ข้าราชการไทยกับการล้มละลาย
ปัจจุบันมีข่าวเกี่ยวกับธนาคารฟ้องล้มละลายกับบุคคลต่าง ๆ หลายสาขาวิชาชีพอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งรวมถึงผู้ที่เป็นข้าราชการไทยด้วย มาทำความรู้จักกับการถูกฟ้องล้มละลายและผลของการล้มละลายกันดีกว่าว่าเป็นอย่างไร
ถูกฟ้องล้มละลายได้อย่างไร
กฎหมายล้มละลายที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเพื่อให้เจ้าหนี้ทุกรายมีหลักประกันว่าจะได้รับการชำระหนี้จากลูกหนี้โดยเท่าเทียมกัน และเป็นช่องทางที่จะทำให้เจ้าหนี้และลูกหนี้มีโอกาสที่จะพูดคุย ประนีประนอมกัน กฎหมายดังกล่าวครอบคลุมถึง เงื่อนไขและวิธีการขอให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย การพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ทั้งแบบเด็ดขาดและแบบชั่วคราว การประนอมหนี้ก่อนและหลังล้มละลาย การปลดจากล้มละลาย รวมทั้งการขอและการให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
พระราชบัญญัติดังกล่าวได้กล่าวถึงการล้มละลายว่า เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ถ้าลูกหนี้เป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้เป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม
การที่จะบอกว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้น สันนิษฐานได้จากการกระทำของลูกหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
1. โอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินให้แก่บุคคลอื่น
2. โอนหรือส่งมอบทรัพย์สินไปโดยการแสดงเจตนาลวงหรือฉ้อฉล
3. โอนทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดทรัพย์สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเหนือทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะต้องถือว่าเป็นการให้เปรียบ
4. ประวิงการชำระหนี้หรือไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ เช่น ออกไปนอกราชอาณาจักร ออกไปจากที่พักที่เคยอยู่ ซ่อนตัวหรือหลบอยู่ ปิดสถานประกอบการ ยักย้ายทรัพย์ให้พ้นอำนาจศาล หรือยอมให้ต้องคำพิพากษาซึ่งบังคับให้ชำระเงินซึ่งตนไม่ควรต้องชำระ
5. ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีหรือไม่มีทรัพย์สินที่สามารถยึดมาชำระหนี้ได้
6. ได้แถลงต่อศาลในคดีใด ๆ ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
7. แจ้งให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
8. เสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป
9. ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
เมื่อถูกฟ้องล้มละลายแล้วจะเป็นอย่างไร
เมื่อศาลพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้และได้ความจริงตามมาตรา 9 และ 10 ของพระราชบัญญัติล้มละลาย ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เมื่อลูกหนี้ได้รับทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารอันเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของตนซึ่งอยู่ในความครอบครองให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทั้งหมด และห้ามลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้
เมื่อถูกฟ้องล้มละลายแล้วทำอย่างไรจะไม่ให้เป็นบุคคลล้มละลาย
เมื่อถูกฟ้องล้มละลาย ลูกหนี้จะยังไม่มีฐานะเป็นบุคคลล้มละลาย ลูกหนี้อาจขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายได้ โดยทำความตกลงในเรื่องวิธีขอชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น โดยให้ทำคำขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย โดยต้องแสดงข้อความการเป็นหนี้ หรือวิธีการจัดการ หรือทรัพย์สินและรายละเอียดหลักประกัน หรือผู้ค้ำประกัน(ถ้ามี) เมื่อเจ้าหนี้ลงมติยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องยื่นขอต่อศาลให้สั่งว่าจะเห็นชอบกับการประนอมหนี้ด้วยหรือไม่
ถ้าศาลมีคำสั่งให้ประนอมหนี้ แล้วต่อมาลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ หรือปรากฏแก่ศาลโดยมีพยานหลักฐานว่า การประนอมหนี้นั้นไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมหรือจะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควร หรือการที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยนั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริต เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น
เมื่อเป็นบุคคลล้มละลายแล้วจะมีผลอย่างไร
เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่าเจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือไม่ลงมติประการใด หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุม หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบ ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทุกราย
เมื่อกลายเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว บุคคลนั้นยังสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ (ยกเว้นบางอาชีพ เช่น รับราชการ) โดยทรัพย์สินที่ได้จากการประกอบอาชีพหรืออื่น ๆ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะอายัดไว้ใช้หนี้ที่เหลืออยู่ และแบ่งให้เป็นค่าเลี้ยงชีพแก่บุคคลล้มละลายนั้นและครอบครัวตามสมควร และไม่สามารถออกนอกราชอาณาจักรได้ เว้นแต่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะอนุญาตเป็นหนังสือ หากมีการย้ายที่อยู่ก็ต้องแจ้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทราบด้วยเช่นกัน
การเป็นบุคคลล้มละลายจะประกอบอาชีพเป็นข้าราชการไม่ได้ เนื่องจาก มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไป และไม่มีลักษณะต้องห้ามไว้ ซึ่งการเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามในจำนวนนั้นด้วย
ดังนั้นหากเรายังต้องทำงานอยู่ในส่วนราชการ เราจะต้องมีความระมัดระวังในการกู้เงินมาใช้จ่ายและการค้ำประกันต่าง ๆ หากเราไม่สามารถจะผ่อนชำระได้ทันภายในเวลาที่กำหนดหรือไม่สามารถหาเงินมาใช้คืนกรณีที่เราค้ำประกันแล้วผู้กู้ไม่ยอมจ่ายโดยเจ้าหนี้ให้เราในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันชำระแทน แล้วเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย เมื่อเรามีฐานะเป็นบุคคลล้มละลายเราจะขาดคุณสมบัติในการรับราชการต่อไป
บรรณานุกรม
“พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551”. (2551, 25 มกราคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 125 ตอนที่ 22 ก. หน้า 1-50.
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2547). พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 (ฉบับ Update ล่าสุด). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%c501/%c501-20-9999-update.pdf/ (วันที่ค้นข้อมูล : 9 สิงหาคม 2558).