ยกเครื่องความคิด REWORK
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากทฤษฎีทางวิชาการ แต่มาจากประสบการณ์ตรง อยู่ในแวดวงธุรกิจมามากกว่าสิบปี ระหว่างทางพบกับช่วงเศรษฐกิจตกต่ำสองครั้ง ช่วงฟองสบู่แตกหนึ่งครั้ง ช่วงปฏิวัติรูปแบบการดำเนินธุรกิจหลายต่อหลายครั้ง และการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจที่ฟังแล้วหดหู่นับครั้งไม่ถ้วน แต่ธุรกิจก็ยังทำกำไรได้เสมอตลอดช่วงเวลาเหล่านั้น
บริษัทเล็กๆ ที่ตั้งใจจะไม่ขยายให้ใหญ่โต สร้างโปรแกรมเพื่อช่วยให้บริษัทเล็กๆ และกลุ่มคนต่างๆบริหารจัดการงานหลายๆด้านได้ง่ายขึ้น คนมากกว่า 3 ล้านคนทั่วโลกใช้ผลิตภัณฑ์จากบริษัท
เริ่มเปิดบริษัทที่ปรึกษาเกี่ยวกับการออกแบบเว็บไซต์เมื่อปี 1999 โดยมีเพื่อนร่วมงานเพียงแค่สามคน เมื่อเข้าปี 2004 เราก็เกิดรู้สึกไม่พอใจกับโปรแกรมบริหารจัดการที่คนอื่นๆใช้กันอยู่ เราจึงตัดสินใจสร้างโปรแกรมของเราขึ้นมาเอง โปรแกรมนั้นมีชื่อว่าเบสแคมป์ และเมื่อเราแนะนำโปรแกรมที่สามารถใช้งานทางอินเทอร์เน็ตได้นี้ให้กับลูกค้าและเพื่อนๆของเรา ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เราอยากได้โปรแกรมนี้ไปใช้กับงานของเราบ้าง” อีกห้าปีต่อมาเบสแคมป์ก็กลายเป็นโปรแกรมที่ทำกำไรได้หลายล้านดอลลาร์ต่อปี
ปัจจุบันเราขายโปรแกรมออนไลน์ตัวอื่นๆด้วย ไฮไรซ์เป็นโปรแกรมบริหารจัดการรายชื่อผู้ติดต่อและช่วยในการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่งบริษัทขนาดเล็กหลายหมื่นแห่งใช้ในการบริหารข้อมูล บันทึกการซื้อขาย และจัดการายชื่อผู้ติดต่อมากว่าสิบล้านรายชื่อ สมาชิกกว่า 500,000 รายลงทะเบียนเพื่อใช้โปรแกรมแบบแบ็กแพ็ก ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับแบ่งปันข้อมูลทางอินทราเน็ต และผู้คนมากมายรับส่งข้อความมากกว่า 100 ล้านข้อความผ่านทางแคมป์ไฟร์ โปรแกรมสนทนาธุรกิจออนไลน์แบบเรียลไทม์ของเรา นอกจากนั้น เรายังเป็นผู้ริเริ่มสร้างระบบเฟรมเวิร์กสำหรับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชื่อ รูบีออนเรลส์ และเปิดให้ชุมชนช่วยพัฒนาโปรแกรมในลักษณะโอเพนซอร์ซ
บางคนมองว่าเราเป็นบริษัทเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต แต่ฟังแค่นั้นเราก็สะดุ้งแล้ว บริษัทอินเทอร์เน็ตขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทประเภทที่ว่าจ้างคนแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ ใชจ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย และมักจะล้มเหลวแบบไม่เป็นท่าอยู่เสมอ เราไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เราเป็นบริษัทเล็กๆ ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย และทำกำไรได้ดีด้วย
ผู้คนมากมายบอกว่าวิธีการทำงานของพวกเราไม่ได้ผลหรอกพวกเขาหาว่าเราทำสำเร็จได้ก็เพราะโชคช่วย พวกเขาเที่ยวบอกใครต่อใครว่าอย่าฟังคำแนะนำจากเรา บ้างก็ถึงกับพูดว่าเราไม่มีความรับผิดชอบ ไม่รอบคอบ และร้ายที่สุดก็คือ ไม่สมเป็นมืออาชีพ!!!
คนที่วิพากษ์วิจารณ์แบบนี้ไม่เข้าใจเลยว่าบริษัทที่ปฏิเสธการขยายตัว การประชุม การจัดทำงบประมาณ คณะกรรมการบริหาร การโฆษณา พนักงานขาย และ “โลกแห่งความจริง” จะทำกำไรได้อย่างไร แต่ถ้าพวกเขาไม่เชื่อมันก็เป็นปัญหาของพวกเขา ไม่ใช่ปัญหาของเรา พวกเขาบอกว่าเราจะต้องพยายามขายสินค้าให้บริษัทชั้นนำที่ติดอันดับฟอร์จูน 500 เราไม่สนหรอก เราขายให้บริษัทที่ติดอันดับฟอร์จูน 5,000,000 ไม่ดีกว่าหรือ
พวกเขาไม่คิดว่าคุณจะมีพนักงานที่แทบไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันเลยกระจายตัวอยู่ตามเมืองต่างๆถึงแปดเมืองในสองทวีป พวกเขาบอกว่าคุณไม่มีทางประสบความสำเร็จถ้าหากไม่จัดทำประมาณการทางการเงินและแผนธุรกิจล่วงหน้าห้าปีพวกเขาคิดผิดเสียแล้ว
พวกเขาบอกว่าคุณจำเป็นต้องจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์เพื่อให้บริษัทของคุณเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์และนิตยสารชื่อดังอย่าง ไทม์ บิซิเนสวีก อิงค์ ฟาสต์ คอมพานี เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ ไฟแนนเชียล ไทม์ ชิคาโก ทริบูน ดิ แอตแลนติก อองเทอเพรอเนอร์ และไวร์เอด พวกเขาคิดผิด พวกเขาบอกว่าถ้าคุณเปิดเผยข้อมูลและแบ่งปันเคล็ดลับของคุณ คุณจะสู้คู่แข่งรายอื่นไม่ได้ พวกเขาก็คิดผิดเช่นกัน
พวกเขาบอกว่าคุณไม่มีทางแข่งขันกับธุรกิจรายใหญ่ได้โดยไม่มีงบการตลาดและงบโฆษณาจำนวนมหาศาล พวกเขาบอกว่าคุณไม่มีทางประสบความสำเร็จจากสินค้าที่ทำอะไรได้น้อยกว่าสินค้าของคู่แข่ง พวกเขาบอกว่าคุณวางแผนและลงมือทำงานควบคู่กันไปไม่ได้ แต่เราทำสิ่งที่พวกเขาบอกว่าไม่ควรทำมาแล้วทุกอย่าง
พวกเขาพูดอะไรมากมายแต่เรารู้ดีว่าพวกเขาคิดผิด เราพิสูจน์มาแล้วว่าพวกเขาคิดผิดจริงๆ และเราเขียนหนังสือเล่มนี้ก็เพื่อบอกวิธีที่คุณจะพิสูจน์ได้ด้วยตัวคุณเอง
ก่อนอื่นเราจะเริ่มจากการชำแหละธุรกิจ เราจะสับมันเป็นชิ้นๆจนถึงรายละเอียดและอธบายว่าทำไมคุณจึงควรโยนความเชื่อเก่าๆเกี่ยวกับการทำธุรกิจทิ้งไปเสียให้หมด จากนั้นเราก็จะประกอบมันขึ้นมาใหม่ คุณจะได้เรียนรู้ว่าควรเริ่มต้นอย่างไร ทำไมคุณถึงต้องการอะไรต่อมิอะไรน้อยกว่าที่คุณคิด คุณควรจะเปิดตัวธุรกิจของคุณเมื่อไหร่ คุณจะกระจายข่าวสู่คนอื่นๆได้อย่างไร คุณควรจะจ้างคนแบบไหน รวมถึงวิธีที่คุณจะบริหารจัดการทุกอย่างให้ราบรื่นด้วย
————————————————————–
บรรณานุกรม
ไฟรด, เจสัน. (2555). ยกเครื่องความคิด. แปลโดย อาสยา ฐกัดกุล. กรุงเทพฯ : วีเลิร์น.
2 thoughts on “ยกเครื่องความคิด REWORK”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
อย่าลืมอ้างอิงนะว่าเอามาจากหนังสืออะไร ใครเป็นผู้เขียนนะ ให้เครดิตเจ้าของหนังสือหน่อยนะคะ
ครับผม