มรดกภูมิปัญญาทางงานช่างฝีมือดั้งเดิมของไทย

ประเทศไทยเรามีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานประเทศหนึ่ง มีมรดกทางภูมิปัญญาที่มีคุณค่ามีเอกลักษณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นสืบเนื่องกันมา มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาทั้งหลายจึงควรรักษา อนุรักษ์ สืบทอด และถ่ายองค์ความรู้อันทรงคุณค่าเหล่านั้นสู่ลูกหลานไทยต่อไปมิให้สูญสลายไปกับกระแสอันเชี่ยวกรากของโลกยุคเทคโนโลยีออนไลน์ที่เข้าครอบครองโลกทั้งโลกในขณะนี้
คนไทยเรามีฝีมือและภูมิรู้ในเชิงช่างมาแต่โบราณกาล ถือเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษของเราได้สั่งสมและสร้างสรรค์สืบทอดเอาไว้เป็นมรดกอันล้ำค่าให้ลูกหลาน ด้วยความรู้และทักษะนี้จึงนับเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ต้องปกป้องคุ้มครองไว้ให้คงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะ งานช่างฝีมือดั้งเดิม ซึ่งเป็นศิลปกรรมอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยภูมิปัญญา ทักษะฝีมือเชิงช่างล้วนๆมิได้ใช้เครื่องจักรในการทำผลิตผลงาน การเลือกใช้วัสดุ และกลวิธีการสร้างสรรค์งานที่เป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของชาติพันธุ์หรือกลุ่มชนในแต่ละท้องถิ่นแต่ละภูมิภาค ซึ่งงานช่างฝีมือบางอย่างนับวันจะเลือนหายไปกับกาลเวลาหากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมจึงดำเนินการขึ้นทะเบียนมรดกทางภูมิปัญญาของชาติไว้เพื่อให้ดำรงอยู่สำหรับอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและสืบสานเอาไว้ สำหรับงานช่างฝีมือดั้งเดิมนี้ได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ถึงปีพ.ศ. 2558 โดยแบ่งประเภทของงานช่างฝีมือดั้งเดิมเป็น 10 ประเภท ดังนี้
1. ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า ที่เกิดจากการทอ ย้อม ถัก ปัก จก ขิด มัดหมี่     2. เครื่องจักสาน    3. เครื่องรัก    4. เครื่องปั้นดินเผา     5. เครื่องโลหะ    6. เครื่องไม้    7. เครื่องหนัง    8. เครื่องประดับ    9. งานศิลปกรรมพื้นบ้าน    10. ผลิตภัณฑ์อย่างอื่น ที่ไม่สามารถจัดอยู่ใน 9 ประเภทดังกล่าว   งานช่างฝีมือดั้งเดิมทั้งหมดทุกประเภทนี้มีกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยเราที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาของชาติ แต่ดิฉันจะขอนำเสนอข้อมูลเฉพาะในแถบท้องถิ่นภูมิภาคตะวันตกแปดจังหวัดของเราโดยย่อนะคะ เริ่มจาก
ผ้าขาวม้า ถือเป็นผ้าสารพัดประโชน์ที่มีการทอใช้มาแต่โบราณมีใช้ในทุกครัวเรือน เป็นผ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณสองศอก ยาวประมาณสามถึงสี่ศอกทอเป็นลายตารางสลับสีกันทั้งผืน หรือบางครั้งเรียก ลายตาหมากรุก ในแถบภาคตะวันตกมีแหล่งผลิตผ้าขาวม้าที่มีชื่อเสียงเช่น ชุมชนไทยวนแถบคูบัวและบ้านไร่จังหวัดราชบุรี  ผ้าขาวม้าร้อยสีบ้านหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี ผ้าขาวม้าห้าสีของกลุ่มไทครั่งในหลายพื้นที่ของจังหวัดสุพรรณบุรี ผ้าขาวม้าได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเมื่อปีพ.ศ. 2556
ผ้าทอกะเหรี่ยง ซึ่งยังมีกลุ่มทอผ้าแถบอำเภอบ้านคาและบางตำบลในอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และกลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงตำบลยางน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี  ผ้าทอไทครั่ง  แหล่งทอผ้าที่สำคัญอยู่ที่บ้านหนองกระทุ่ม อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี  ผ้าทอไทยวน ที่จังหวัดราชบุรี ยังมีชุมชนไทยวนที่ยังทอผ้าอยู่บ้าง ผ้าทอทั้งสามชนิดนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ เมื่อปีพ.ศ. 2555
เครื่องปั้นดินเผา  ที่ขึ้นชื่อในแถบภูมิภาคตะวันตกก็ต้องนี่เลย โอ่งมังกรราชบุรี เป็นผลิตภัณฑ์หัตถอุตสาหกรรมที่โดดเด่นและสร้างชื่อเสียงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดราชบุรี  โอ่งมังกรเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทและอิทธิพลของวัฒนธรรมของชาวจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในยุคก่อน พร้อมทั้งได้นำเอาฝีมือและภูมิปัญญาในงานเครื่องปั้นดินเผามาถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คนไทยในท้องถิ่นนี้พร้อมทั้งสร้างเอกลักษณ์เฉพาะไว้ให้ด้วย โอ่งมังกรราชบุรี ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ เมื่อปีพ.ศ. 2558
ประเภทงานโลหะ คือ กระดิ่งทองเหลือง  มีลักษณะคล้ายระฆังขนาดเล็กๆ มักใช้แขวนตามโบสถ์ วิหารหรือศาลาต่างๆในวัด หรือตกแต่งอาคารบ้านเรือน แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ตำบลดอนตะโก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี  ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯเมื่อปี พ.ศ. 2552
งานแกะสลักกะโหลกซอ เป็นงานช่างฝีมือเพื่อสร้างเครื่องดนตรีคือ ซออู้ ซึ่งต้องใช้กะลามะพร้าวรูปทรงพิเศษเป็นวัตถุดิบ แล้วต้องใช้สายพันธุ์มะพร้าวเฉพาะเท่านั้นที่เหมาะจะมาทำกะโหลกซอ ซึ่งมะพร้าวสายพันธุ์นี้มีแหล่งปลูกที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งก็มีน้อยมากและนับวันจะสูญพันธุ์และกลายพันธุ์ไป ส่วนช่างผู้มีฝีมือที่จะแกะสลักลวดลายอันวิจิตรงดงามบนกะโหลกซอนั้นมีที่สมุทรสงคราม และที่กาญจนบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มช่างแกะเฉพาะในพื้นที่ งานแกะสลักกะโหลกซอ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ เมื่อปีพ.ศ. 2557
งานช่างแทงหยวก  เป็นศิลปะงานช่างวิจิตรศิลป์แขนงหนึ่ง โดยใช้กาบกล้วยนำมาสลักลวดลายด้วยมีดสองคม ซึ่งต้องใช้ทักษะและฝีมือที่ต้องฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ ในแถบภูมิภาคตะวันตกนั้นช่างแทงหยวกที่มีฝีมือและมีชื่อเสียงมากคือสกุลช่างเมืองเพชรบุรี งานแทงหยวกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯเมื่อปี พ.ศ. 2554
ประเภทเครื่องหนัง คือ การแกะรูปหนังใหญ่ ในภาคตะวันตกนี้มีเพียงที่ชุมชนวัดขนอน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่ยังคงสืบทอดทั้งวิธีการแกะหนังและการแสดงการเชิดหนังใหญ่ไว้ การแกะรูปหนังใหญ่ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯเมื่อปี พ.ศ. 2557
ประเภทเครื่องประดับ  คือ เครื่องทองโบราณสกุลช่างเพรบุรี เป็นงานทางด้านหัตถศิลป์ ที่ต้องอาศัยความละเอียด ประณีตงดงาม และตระกูลที่เป็นช่างทองโบราณของเพชรบุรีมีไม่กี่ตระกูลเท่านั้น ที่ยังหลงเหลือทำอยู่ในปัจจุบันคือตระกูล ชูบดินทร์ (ของแม่เนื่อง) เครื่องทองโบราณสกุลช่างเพชรบุรี ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯเมื่อพ.ศ. 2552
นั่นคือข้อมูลที่นำมาเสนอบางส่วนเท่านั้น ยังมีงานช่างฝีมือดั้งเดิมอีกหลายชนิดหลายท้องถิ่นในประเทศไทยที่น่าสนใจพร้อมรายละเอียดที่น่าอ่านมาก ติดตามอ่านได้จากหนังสือ งานช่างฝีมือดั้งเดิม มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เลขหมู่หนังสือ TT113ท9ก43 ของหอสมุดเรานะคะ  นอกจากนี้หากท่านผู้ใดสนใจใคร่หาข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้ามาใช้บริการได้ที่ “ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก” อยู่ที่ชั้น 2 ของอาคาร ม.ล.ปิ่น มาลากุล หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและให้บริการสารสนเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องในด้านต่างๆ ของแปดจังหวัดในภูมิภาคตะวันตกของเรา  โดยเน้นสารสนเทศที่มีคุณค่าต่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย การอนุรักษ์ ส่งเสริมและฟื้นฟูประเพณี ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น โดยเฉพาะทางด้าน ภูมิปัญญาไทย  ที่ครอบคลุมเนื้อหาอันเป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาคทั้ง 16 ด้าน

One thought on “มรดกภูมิปัญญาทางงานช่างฝีมือดั้งเดิมของไทย

  • หากยังพอจะจัดหาได้ ขอเข้า ศต. สัก 1 เล่ม นะคะป้า…กราบบบ งามๆ ^^

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร