ข้อควรรู้เกี่ยวกับ "การลา"

ในการปฏิบัติงานนั้น สิ่งที่ควบคู่กับการมาทำงานคือ “การลา” ซึ่งหมายถึง ไม่ได้มาปฏิบัติงานนั่นเอง
ถ้าพูดถึงการลานั้น ส่วนใหญ่จะมีบุคคลที่มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการลาอยู่ 3 จำพวก คือ
1.  บุคคลที่ชอบลาในช่วงก่อนหรือหลังวันหยุดราชการประจำปี เพื่อให้มีวันที่ไม่ต้องมาปฏิบัติงานต่อเนื่องกันหลายวัน
2.  บุคคที่ชอบลาในช่วงก่อนหรือหลังวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ หรือที่เรียกกันเล่น ๆ ว่า “โรควันจันทร์”
3.  บุคคลที่ลาเฉพาะในวันที่จำเป็นต้องลาเท่านั้น ไม่เจาะจงว่าจะเป็นช่วงต่อเนื่องกับวันหยุดราชการอื่น ๆ
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 จะมีวันหยุดราชการหลายวันเป็นระยะ คือ วันที่ 6 เป็นวันจักรี วันที่ 9-10 เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ วันที่ 13-15 เป็นวันหยุดเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ และวันที่ 16-17 เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ ดังนั้น หากผู้ใดลาวันที่ 7-8 และ 11-12 ก็สามารถมีวันหยุดต่องเนื่องกันได้ถึง 12 วัน และในเดือนอื่น ๆ ที่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ หากลาเป็นบางวันก็จะได้หยุดต่อเนื่องกันหลายวันเช่นกัน ดังนั้น จึงมีผู้ยื่นใบลาในช่วงดังกล่าวมาถึงผู้มีอำนาจอนุญาตหลายราย บางรายส่งใบลาล่วงหน้านานนับเดือนเพื่อจะได้รับอนุญาตให้ลาก่อนคนอื่น บางรายผู้มีอำนาจอนุญาตไม่อนุญาตให้ลาพักผ่อนก็ใช้วิธีลาป่วยก็มี
ในองค์กรราชการที่มีภารกิจในการให้บริการเช่นหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ในแต่ละจุดการให้บริการจำเป็นต้องมีบุคลากรทำหน้าที่ให้บริการให้เพียงพอแก่ผู้เข้ามารับบริการ ดังนั้น หากวันใดเหลือผู้ให้บริการน้อย ผู้ที่อยู่ทำหน้าที่ให้บริการแต่ละคนก็จะต้องทำหน้าที่ให้บริการในปริมาณที่มากขึ้นกว่าปกติเพื่อให้ทันกับผู้เข้ามารับบริการ
“การลา” ถือว่าเป็นสิทธิของผู้ประสงค์จะลาจริงหรือ และผู้มีอำนาจพิจาณาหรืออนุญาตการลา จำเป็นต้องอนุญาตให้ลาทุกครั้งหรือไม่ เรื่องดังกล่าวมักจะเข้าสู่สังคมการวิพากษ์วิจารณ์อยู่เนือง ๆ ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอนำ ข้อมูลบางส่วนใน “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555 และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนพิเศษ 22 ง วันที่ 24 มกราคม 2555 มาเผยแพร่ต่อ ดังนี้
ผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตการลา และการใช้อำนาจพิจารณาหรืออนุญาตการลาสำหรับข้าราชการแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามตารางที่กำหนดไว้ท้ายระเบียบนี้ (ตามตารางที่ 2 ในระเบียบนี้ ผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตการลาของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา จะเริ่มจากหัวหน้าฝ่ายหรือหัวหน้างาน ไปจนถึงรัฐมนตรีเจ้าสังกัด)
การลาของข้าราชการในช่วงก่อนและหลังวันหยุดราชการประจำสัปดาห์หรือวันหยุดราชการประจำปีเพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่องกัน ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตใช้ดุลพินิจตามความเหมาะสมและจำเป็นที่จะอนุญาตให้ลาได้ โดยมิให้เสียหายแก่การปฏิบัติราชการ
ข้าราชการซึ่งประสงค์จะไปต่างประเทศในระหว่างการลาตามระเบียบนี้ หรือในระหว่างวันหยุดราชการ ให้เสนอขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงหรือหัวหน้าส่วนราชการ
การลาป่วย
ข้าราชการซึ่งประสงค์จะลาป่วยเพื่อรักษาตัว ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อนหรือในวันที่ลา เว้นแต่กรณีจำเป็น จะเสนอหรือจะจัดส่งใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการก็ได้
