเรื่องนี้คือ High Performance คือผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานสูง และ High Potential คือเป็นผู้มีศักยภาพสูง ซึ่งแปลว่า บุคคลผู้นั้นสามารถทำอะไรดีมากขึ้นๆ ถ้าได้รับการพัฒนาตาม Training Road Map และ IDP ซึ่งจะดูผลการประเมินย้อนหลังกลับไป 3-5 ปีการประเมิน หากคนที่จะเป็นผู้นำก็ต้องประเมินภาวะผู้นำแบบ 360 องศา
เรื่องนี้ดิฉันเป็นผู้ดูแล ซึ่งดิฉันเลือกวิธีที่พวกเราคงเห็นๆ กันคือ แบ่งคนในห้องสมุดออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มคือ ผู้ที่จะเกษียณภายในปี 2572 ส่วนกลุ่มที่สองคือน้องๆ คนที่เหลือจำนวน 10 คน  ดิฉันตั้งชื่อว่า Young Gen. น้องๆ จะต้องหันมองกันเองและประเมินกันเอง ด้วยการตัด Young Gen. ที่มีอายุมากที่สุดในกลุ่มออกไป ซึ่งบังเอิญเป็นหัวหน้าฝ่ายในขณะนี้ เนื่องจากเกษียณอายุในปี 2573 ซึ่งห่างกับคนสุดท้ายของกลุ่มแรกแค่ 2 ปี
Young Gen. ที่เหลือทุกคนมี High Performance และ High Potential ที่ใกล้เคียงกัน ข้อดีคือทุกคนพัฒนาไปพร้อมๆ กัน คนที่อยู่ในภารกิจหลักของห้องสมุดคือบรรณารักษ์จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพราะอนาคตของห้องสมุดฝากไว้กับน้องๆ กลุ่มนี้ โดยมีเพื่อนๆในกลุ่มเป็นฝ่ายสนับสนุนตามภารกิจของโครงสร้างหน่วยงานที่อนาคตอันใกล้จะต้องปรับเปลี่ยน และคาดว่าจะเปลี่ยนและพลิกโฉมต่อไป
องค์ความรู้จากรุ่นพี่ๆ ทั้งจากการเขียน การสนทนา การเคี่ยวเข็ญ ผลักดัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จดบันทึก สอนงาน อ่านเรื่องราวบล๊อกของพวกเรา เปลี่ยนงาน หมุนเวียนงาน ทุกวิธีการล้วนเป็นเรื่องที่รุ่นพี่ต้องถ่ายทอดอย่างตั้งใจ จริงจัง อดทน ไม่ละเลย ติดตาม สอบถาม เข้มงวด ให้กับรุ่นน้อง ส่วนรุ่นน้องต้องหมั่นเพียรเรียนรู้ที่จะรับและเมือรับแล้วต้องเก็บไว้ที่ตัวเอง และก้าวมายืนเป็นหลักให้พี่ๆได้ซบไหล่พักกายก่อนเกษียณ -จบเรื่อง Succession Plan – 
Career Path คือ เส้นทางความก้าวหน้าในสายงานของเรา เช่น ในสมัยก่อนบรรณารักษ์ ปริญญาตรีเริ่มต้นที่ ซี 3 ไปตันที่ ซี 6 หากทำผลงานทางวิชาการก็จะไปขั้นๆ ไปเช่น ซี 7-ซี 8 / ซี 9 และ ซี 10 ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นปฏิบัติการ/งาน ชำนาญการหรือชำนาญงานชำนาญการพิเศษหรือชำนาญงานพิเศษ เชี่ยวชาญ และไปจบที่เชี่ยวชาญพิเศษ / ปัจจุบันมีข้อปฏิบัติใหม่คือจะต้องมีการกำหนดค่างานเพื่อดูความเหมาะสมว่าแต่ละตำแหน่งควรมีจำนวนเท่าใด สำหรับสำนักหอสมุดกลางต้อง รอ น้องที่เป็นปฏิบัติการ/งาน ต้องพร้อมได้แล้วสำหรับการก้าวไปอีกขั้น เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องเฉพาะรับผิดชอบตัวเอง พี่ๆ ได้แค่บอกกล่าว ผลักดัน และรอให้มาปรึกษาหารือ -จบเรื่อง Career Path – 
สิ่งที่สรุปมาเป็นในส่วนที่ดิฉันสนใจ ซึ่งต่อไปจะจัดกิจกรรมให้คณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่มีจำนวน 3 คน มาเล่าให้พวกเราฟังกันอีดครั้งหนึ่ง เพราะอาจจะได้มุมที่ต่างออกไป และหากมีอะไรสงสัยทั้ง 3 คน จะได้เป็นตัวแทนในการไปถามต่อให้กับพวกเรา

One thought on “การพัฒนาบุคลากร

  • รับทราบและพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของหัวหน้า และการสอนงานจากรุ่นพี่ คะ และจะพยายามทำตามที่หัวหน้าหรือพี่ ๆ คอยช่วยผลักดันให้ไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ส่วนเรื่อง IDP ทำเสร็จแล้วนะค่ะ ข้อแรกที่ต้องส่งตุลานี้ ให้หัวหน้าฝ่ายตรวจเรียบร้อยแล้ว ส่วนข้อที่ 2 ที่เสนอหัวหน้าไป ตอนนี้เริ่มทำแล้วบ้างบางส่วน ได้พูดคุย และปรึกษาหัวหน้าฝ่าย เป็นระยะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร