หนังสือเล่มโปรด
ปีที่แล้วมีคนมาบอกว่าให้เขียนถึงหนังสือเล่มที่ชอบเพื่อไปลงในเว็บแห่งหนึ่ง จึงคิดว่าน่าจะได้มาถ่ายทอดให้พวกเราได้อ่านกัน เนื้อหาสั้นๆ เขียนไปตามความรู้สึกของตนเอง
เขียนจนลืม สองวันที่ผ่านมามีเหตุต้องค้นไฟล์เก่าเก็บจึงได้พบ
……………………………………………………
….เมื่อมีคนถามฉันว่าหนังสือเล่มโปรดคือเล่มไหน
ชื่อแรกๆ ที่ผุดพรายขึ้นมามักเป็นนิยาย หรือ เรื่องแปล ที่หลายคน “โปรด” เช่นกัน
และดิฉันมักจะกลับไปอ่าน ไม่ใช่สิ… แค่พลิกๆ
เวลาคงจะเป็นตัวแปรของรสนิยมในการอ่าน ไม่อินกับความรัก ไม่รู้สึกกับความชัง…
….เมื่อมีคนถามฉันว่าหนังสือเล่มโปรดคือเล่มไหน
ทุกครั้งของคำตอบ มักมีชื่อหนังสือที่อยู่ปริ่มๆ ริมใจ แบบให้คำจำกัดความไม่ได้ บรรยายไม่ถูก
ดิฉันอ่านหนังสือเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อทำงานห้องสมุด ของมหาวิทยาลัยขนาดเล็กแห่งหนึ่ง มีแรงจูงใจจากการอ่านบรรณานุกรม ซึ่งเป็นส่วนที่ครูบอกว่าคือทางลัดของการเลือกอ่าน
และพบว่ามีการอ้างอิงแบบบ่อยครั้ง จนอยากรู้ว่า “ดี” อย่างไร จึงต้องตามไปหยิบอ่าน
เวลา “อ่าน” ให้ความรู้สึกว่าปู่ย่ามาเล่าเรื่องราว มีลูกหลานนั่งล้อมวง จ้องตาแป๋ว และอ้าปากหวอ…
เรื่องราวใกล้ตัว เกร็ดความรู้ ภาษาอ่านง่าย …เหมือนผู้ใหญ่ใจดีที่พยายามอธิบายความให้เด็กอีกรุ่นหนึ่ง
ทุกตัวอักษรของหนังสือเล่มนี้ “คม” จึงทำให้เราต้องอ่านและคิดตามแบบ slow life
เนื้อหา เป็นเหมือนขุมทรัพย์ทางสติปัญญา ที่ให้ผู้คนยุคนี้มองบรรพบุรุษอย่างเข้าใจและให้ความเคารพ
ดิฉันชอบคำนำที่บอกว่า “…ธรรมดาน้ำ ซึ่งจะเป็นกระแสได้ก็ต้องมีน้ำใหม่เข้ามาแทนน้ำเก่าเสมอ เป็นอย่างเก่าไปใหม่มา แต่ว่าต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอน ถ้าใหม่ไม่ต่อเนื่องกับเก่า หรือกลับกัน ถ้าเก่าไม่ต่อเนื่องกับใหม่ และไม่ไหลเรื่อย ก็จะเกิดเป็นกระแสน้ำไม่ได้…”
….เมื่อมีคนถามฉันว่าหนังสือเล่มโปรดคือเล่มไหน
คำตอบคือหนังสือเรื่อง “ประเพณีเก่าของไทย” แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ ว่าด้วยการเกิด การปลูกสร้างบ้านเรือน และว่าด้วยการตาย ของ เสฐียรโกเศศ หรือ พระยาอนุมานราชธน
ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2500 หากหยิบครั้งใดยากที่จะวางลง เพราะความเพลิดเพลิน ลีลาเล่าเรื่อง และความกระหายใคร่รู้ในเรื่องต่อไปและต่อไป
ลองอ่านกันดูค่ะ
……………………………..
การอ่านครั้งที่ทำให้นึกถึงการจัดกิจกรรม Staff Update ครั้งที่ผ่านมาช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่มีกิจกรรมเล่าประสบการณ์ของการไปศึกษาดูงานในหลายๆห้องสมุด มาคุยเรื่องการจัดทำรายงานเพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ในหน่วยงาน และยังนึกถึงโจทย์ที่ในวันนั้นได้ตั้งคำถามว่า “จะประชาสัมพันธ์อย่างไรกับหนังสือเก่า” ข้อคิดเห็นนั้นมีหลากหลายมุม
ส่วนดิฉันก็มีมุมของตัวเองที่คิดอยากจะลงมือทำงานกับหนังสือเก่าเหมือนกับตอนที่ประชาสัมพันธ์นวนิยายเพราะสนุกดี