การลาป่วยตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป ต้องมีใบรับรองแพทย์ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแนบไปกับใบลาด้วย ในกรณีจำเป็นหรือเห็นสมควรผู้มีอำนาจอนุญาตจะสั่งให้ใช้ใบรับรองแพทย์อื่นซึ่งผู้มีอำนาจอนุญาตเห็นชอบแทนก็ได้
การลาป่วยไม่ถึง 30 วัน ไม่ว่าจะเป็นการลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งติดต่อกัน ถ้าผู้มีอำนาจอนุญาตเห็นสมควร จะสั่งให้มีใบรับรองแพทย์ประกอบการลา หรือสั่งให้ผู้ลาไปรับการตรวจจากแพทย์ของทางราชการเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตก็ได้
การลาคลอดบุตร
จะลาในวันที่คลอด ก่อน หรือหลังวันที่คลอดบุตรก็ได้ แต่เมื่อรวมวันลาแล้วต้องไม่เกิน 90 วัน
การลาคลอดบุตรคาบเกี่ยวกับการลาประเภทใดซึ่งยังไม่ครบกำหนดวันลาของการลาประเภทนั้น ให้ถือว่าการลาประเภทนั้นสิ้นสุดลง และให้นับเป็นการลาคลอดบุตรตั้งแต่วันเริ่มลาคลอดบุตร
การลากิจส่วนตัว
ข้าราชการซึ่งประสงค์จะลากิจส่วนตัว ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะหยุดราชการได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถรอรับอนุญาตได้ทัน จะเสนอหรือจะจัดส่งใบลาพร้อมระบุเหตุจำเป็นไว้ แล้วหยุดราชการไปก่อน แต่จะต้องชี้แจงเหตุผลให้ผู้มีอำนาจอนุญาตทราบโดยเร็ว
ในกรณีมีเหตุพิเศษที่ไม่อาจเสนอหรือจัดส่งใบลาก่อนได้ ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาพร้อมทั้งเหตุผลความจำเป็นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตทันทีในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการ
การลาพักผ่อน
ข้าราชการซึ่งประสงค์จะลาพักผ่อน ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะหยุดราชการได้
การอนุญาตให้ลาพักผ่อน ผู้มีอำนาจอนุญาตจะอนุญาตให้ลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ได้ โดยมิให้เสียหายแก่ราชการ
จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่าผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตให้ลา สามารถพิจารณาโดยไม่อนุญาตให้ลาได้ และหากหยุดงานหรือไม่มาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ลา ก็จะถือว่าขาดราชการ
ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่าการลานั้นไม่ใช่สิทธิที่ผู้ประสงค์จะลาแล้วจะต้องได้ลาทุกคน จะต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตการลานำมาประกอบการพิจารณาและใช้ดุลพินิจตามความเหมาะสมและจำเป็นที่จะต้องอนุญาตให้ลาได้โดยมิให้เสียหายแก่ราชการ เช่น ในวันนั้น ๆ มีผู้ประสงค์จะลาพร้อมกันหลายรายจนถึงขั้นอาจไม่มีผู้อยู่ปฏิบัติราชการ ผู้มีอำนาจอนุญาตอาจพิจารณาให้ผู้มีความจำเป็นมากในระดับต้น ๆ ลาได้ ส่วนผู้มีความจำเป็นในระดับท้าย ๆ หรือสามารถเลื่อนวันลาได้ไม่อนุญาตให้ลา หรือในช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญทางศาสนาที่มีผู้ประสงค์จะลาพร้อมกันหลายราย อาจจัดเป็นลำดับไว้ว่าผู้ใดเคยลาในช่วงดังกล่าวแล้วก็ไม่อนุญาตให้ลาอีก ให้ผู้อื่นได้ลาในช่วงดังกล่าวได้บ้าง
อีกวิธีหนึ่งคือ การจัดบุคลากรออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามภารกิจ และให้ผลัดกันลา โดยตกลงกันเองในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้มีผู้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ครบในทุกภารกิจ เป็นต้น
ในการทำงานร่วมกันจำเป็นต้องรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เว้นแม้แต่ “การลา” จงระลึกไว้เสมอว่าเพื่อนร่วมงานของเรา เขาก็มีภารกิจส่วนตัว ต้องการไปพักผ่อนกับครอบครัวหรือเพื่อน ๆ หรือมีญาติพี่น้องที่ต้องไปพบปะสังสรรค์ในช่วงเทศกาลเหมือนกัน หากเขาอยู่ในจังหวัดที่ไกลจากที่ทำงาน ก็จะต้องใช้เวลาเดินทางล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่คับคั่งในช่วงวันหยุดเทศกาล ดังนั้น เราควรจะถ้อยทีถ้อยอาศัย ผลัดกันลา ผลัดกันอยู่ทำงาน เพื่อจะได้ไม่เสียหายแก่การปฏิบัติราชการ  🙄   🙂  🙄

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร