การใช้หลักการตลาดเพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ความหมายของส่วนประสมทางการตลาด
ส่วนประสมทางการตลาด (Marketing Mixed)เป็นหลักการตลาดที่คำนึงถึงองค์ประกอบทางการตลาด 4 ปัจจัย ที่แฝงอยู่ในทุกการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการส่วนประสมทางการาตลาดนี้ ในภาษาอังกฤษขึ้นต้นด้วยตัวอักษร P ทุกตัว ทำให้คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า “4P’s” ประกอบด้วย
1) ผลิตภัณฑ์ (Product) หมายถึง สินค้าและ/หรือบริการที่มอบให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
2) ราคา (Price) หมายถึง การกำหนดราคาที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายต้องจ่าย เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์
3) ช่องทางการจำหน่าย (Place) หมายถึง กิจกรรมทางธุรกิจที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ไปถึงมือลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
4) การส่งเสริมการตลาด (Promotion) หมายถึง กิจกรรมทางธุรกิจเพื่อสื่อสารถึงข้อดีของผลิตภัณฑ์ และชักชวนให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์นั้น
ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ในที่นี้ สามารถหมายถึง ประชาชน หรือผู้มาติดต่อ หรือผู้มารับบริการ ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกันหรือจากหน่วยงานอื่นที่ต้องติดต่องานด้วยก็ได้ ส่วนประสมทางการตลาด หรือ 4P’s นี้ นับได้ว่าเป็นหัวใจในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ผู้ทำการตลาดสามารถควบคุมได้กล่าวคือ ผู้ทำการตลาด หรือผู้ให้บริการเป็นผู้กำหนดคุณภาพของสินค้า เป็นผู้กำหนดราคาว่าถูกหรือแพง เป็นผู้กำหนดความสะดวกสบายของช่องทางจัดจำหน่าย และเป็นผู้กำหนดวิธีการเผยแพร่และความกว้างขวางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและข้อดีของผลิตภัณฑ์
ต่อมา ได้มีการวิจารณ์กันอย่างแพร่หลายว่ากรอบความคิดเกี่ยวกับ 4P’s นั้นมองข้าม หรือให้ความสำคัญต่อผู้รับบริการน้อยเกินไป เนื่องจากมุ่งเน้นมุมมองจากภายในองค์กรออกสู่ภายนอก (inside out) เป็นสำคัญ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่โดยมุ่งเน้นจากภายนอกองค์กรสู่ภายใน (outside in) ที่ให้ความสำคัญต่อผู้รับบริการเป็นอันดับแรกและมีการปรับเปลี่ยนคำเรียกจาก 4P’s เป็น 4C’s เนื่องจากทุกส่วนประสมขึ้นต้นด้วยอักษร C
หลัก 4C’s นี้ช่วยให้แนวความคิดของส่วนประสมทางการตลาดมีความชัดเจนมากขึ้น และสามารถประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานด้านต่างๆ ได้ดีขึ้น 4C’s ประกอบด้วย
1) การแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้รับบริการกลุ่มเป้าหมาย (Customer Solution) เป็นการพิจารณาถึงความต้องการของผู้รับบริการกลุ่มเป้าหมายว่ามีปัญหาความคับข้องใจใดที่ต้องการให้ผู้ให้บริการเข้าไปแก้ไขหรือดูแลและคิดค้นผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อเป็นคำตอบของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น
2) ต้นทุนของผู้รับบริการกลุ่มเป้าหมายในการแก้ไขปัญหา (Cost to Customer) เป็นการพิจารณาถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นของผู้รับบริการ กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้รับบริการ
กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งต้นทุนนั้นอาจรวมถึงต้นทุนที่เป็นตัวเงิน อาทิ ราคาซื้อขาย ค่าบำรุงรักษา ดอกเบี้ยกรณีชำระเงินผ่อน และต้นทุนที่ไม่ใช่ตัวเงิน อาทิ เวลา ระยะการเดินทาง ความเครียด
3)ความสะดวกสบายในการแก้ไขปัญหา (Customer Convenience) เป็น การพิจารณาถึงความสามารถในการเข้าถึงวิธีการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้รับบริการกลุ่มเป้าหมาย ของผู้รับบริการกลุ่มเป้าหมายว่ามีความ
ยากลำบากหรือสะดวกสบายเพียงใด ซึ่งผู้ให้บริการจะต้องพิจารณาทั้งในส่วนของช่องทางในการจัดจำหน่าย รวมถึงการส่งกำลังบำรุง (Logistics) เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถกระจายผลิตภัณฑ์หรือบริการไปยังผู้รับบริการกลุ่มเป้าหมายได้ทันเวลาและต้นทุนต่ำ
4)การติดต่อสื่อสารกับผู้รับบริการกลุ่มเป้าหมาย (Customer Communication) เป็นการพิจารณาถึงการติดต่อสื่อสารแบบองค์รวม โดยคำนึงถึงตัวผู้รับสารหรือผู้รับบริการกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก
แนวคิด 4C’s เป็นหลักการตลาดสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี เมื่อข้าราชการมีความเข้าใจถึงพื้นฐานกระบวนการคิดของประชาชานก่อนการตัดสินใจและประยุกต์ใช้ส่วนประสมทางการตลาดให้สอดคล้องกับขั้นตอนของกระบวนการคิดในขณะนั้นทั้งนี้กระบวนการคิดประกอบด้วย การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม การศึกษาต้นทุนรวมที่เกิดขึ้นเมื่อต้องตัดสินใจ การสอบถามก่อนทำการตัดสินใจ และการตัดสินใจ เมื่อข้าราชการมีความเข้าใจกระบวนการคิดนี้ ก็จะสามารถนำส่วนประสมทางการตลาดมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมเพื่อให้ส่วนประสมทางการตลาดนั้นเกิดประสิทธิผลสูงสุด ข้าราชการจำเป็นที่จะต้องกำหนดความชัดเจนในสิ่งที่ต้องการให้ประชาชนหรือ ผู้รับบริการปฏิบัติ เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนหรือผู้รับบริการมีความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงแนวทางที่รัฐต้องการให้ประชาชนหรือผู้รับบริการปฏิบัติตาม และใช้ความพยายามทางการตลาดเพื่อผลักดันให้ประชาชนหรือผู้รับบริการเกิดความต้องการปฏิบัติตาม ตลอดจนประสมประสานส่วนประสมทางการตลาดอย่างมีประสิทธิผล อย่างไรก็ดีข้าราชการต้องพึงตระหนักเสมอว่า ความสำเร็จทางการตลาดของข้าราชการ คือ “เกิดประโยชน์สุขสูงสุดแก่ประชาชน”
ที่มา เรียนกพออนไลน์ วิชาการใช้หลักการตลาดเพื่อการทำงานอย่างมี ประสิทธิภาพ