ยาย

หยิบนิยายเล่มนี้มาอ่าน ด้วยเพราะอ่านชื่อเรื่องแล้วทำให้นึกถึงยายของตัวเอง ยายของดิฉันปีนี้อายุ 95 แล้ว เวลาไปหาถามว่าคนนี้ใคร ก็จะหัวเราะ แล้วบอกว่าไม่รู้ แต่ชวนกินขนมที่มีอยู่ทุกครั้งไป  จึงอยากจะรู้ว่า “ยาย” ในนิยายเล่มนี้จะเป็นอย่างไร นุ่งผ้าไหม เสื้อลูกไม้ น่ารัก ร่ำรวย ลูกหลานต่างห้อมล้อมเอาใจ เหมือนในละครบางเรื่องหรือเปล่า หรือเป็นเหมือนยายของดิฉันที่นุ่งผ้าถุงที่เย็บยางยืดที่เอว (เพราะมัดเองไม่ได้แล้ว) และใส่เสื้อคอกระเช้าลายดอกเล็ก ๆ ที่แม่ดิฉันเป็นคนตัดเย็บให้ (แต่ไม่เคยถูกใจ ต้องเอาเข็มมาด้นตามจักแร้ ด้วยลายเส้นที่ไม่ต่อกันเลยสักเส้น…แต่ปีนี้ไม่ทำแล้ว)
pic005นิยายเล่มนี้เป็นการเล่าเรื่องของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ชื่อ ประสิทธิ์  ประสิทธิ์อยากเป็นนักเขียน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อมาถูกเมียหย่า และไล่ออกจากบ้าน ก็เฝ้าแต่ฟูมฟายป้ายความผิดให้เมีย และเฝ้าแต่คิด (เพียงแต่คิด ไม่ได้กระทำอะไร) อิจฉาความสุขของทุก ๆ คนที่ได้พบปะ ก่อนที่จะออกจากบ้าน ประสิทธิ์เห็นลูกชายสนิทกับยาย แต่พอหวนนึกถึงตัวเองก็รู้สึกว่าไม่สนิทกับยายเลย จึงตัดสินใจไปเยี่ยมยายที่บ้านนอก และคิดว่าจะไปอยู่กับพ่อระยะหนึ่ง (เพราะโดนเมียไล่ออกจากบ้าน)  ต่อจากนั้นจึงเป็นการเล่าถึงชีวิตในแต่ละวันของประสิทธิ์กับยาย พ่อ  น้าสาว หลาน และเพื่อนยาย เหมือนกับคนอ่านได้ไปอยู่ในวงสนทนา ร่วมรู้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วย
วิธีการเล่าเรื่อง นอกจากแสดงให้เห็นถึงสังคมบ้านนอกที่ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่ง ก็จะรู้กันทั่วทั้งหมู่บ้าน และยังทำให้เห็นว่า ลูกหลานรุ่นหลังมักจะทอดทิ้งให้คนแก่อยู่บ้านตามลำพัง ด้วยเหตุอ้างว่ามีภาระการงานที่ต้องทำ ทุกคนต่างเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน เห็นแต่ความดีของตนเอง ความผิดของตนเองเท่าผืนหนัง  ไม่ว่าเป็นประสิทธิ์เอง ที่ไม่คิดว่าความผิดของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญอะไร  แต่เมื่อมีใครทำอะไรไม่ถูกใจ หรือสะกิดแผลในใจที่ถูกเมียทิ้ง และรู้สึกว่าลูกไม่รัก ก็ประนามเมียได้ตลอด หรือเมื่อใดที่ประสิทธิ์รู้สึกว่า ตัวเองไม่หล่อ ไม่ประสบความสำเร็จ คิดถึงลูก ก็จะเปลี่ยนเรื่องเล่าเป็นบอกผู้อ่านว่า เมียไม่ดี  แต่ในขณะที่ระบายความทุกข์ในครอบครัวที่เมียทิ้งนั้น ประสิทธิ์ก็จะบอกเหมือนกันว่าเขาได้ทำอะไรลงไป เมียถึงโกรธ ครั้งสุดท้ายที่เมียขอหย่าก็เพราะลูกไม่สบาย แต่ประสิทธิ์เอารถไปรับเมียคนอื่นที่รู้จักกันที่ร้านเหล้าไปทำบุญที่วัด และไปหาหมอดู และคิดว่าจะเอารถกลับไปคืนเมียทันพาลูกไปหาหมอ แต่กลับไม่ทันเมียต้องพาลูกที่กำลังไม่สบายอย่างหนักไปโรงพยาบาลด้วยแท็กซี่  และนี่คือฟางเส้นสุดท้าย  ซึ่งแม้ว่า ประสิทธิ์จะก่นว่าเมียมากมายอย่างไร ผู้อ่านก็จะอ่านไป สมน้ำหน้าประสิทธิ์ไป  และก็อาจจะตีความได้ว่าจริง ๆ แล้วผู้เขียนอาจจะบอกเป็นนัยกับผู้ชายที่นอกใจภรรยา แล้วเมื่อถูกภรรยาขอหย่าว่า จงมองความผิดของตนเองเถิดว่าใครกันแน่ที่สร้างปัญหา
ประสิทธิ์เล่าเรื่องในแต่ละวันไปอย่างช้า ๆ สมกับบรรยากาศบ้านนอก อ่านดูแล้วเหมือนกับไม่รู้ว่าตอนไหนจะเป็น climax ของเรื่อง  ไม่มีเรื่องตื่นเต้น แต่จะรู้สึกสมน้ำหน้า หมั่นไส้ ประสิทธิ์ อยู่บ่อย ๆ ตอนจบก็จบลงอย่างไม่จบ ซึ่งดิฉันเห็นว่า ดีเหมือนกันเพราะทำให้รู้สึกว่า  ทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นยาย ยายอิ่ม ยายสร้อย สมจิต ป้าแป้น สุนี  ประสิทธิ์ ก็ยังจะมีชีวิตดำเนินต่อไปอย่างนี้อีกนานแสนนาน ไม่รู้จะจบลงตอนไหน
ขจรฤทธิ์ รักษา.   (2558).  ยาย.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: บ้านหนังสือ.  280 หน้า.
 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร